สังคม

รวบคารถ! รวบจีนเทาพร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม หลอกดูดเงินย่านสุขุมวิท แค่ 3 วันส่งได้ 1 ล้านข้อความ

โดย petchpawee_k

19 พ.ย. 2567

507 views

ตำรวจไซเบอร์ บุกรวบจีนเทาพร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม ตระเวนส่ง SMS แนบลิงก์ดูดเงินย่านสุขุมวิท 

วานนี้ (18 พ.ย.)  พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือตำรวจไซเบอร์ และตัวแทนจาก กสทช. บริษัท AIS กับบริษัท True รวมกันแถลงปฏิบัติการตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ Operation Sukkhumvit บุกรวบจีนเทาพร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) คารถ หลังตระเวนขับส่งข้อความแนบลิงก์ดูดเงินย่านสุขุมวิท

โดย พล.ต.ท.ธัชชัย เปิดเผยว่า จากการร้องเรียนของพี่น้องประชาชนที่พบว่า ในห้วงวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีลักษณะข้อความ SMS เข้ามาที่โทรศัพท์มือถือในลักษณะของผู้ให้บริการชักชวนให้กดลิงค์ โดยอ้างว่าเพื่อแลกคะแนนสะสม แต่เมื่อกดไปแล้วกลับพบว่าเป็นการกรอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบัตรเครดิต ก่อนจะถูกดูดเงินในต่างประเทศ

ทางตำรวจไซเบอร์จึงได้ลงพื้นที่ดำเนินการสืบสวนร่วมกับภาคเอกชนผู้ให้บริการ โดย พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ อธิบายต่อว่า ลักษณะข้อความดังกล่าวเป็นการกระจายส่งไปยังโทรศัพท์มือถือในระยะรัศมีบริเวณนั้น จึงเป็นความผิดปกติของการส่ง SMS ผ่านเครื่องส่ง SMS ปลอม หรือ False Base Station โดยคนร้ายนำรถติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ SMS ปลอม ขับไปยังพื้นที่ต่างๆ ก่อนส่งสัญญาณเข้าโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในรัศมีของเครื่องดังกล่าว สมอ้างว่าเป็นผู้ให้บริการพร้อมข้อความว่า “คะแนน 9,268 ของคุณใกล้หมดอายุแล้ว! รีบ แลกของขวัญเลย” โดยจุดที่ประชาชนร้องเรียนว่าพบข้อความลักษณะนี้มากที่สุด คือบริเวณศูนย์การค้าแห่งหนึ่งบริเวณแยกอโศก ถนนสุขุมวิท ที่มีประชาชนพลุกพล่าน

หลังจากนั้นวันที่ 13 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการตรวจสอบสัญญาณ พบว่าต้นตอของสัญญามาจากรถยนต์คันหนึ่ง สามารถยิงรัศมีได้ไกลถึง 3 กิโลเมตรและขับไล่มาตลอดแนวถนนสุขุมวิทจนมาถึงย่านสยาม เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการสะกดรอยตาม จนมาถึงบริเวณด้านหลังกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เข้าจับกุม พบคนขับเป็นชายสัญชาติจีน ทราบชื่อภายหลังคือ นายหยาง มู่ยี่ อายุ 35 ปี

จากตรวจสอบภายในรถพบเครื่องจำลองสถานีฐานกำลังทำงานอยู่และมีการเชื่อมต่อกับเครื่องจ่ายไฟเคลื่อนที่ Power Station กำลังไฟ 8,000 W จำนวน 1 ตู้  เราเตอร์ไวไฟ จำนวน 1 ตัว  และโทรศัพท์มือถืออีกจำนวน 4 เครื่อง จากการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการภาคเอกชน พบว่าเป็นเครื่องส่งข้อความ SMS ซึ่งเป็นในลักษณะของการจำลองเสา (False base station) เพื่อส่งสัญญาณปลอมของเครือข่ายมือถือ สามารถส่งข้อความได้มากถึง 1 แสนครั้งต่อชั่วโมง กระจายสัญญาณได้มากถึงระยะรัศมี 3 กิโลเมตร

โดยคนร้ายเริ่มลงมือตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งจากการตรวจสอบถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พบการส่งข้อความมากถึง 1 ล้านข้อความ ภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน โดยมีเป้าหมายหลักคือย่านธุรกิจหรือศูนย์การค้าที่มีประชาชนพลุกพล่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนร้ายไม่มีการเลือกว่าเจาะจงเป็นผู้ให้บริการค่ายใดค่ายหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ว่าประชาชนวัยไหนก็ตามที่มีโทรศัพท์และอยู่ในรัศมีเครื่องดังกล่าวก็จะถูกส่งกระจายข้อความดังกล่าวหมดทุกคน

ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคมที่มีลักษณะการดัดแปลงการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ต่างๆ และจากการตรวจสอบ ก็ไม่พบการได้รับอนุญาตจาก กสทช. แต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม ก่อนจะควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.1 ดำเนินคดีตามกฎหมาย

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนพบมีผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวจีนอีก 2 รายซึ่งอยู่ในต่างประเทศ อยู่ในระหว่างการรวบรวมพลังฐานเพื่อขออำนาจศาลในการออกหมายจับและประสานตำรวจสากลในการจับกุม รวมทั้งจากการขยายผลยังพบว่า ลักษณะข้อความมีการส่งต้นฉบับมาทาง Telegram อีกทีหนึ่ง ซึ่งจะต้องตรวจสอบต่อไปว่า ต้นทางที่ส่งข้อความดังกล่าวมานั้นเป็นใครหรือเป็นคนไทยที่ร่วมขบวนการหรือไม่

ทางด้าน พล.ต.ท.ธัชชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวคือรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่หลอกลวงจากความไม่รู้ของประชาชนผ่านผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ จึงอยากแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ถึงพี่น้องประชาชนว่า หากพบลักษณะข้อความดังกล่าว อย่าเพิ่งหลงเชื่อและกดลิงค์ ให้ติดต่อไปยังผู้ให้บริการโดยตรงเพื่อตรวจสอบ โดยเคสนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมผู้เสียหาย ซึ่งหากประชาชนคนใดที่ได้รับข้อความดังกล่าวหรือเผลอกดลิงค์แล้วกรอกข้อมูลหรือถูกดูดเงินจากบัตรเครดิต สามารถเข้าแจ้งความและมาเป็นพยานให้กับทางตำรวจได้ทันที ทั้งที่ตำรวจไซเบอร์หรือทางเว็บไซต์ thaipoliceonline.go.th

ขณะเดียวกัน ทางผู้ให้บริการค่ายมือถือภาคเอกชนก็ได้ให้ความร่วมมือกับทางตำรวจในการส่งข้อมูลรวมทั้งตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์และตรวจสอบสัญญาณของแก๊งมิจฉาชีพ รวมทั้งปิดกั้นการให้บริการของบรรดาเบอร์โทรศัพท์มือถือที่เป็นของแก๊งมิจฉาชีพ โดยได้ฝากแจ้งเตือนประชาชนว่า หากพบเบอร์โทรศัพท์หรือลักษณะข้อความที่เข้าข่ายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการได้ทันที โดยในส่วนของ AIS นั้น มีบริการแจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร สามารถกดโทรไปยัง *1185# ได้ทันทีภายใน 5 นาทีหลังวางสายจากเบอร์แก๊งคอลเซ็นเตอร์  ในส่วนของทรูมูฟนั้น สามารถร้องเรียนมาได้ที่เบอร์ 1242 กับในส่วนของ Dtac ที่เบอร์ 1678

นอกจากนี้ ทาง กสทช. ได้ฝากแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า จากลักษณะการทำงานของเครื่องดังกล่าวที่มีลักษณะของการแทรกคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือการแจมสัญญาณ โดยเครื่องดังกล่าวจะปล่อยสัญญาณขนาด 2 G เมื่อแจมสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั่วไป จะพบว่า จากเดิมที่มุมบนโทรศัพท์จะขึ้นเป็นสัญญาณ 4G หรือ 5G ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นตัว E ในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่สัญญาณดังกล่าวจะหายไปและกลับมาเป็นเหมือนเดิม เพื่อไม่ให้เป็นพิรุธจนเกินไป ซึ่งจังหวะดังกล่าวคือการที่คนร้ายได้แจมสัญญาณมือถือสำเร็จแล้ว จึงแจ้งเตือนว่าขอให้สังเกตโทรศัพท์ตัวเองให้ดีในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน หากพบเป็นตัว E ให้ตั้งความสังเกตเอาไว้ว่ากำลังถูกแจมสัญญาณ ถ้าหากได้รับข้อความผิดปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ห้ามกดลิงค์เด็ดขาด

ภายหลังการแถลงข่าว ได้มีการพาสื่อมวลชนมารับชมของกลางซึ่งเป็นเครื่องส่งสัญญาณที่สามารถตรวจยึดอายัดได้ โดย พ.ต.ท.ยศวรรธก์ วงษ์จันทร์ สารวัตรกลุ่มงานรักษาความมั่นคงและปลอดภัย กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. หรือตำรวจไซเบอร์ อธิบายลักษณะการทำงานของเครื่องดังกล่าวว่า เมื่อเปิดใช้งานเครื่องดังกล่าว ก็จะทำงานในลักษณะของการปล่อยสัญญาณโทรศัพท์ที่มีคลื่นความถี่ต่ำ กระจายในระยะรัศมีประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อเข้าแทรกกับคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในรัศมีระยะรัศมีดังกล่าว เมื่อสามารถแทรกคลื่นเข้าไปได้แล้ว คนร้ายก็จะกดส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือของคนร้ายที่เป็นตัว Operator กระจายผ่านสัญญาณเข้าไปยังเครื่องโทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/jmu4ak32tDM

คุณอาจสนใจ

Related News