สังคม
'เจ๊อ้อย' แจ้งความ 'ทนายตั้ม' เพิ่มเป็น 4 คดี - เพจดังแฉขบวนการโกงเงิน 39 ล้าน 'อัจฉริยะ' ซัดจุดจบคือเรือนจำ
โดย nattachat_c
7 พ.ย. 2567
134 views
วานนี้ (6 พ.ย. 67) ได้มีเปิดเผยความคืบหน้า คดี น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ 'เจ๊อ้อย' เศรษฐีนี ที่แจ้งความกล่าวหา นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ 'ทนายตั้ม' ฉ้อโกงเงินไปกว่า 71 ล้านบาท โดย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผบช.ก. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเรียกสอบปากคำผู้เสียหายมาแล้วหลายครั้ง และใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากคดีนี้มีรายละเอียดเยอะพอสมควร แต่ตอนนี้ สำนวนมีความคืบหน้ามากกว่า 80% แล้ว
ทั้งนี้ แม้ว่าการสอบสวนใกล้สมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีการสืบสวนควบคู่ไปด้วย เพื่อหาหลักฐานต่าง ๆ มาวิเคราะห์ว่า มีอะไรที่สอดคล้องกันหรือไม่ ตรงตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาหรือไม่ ก่อนนำมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ทางด้านแหล่งข่าว ได้รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา ที่ 'เจ๊อ้อย' ได้ให้ปากคำครบถ้วนแล้ว เบื้องต้น มีรายงานว่า คดีนี้เข้าข่ายมีความผิดฐาน 'ฉ้อโกง' แต่ข้อหาอื่น ๆ ยังจะต้องมีการให้ปากคำอีกหลายปาก เพราะ 'เจ๊อ้อย' ให้ข้อมูลว่า มีผู้เกี่ยวข้องหลายคน แล้วเมื่อสอบไปปากนึง ก็อาจมีการพาดพิงไปถึงบุคคลอื่น ซึ่งก็ต้องมีการสอบปากคำเพิ่ม และยังไม่นับเพิ่มการสอบสวนเพื่อขยายผลไปอีกหลายประเด็น จึงทำให้ยังไม่มีหมายเรียก
ในขณะที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า
พี่อ้อยได้แจ้งความทนายตั้ม และพวก เพิ่มอีก 1 คดี คือคดีจ้างออกแบบโรงแรมที่จ่ายเงินไป 9 ล้านบาท ตามที่ทนายตั้มแนะนำมา แต่กลับไปให้อีกบริษัทออกแบบ ในขณะที่ค่าออกแบบจริง 3.5 ล้านบาท เท่านั้น
จึงเป็นการแจ้งความรวม 4 คดีแล้ว
1. คดีหลอกให้โอนเงิน โดยอ้างว่าเป็นค่าทำสลากออนไลน์ 71 ล้านบาท
2. คดีที่ตั้มแนะนำเพื่อนให้รู้จัก แล้วอ้างว่ากระเป๋าเงินดิจิตอลของตัวเองได้รับความเสียหาย จากทรัพย์สินในกระเป๋าเงินมีมูลค่า 39 ล้านบาท เพราะทำธุรกรรมให้พี่อ้อย จึงถูกระงับบัญชี และไม่สามารถเปิดได้อีกเลย นำไปแจ้งความวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 พี่อ้อยหลงเชื่อจึงโอนเงินให้ไป 39 ล้านบาท วันที่ 25 พฤษภาคม 2566
3. คดีที่ให้เงินทนายตั้มไป 13 ล้านบาท แต่จ่ายเงินจริงไม่ถึง ถูกแจ้งความดำเนินคดีเสียหาย 1.5 ล้านบาท
4. คดีจ้างออกแบบโรงแรม 9 ล้านบาท มูลค่าจริง 3.5 ล้านบาท
คำถามสำคัญคือเข้าเกณฑ์คดีฉ้อโกงเป็นปกติธุระแล้วหรือยัง และเป็นการฟอกเงินแล้วหรือยัง?
ขณะที่ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ โพสต์ข้อความ ระบุ "จุดจบทนายตั้มคดีฉ้อโกงลูกความ?ให้ไปดูที่ #เพจดาวแปดแฉก #อาจเป็นจุดจบทนายดัง?"
จากนั้น ได้คอมเมนต์ใต้โพสต์ว่า "พยานหลักฐานที่เพจดาวแปดแฉกนำมาเสนอมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่าสแกมเมอร์คือใคร คือผู้ต้องหาในคดีนี้หรือไม่ และที่สำคัญมีการนำแคชเชียร์เช็คไปเบิกเงิน หลังจากนั้นใครรับแคชเชียร์เช็คไป ทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำ แคชเชียร์เช็คไปเข้าบัญชีใคร ใครได้เงินจากการหลอกลวง อาจเป็นจุดจบทนายดัง พยานหลักฐานสำคัญกว่าน้ำลาย บิ๊กโจ๊กกล่าวไว้ว่ากรรมใครกรรมมัน" และ "พยานหลักฐานล่าสุดจนถึงวันนี้ ทนายตั้มน่าจะรอดยากแล้วครับ"
นอกจากนี้ มีคนเข้ามาคอมเมนต์ถามว่า "วันนี้ อาจารย์เดชา กินยา ผิด เหรอครับ" ซึ่งทนายเดชา ตอบว่า "ข้อมูลเพิ่มเติมการวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ได้รับมา"
ทั้งนี้ เพจ ดาวแปดแฉก ได้โพสต์รูป บันทึกประจำวันของตำรวจว่า เงินบิตคอยน์รวมกว่า 2 ล้านบาท โอนให้ใครไม่รู้ พร้อมโพสต์ข้อความระบุว่า
#ข้อมูลสำคัญปมเงิน39ล้านบาท!!
วันที่ 23 พ.ค.2566 บางคนลงประจำวันกับตำรวจ ว่า เงินบิตคอยน์ รวมกว่า 2 ล้านบาท โอนให้ใครไม่รู้!!
ต่อมาวันที่ 25 พ.ค.2566 เล่นบทเศร้า "พี่อ้อย" ใจอ่อนตัดใจโอนเงินจากธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อแคชเชียร์เช็ค โดยมีบุคคลบอกให้สั่งจ่ายชื่อผู้แจ้ง 39 ล้านบาท แล้วมีบุคคลหนึ่งมารับแคชเชียร์เช็ค
ข้อสงสัย?? ผู้แจ้งจะโอนเงินบิตคอยน์ ให้กับบุคคลอื่นที่ไม่รู้จักเป็นไปได้หรือและไม่รู้หรือว่าโอนค่าอะไร ถึงจำเป็นต้องโอนเป็นไป?? หากกล่าวอ้างว่าเงิน 39 ล้านบาท ถูกดูดทำไมบันทึกประจำวัน ลงแค่โอน 7 ครั้ง ยอดเงินแค่กว่า 2 ล้านบาท แต่ยอดเงิน 39 ล้านบาท ไม่ปรากฏในบันทึกประจำวัน
ข้อสงสัย?? เงินบิตคอยน์ ในเรื่องนี้หากมีจริงความเสียหายแค่กว่า 2 ล้านบาท ไม่ใช่ 39 ล้านบาท?? บางคนอ้างว่า พี่อ้อยถูกสแกมเมอร์หลอก เตือนแล้วแต่พี่อ้อยโอนให้เอง??
ข้อเท็จจริงยอดเงิน 39 ล้านบาท พี่อ้อย โอนจากบัญชีส่วนตัวจากธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อแคชเชียร์เช็ค ให้กับบุคคลหนึ่ง โดยมีหลักฐาน คือสำเนาการโอน การซื้อแคชเชียร์เช็ค และรายการเดินบัญชี ไม่ได้ถูกสแกมเมอร์หลอก!!
ปมเงิน 39 ล้านใครไม่พูดความจริง??
ทั้งหมดก็แค่สงสัย ไม่ได้มโน!!
และโพสต์อีกว่า มิติใหม่วงจรอาชญากรรม!! คดีสแกมเมอร์ลวงโลก ผู้ก่อเหตุรับเงินเป็นแคชเชียร์เช็ค #ไม่ให้ขีดคร่อมสั่งจ่ายแล้วนำไปเบิกเงินสดได้ทันที
'อัจฉริยะ' เผยทนายตั้มโกหกหน้าตาย ใช้ นางสาว ม.ม้า ไปเบิกเงิน 39 ล้านบาท ชี้ ตั้มใจจะขาดรอถูกออกหมายจับ ซัด จุดจบคือเรือนจำเท่านั้น ด้าน รอง ผบช.ก. ยัน ไม่ทราบชื่อตัว ละครลับ ม. ที่ 'อัจฉริยะ' มาเปิดเผยกับสื่อ ย้ำตอนนี้ไม่มีการสอบสวน บุคคลชื่อย่อนี้
ที่บริเวณหน้าศาลอาญารัชดา ถ.รัชดา นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนนั้น ไม่เป็นความจริง ทนายตั้มโกหกหน้าตาย โดยเฉพาะเรื่องเงิน 39 ล้านบาท ตนยืนยันว่าเป็นคนที่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะทนายตั้มให้นางสาว ม.ม้า ซึ่งเป็นเลขาคนใหม่ หลังจากที่นายเบียร์ได้ลาออกไป เป็นคนไปกดเงินจำนวน 39 ล้านบาท จากนั้น ก็นำเงินมาให้ทนายตั้มเอาไปแบ่งกัน
โดยก่อนหน้านี้ นุกับสาได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.บางซื่อ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ว่าได้มีการโอนเงิน 7 ครั้ง จำนวนเงินมากกว่า 2 ล้านบาท ให้บุคคลหนึ่ง ตนจึงอยากให้ตำรวจมีการตรวจสอบว่าใครเป็นผู้รับโอนเงินดังกล่าว แล้วจึงถามกลับไปยังทนายตั้มว่า จะไม่รู้เรื่องได้อย่างไร ในเมื่อทนายตั้มเป็นคนพานุกับสาสองสามีภรรยาไปหาเจ๊อ้อย ก่อนที่ทั้งคู่จะไปทะเลาะกันต่อหน้าเจ๊อ้อย จนทำให้เจ๊อ้อย หลงเชื่อก่อนที่จะโอนเงินไปให้กับสา จำนวน 39 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินที่ไม่มีความสอดคล้องกันนั้น
เบื้องต้น ทางพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม ได้ข้อมูลจากพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อไปแล้ว ซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานอีกหนึ่งชิ้นในการเอาผิดทนายตั้มและพวก
และขณะนี้ นางสาว ม.ม้า อยู่ระหว่างการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน และนายอัจฉริยะยืนยันว่าเป็นคนเบิกเงินจำนวน 39 ล้านบาทให้ทนายตั้ม และก่อนหน้านี้นายเบียร์ก็เต็มใจมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ไม่ได้โดนอุ้มเหมือนที่ทนายตั้มกล่าวอ้าง
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยัง พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยได้เปิดเผยว่า ทางการสืบสวนยังไม่ทราบว่าตัวละคร “ม.” คือใคร ซึ่งตนยังไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน และบอกว่า ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการสอบสวนสำหรับตัวละครที่ชื่อย่อ ม.
ด้าน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ กล่าวอีกว่า นายเบียร์ก็เต็มใจมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ไม่ได้โดนอุ้มเหมือนที่ทนายตั้มกล่าวอ้าง
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างทนายตั้มกับเบียร์นั้น ทั้งสองคนรู้จักกันมานาน พี่ชายของเบียร์เคยมีคดีความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเด็กอายุ 8 ขวบ ทนายตั้มได้เข้าไปช่วยเหลือ แล้วไปที่บ้านของเด็กที่เสียชีวิต อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรม จะเข้าช่วยเหลือดูแล จนวันที่ศาลฯ นัดติดสินคดีทำให้รู้ว่าทนายตั้มโกหก และที่เข้าไปในบ้านของเด็กที่เสียชีวิต คือเข้าไปทำลายพยานหลักฐานเป็นเหตุผลให้นายเบียร์กับทนายตั้มมีความสนิทสนมกัน
นอกจากนี้ นายอัจฉริยะยังยืนยันว่า ภายในสัปดาห์นี้พนักงานสอบสวนสามารถออกหมายจับทนายตั้มกับพวกได้อย่างแน่นอน เพราะมีการสอบปากคำ นางสาว ม.ม้า แล้ว ซึ่งเป็นพยานปากสุดท้ายที่มีความสำคัญมาก โดยจุดจบของทนายตั้มคือการเข้าไปอยู่ในเรือนจำ
ส่วนกรณีที่ ทนายเดชา มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอัจฉริยะ บอกว่า ถ้าไม่รู้ก็ให้อยู่เงียบ ๆ เพราะจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าทนายเดชาอยู่ฝั่งทนายตั้ม เพราะฉะนั้นขอให้ทนายเดชาอยู่เงียบๆ จะดีกว่า เนื่องจากทนายตั้มไม่มีหลักฐานเด็ดตามที่กล่าวอ้าง โดยสามารถดูจากแววตาว่าทนายตั้มมีความกังวล และเครียดเรื่องที่จะถูกออกหมายจับเป็นอย่างมาก
นายอัจฉริยะ ยืนยันว่า การออกมาแฉทนายตั้มในครั้งนี้ เป็นเพราะอยากให้ทุกคนรู้ความจริง และฝากบอกทนายตั้มว่าให้เลิกโกหกหน้าตาย ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่รู้จักกันมาทนายตั้มก็โกหกซ้ำซากแบบนี้ตลอด ซึ่งตนได้เคยบอกทนายตั้มไว้แล้วว่า โกหกได้ก็โกหกต่อไปแต่สักวันหนึ่งความจริงจะปรากฏ และถึงแม้ว่าตนกับทนายตั้มจะเคยทำสัญญาสงบสุขกันเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าหากจะตัดขาดความสัมพันธ์กันอีกครั้ง ตนก็ไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด โดยตอนนี้ทนายตั้มฟังได้อยู่เพียงแค่ 2 เพลงเท่านั้นคือ เพลงโกหกหน้าตาย และเพลงใจจะขาด ซึ่งภายในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ตนเตรียมแฉทนายตั้ม เรื่องการปลอมแปลงสูติบัตร และบัตรประชาชน ที่เป็นข่าวดังเมื่อปลายปี 2566 และเรื่องนี้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ต.เต่า รู้เป็นอย่างดี
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/fZLwtVd24Ms