สังคม

ไทยติดอันดับ 4 ส่งออกลิขสิทธิ์หนังสือไปต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มได้หลักพันล้านบาท

โดย kanyapak_w

18 ก.ย. 2567

148 views

นายสุวิช  รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ภาพรวมยังโต แต่โตในสัดส่วนที่น้อยลง ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และภาวะเศรษฐกิจ เช่น นิตยาสารที่ลดลงเพราะงบฯโฆษณาลดลงมาก ขณะที่หนังสือพิมพ์ที่ลดการผลิตลงมาก อย่างไรก็ตามในส่วนหนังสือเล่ม กลุ่มหนังสือกวดวิชายังคงเติบโต รวมไปถึงหนังสือการ์ตูน ทำให้คาดการณ์ภาพรวมมูลค่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งปีจะโต 4-5 %



ส่วนหนึ่งวัดจากงานมหกรรมหนังสือระดับชาติปีที่แล้วซึ่งยังคงมียอดขาย 400 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ งาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 20 ตุลาคม 2567 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีนักอ่านเข้าร่วมชมงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งมียอดขาย 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15-20% ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมหนังสือในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% จากปีก่อนที่มีมูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านบาท



นางสาวดวงพร สุทธิสมบูรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย บอกว่าถ้าเจาะเฉพาะกลุ่มหนังสือรวมเล่มที่ตีพิมพ์อาจโตน้อยลง หรือหนังสือเสียง แต่ไปโตในรูปแบบอีบุ๊ค และออดิโอบุ๊ค หรือหนังสือเสียง ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ราว 2000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเด็ก เจนอัลฟ่า



ส่วนหนังสือที่ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มอยู่ที่ราว 16,000 ล้านบาท และไทยสามารถส่งออกในรูปแบบการขายลิขสิทธิ์ เติบโตและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยการขายลิขสิทธิ์สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะการสร้างเป็นซีรี่ส์ คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งนอกจากค่าลิขสิทธิ์ที่ผู้เขียนจะได้ไปในเบื้องต้นแล้ว ยังมีรายได้ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากการนำไปผลิตต่อในรูปแบบต่างๆอีกด้วย เช่น บุพเพสันนิวาส , พรหมลิขิต ทั้งนี้ประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่งคือไต้หวัน รองลงมาคือญี่ปุ่น และเกาหลี



โดยนิยายแนว LGBTQ+ ได้รับความนิยมสูงในไต้หวัน นอกจากนี้กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งยังคงมีวัฒนธรรมการอ่านกันอยู่ก็นิยมซื้อนิยายที่คลาสสิคจากไทย ไปตีพิมพ์เป็นรูปเล่มกันมาก รวมถึงตลาดใหม่คือตะวันออกกลางที่เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของไทยมากขึ้นโดยนิยมนำไปผลิตเป็นการ์ตูนที่เป็นรูปเล่ม



ทั้งนี้การซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือของไทยนับว่าได้รับความนิยมมากติดอันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน



ซึ่งสำนักพิมพ์หลายแห่งเริ่มมองหาช่องทางในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีการเติบโตทางด้านการอ่านและการพิมพ์



คุณอาจสนใจ

Related News