สังคม

ศูนย์จีโนมฯ จับตา 'โอมิครอน JN.1' เตือนไทยเตรียมรับมือ หลังระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐฯ

โดย nattachat_c

15 ม.ค. 2567

439 views

วานนี้ (14 ม.ค. 67) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเพจ Center for Medical Genomics ให้เตรียมพร้อมกับเชื้อโควิด โอมิครอน JN.1 ที่คาดว่า จะระบาดเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยในขณะนี้


ทั้งนี้ข้อความระบุว่า เตรียมพร้อมเผชิญกับโอมิครอน JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพิ่มเติมจาก 1 ตำแหน่ง กลายเป็น 2 ตำแหน่ง ในรูปแบบ “SLip (L455S+F456L)”


ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมที่แชร์บนฐานข้อมูลโควิด-19 โลก “จีเสด (GISAID)” โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่างๆพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์ EG.5.1* ประมาณ 244 ราย และ JN* ประมาณ 15 ราย คาดว่า JN จะระบาดเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักของไทยในขณะนี้


โอมิครอนในสายของ EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม 2 ตำแหน่งติดกัน คือ “L455F” และ “F456L” มักเรียกการกลายพันธุ์แบบนี้ว่า “FLip” ส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ได้ดีขึ้น พร้อมกับหลบเลี่ยงการเข้าจับและทำลายจากแอนติบอดีที่ผลิตโดยระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จากการรับการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ


อนึ่ง การกลายพันธุ์บริเวณหนามของ L455F หมายถึง มีการแทนที่กรดอะมิโนลิวซีน (L) ด้วยฟีนิลอะลานีน (F) ที่ตำแหน่ง 455 ในขณะที่การกลายพันธุ์ของ F456L เกี่ยวข้องกับการแทนที่ของฟีนิลอะลานีน (F) ด้วยลิวซีน (L) ที่ตำแหน่ง 456


โอมิครอนในสายของ JN* เดิมมีการกลายพันธุ์บริเวณหนาม “เพียงตำแหน่งเดียวคือ L455S” แต่ก็ส่งผลให้มีการระบาดไปทั่วโลกและเข้ามาแทนที่ EG.5.1 ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของ XBB ในสหรัฐอเมริกา JN.1 กลายเป็นสายพันธุ์หลัก ร้อยละ 61.6 ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มกราคม 2567) จากนั้นในเดือนมกราคม 2567 เช่นเดียวกันพบ JN (JN.1, JN.1.1, JN.1.1.1) มีการกลายพันธุ์เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งรวมเป็น 2 ตำแหน่ง คือ L455S และ F456L พบผู้ติดเชื้อรายแรกในฝรั่งเศส ขณะนี้พบแล้วทั่วโลกจำนวน 41 ราย เรียก


การกลายพันธุ์แบบนี้ว่า “SLip” ยังไม่แน่ชัดว่าสายพันธุ์ JN ที่พบการกลายพันธุ์แบบ SLip mutation จะส่งผลให้มีการระบาดที่รวดเร็วและเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นไปจาก JN.1 สายพันธุ์เดิมที่ส่วนหนามมีการกลายพันธุ์เพียงตำแหน่งเดียว (L455S) หรือไม่

----------------

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของโควิด ตามการคาดการณ์ที่จะมีการระบาดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่า ช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังพบสายพันธุ์ย่อยทั้ง XBB และ EG.5 ขณะที่สายพันธุ์ย่อย JN.1 สายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอนกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  


ทั้งนี้ ข้อมูลผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อ JN.1 มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูกร่วมด้วยได้ ซึ่งยังไม่พบว่า มีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิมในปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังมียาและเวชภัณฑ์สำรอง รวมทั้งจำนวนเตียงที่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง คำแนะนำสำหรับประชาชน เน้นการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนรวมกันจำนวนมาก
----------------

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซระบุว่า


แถลงการณ์ร่วมต่อสถานการณ์อาการ Long Covid-19 และผลกระทบจากวัคซีน


เนื่องในโอกาสที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตในวันนี้ จึงเห็นสมควรที่จะต้องแจ้งถึงสถานการณ์ในเรื่องภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบต่อวัคซีนโควิด-19 ต่อพี่น้องประชาชน ดังนี้


ประการแรก จากการที่มีประชาชนชาวไทยและทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะต่อเนื่องหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากการได้รับวัคซีนในหลายมิติ เป็นผลทำให้มีประชาชนกลุ่มดังกล่าวเสียชีวิต หรือมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอลง หรือส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแย่ลง เป็นเรื่องที่เป็นความจริงทั้งสิ้น


ประการที่สอง อาการที่เกิดขึ้นที่ทอดยาวเป็นเวลานานเกินกว่าสามเดือนหลังจากติดเชื้อโควิดที่เรียกว่าลองโควิด (long covid) โดยมีทั้งอาการทางระบบหัวใจและปอด ระบบสมองประสาทและกล้ามเนื้อ ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง เส้นเอ็นพังผืด กล้ามเนื้อ ข้อต่างๆ ตลอดจนการปะทุขึ้นของโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือโรคที่สงบไปแล้ว รวมทั่งมะเร็งและการเกิดเริม งูสวัดซึ่งไวรัสเหล่านี้เป็นไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจากการติดเชื้อเนิ่นนานมาแล้ว และถูกกดไม่ให้แสดงตัวออกมาจากการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของร่างกาย และยังรวมถึงการนอนหลับที่ผิดปกติ หลับยากหลับกระท่อนกระแท่น จนถึงฮอร์โมนแปรปรวนทั้งผู้ชายและผู้หญิง


ประการที่สาม มีขบวนการปกปิดข้อมูลและข้อเท็จจริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตจากวัคซีนทำให้ตัวเลขการรายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียและแอพลิเคชั่นในหลายระบบ ทำให้มีประชาชนอีกจำนวนมากยังไม่ทราบว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากวัคซีน จึงทำให้ไม่สามารถหาแนวทางการรักษาตัวเองที่ถูกต้องได้  


ในขณะเดียวกัน“กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์” ได้รวมตัวกันนำเสนอรายงานสถิติการเสียชีวิตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ (excess deaths) ในปี 2565 และ ปี 2566  ทั้งๆที่เป็นช่วงที่โรคโควิด-19ได้หยุดการระบาดไปแล้ว  โดยสถิติอัตราการเสียชีวิตของคนไทยในปี 2565 และ 2566 นั้น สูงเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาด และมากกว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการสืบสวนการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกตินั้น มีสัดส่วนอันเนื่องมาจากผลกระทบของวัคซีนมากเพียงใด


เพราะในรายงานการวิจัยสถิติในต่างประเทศพบว่า  มีผู้ที่เสียชีวิตจากวัคซีนโควิด-19 จริง และในผู้เสียชีวิตเหล่านี้ได้รับความเสียหาย ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด  ระบบทางโลหิตวิทยา ระบบทางเดินหายใจ หรือหลายระบบพร้อมกัน และมีการประเมินว่าการตายจากวัคซีนที่รายงานเข้าในระบบ VAERS  (Vaccine Adverse Event Reporting System) ของสหรัฐอเมริกาต่ำกว่าความจริงกว่า 20 เท่าตัว


ประการที่สี่  ผลการติดตามเบื้องต้นของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่  คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับภาควิชาอายุรศาสตร์และสาขาประสาทวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบข้อมูลจากการติดตามผลของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากโรคโควิด-19 ในผู้ที่ฉีดวัคซีนในประเทศไทยเกือบ 100 รายในระยะเวลา 1 ปี พบค่าการอักเสบและโปรตีนที่แสดงให้เห็นว่าเกิดภาวะสมองเสื่อม ทั้งที่ยังไม่มีอาการและมีอาการแล้ว หรือแม้แต่ยังมีร่องรอยภาวะโรคสมองเสื่อมดำเนินต่อไปหากมีปัจจัยกระตุ้นแม้จะมีอาการป่วยดีขึ้นแล้วก็ตาม  ซึ่งจะสร้างปัญหาต่อประชากรกลุ่มนี้ต่อไปในอนาคต หากไม่รู้ตัวหรือไม่ได้หาหนทางในการป้องกันหรือเยียวยาเพื่อลดความเสี่ยงลงด้วยคำแนะนำอย่างถูกต้อง


ประการที่ห้า  นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เผยแพร่รายงานเอาไว้ในวารสาร Nature Scientific Report เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ได้กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนหลังเข็มที่ 3 ว่าอาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell หมดแรง นั่นหมายความว่าการฉีดวัคซีนมากเกินไปอาจทำให้ร่างการมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงได้


ประการที่หก  สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าสุขภาพร่างกายของตัวเองอ่อนแอลงไม่หมือนเดิม อันเนื่องมาจากภาวะลองโควิด-19 หรือไม่ หรือสงสัยว่าจะได้รับผลกระทบจากวัคซีนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ จะทำการสร้างเครือข่าย รับข้อมูลจากประชาชน


ประการที่เจ็ด สำหรับแนวทางการรักษาทั้งจากภาวะลองโควิด-19 หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนในปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการรักษาอยู่แล้วทั้งในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์ทางเลือก ธรรมชาติบำบัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การใช้สมุนไพร และตำรับยาตลอดจนหัตถการทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีน ซึ่งวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะรวบรวมกรรมวิธีการเยียวยาและรักษา ทำการวิจัย และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบในโอกาสต่อไป


ทั้งนี้ขอเรียนเชิญแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน หมอพื้นบ้าน เภสัชกรผู้รักชาติทั้งหลาย ได้ร่วมกันระดมเสนอหนทางจากประสบการณ์ตรงและให้ข้อมูลการช่วยเหลือและรักษาผู้ที่เป็นภาวะลองโควิด-19 และผู้ที่ได้รับผลกระทบของวัคซีน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างเป็นระบบและเข้าสู่เป็นงานวิจัยต่อไป


ประการที่แปด นอกจากขบวนการปกปิดข้อมูลแล้ว สังคมไทยควรตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายและรู้เท่าทันความเสี่ยงจากงานวิจัยในประเทศไทยที่สนับสนุนโดยทุนต่างชาติเพื่อหาหนทางการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสจากค้างคาวเพื่อให้กลายเป็นเชื้อไวรัสในมนุษย์ อาจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนบางกลุ่มที่ต้องการแสวงหาผลกำไรและความมั่งคั่งจากทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคระบาดสร้างความเสียหายต่อประชาคมโลกต่อไปในอนาคต และเห็นว่าสถาบันวิชาการในประเทศไทยควรเห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของกลุ่มทุนต่างชาติ


สุดท้ายนี้สถานการณ์ปัญหาจากภาวะลองโควิด-19 และภาวะผลกระทบของวัคซีน จะต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริง  การเปิดเผยความจริงในประโยชน์และความเสี่ยงตลอดจนผลกระทบอย่างรอบด้านเท่านั้น จะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนในการตัดสินใจและสร้างความตระหนักต่อความเสี่ยงการรับวัคซีนและไม่รับวัคซีนในอนาคต   รวมถึงทำให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อตระหนักและรีบตรวจคัดกรองความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดอันตรายในผลกระทบต่างๆ  เพื่อทำให้เกิดการแสวงหาและรวบรวมหนทางในการฟื้นฟูสุขภาพหรือรักษาประชาชนอย่างถูกต้องต่อไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลในฐานะผู้ที่สนับสนุนและรณรงค์การใช้วัคซีนมาโดยตลอด ต้องให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนอย่างเต็มที่และรวดเร็วต่อไปด้วย


แถลงโดย 


ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


และ


อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

-----------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/MVGzKkIQnOs

คุณอาจสนใจ

Related News