สังคม

ปลัดแรงงานแจงแล้ว หลังดีเอสไอกล่าวหา อดีตรมต.-ขรก.กระทรวง หักหัวคิวแรงงานไทยไปฟินแลนด์

โดย petchpawee_k

12 ม.ค. 2567

83 views

หลังจากเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกหนังสือ press release ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีมติให้กล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้บริหารระดับกระทรวงแรงงาน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีพบหลักฐานเกี่ยวข้องขบวนการส่งแรงงานไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์  ความเสียหาย 36 ล้านบาท


ทีมข่าวสอบถามเรื่องนี้ไปยัง พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ  อธิบายถึงจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะมีมติให้กล่าวหาอดีตข้าราชการฝ่ายการเมือง ระดับรัฐมนตรี 2 คน  และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน อีก 2 คน โดยได้รับรายงานว่า บางท่านยังดำรงตำแหน่งอยู่ รวมทั้งหมด 4 คน ว่า


จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้  สืบเนื่องมาจากกระทรวงการต่างประเทศ  มีหนังสือมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในกรณีที่ทางสถานทูตเฮลซิงกิของฟินแลนด์ มีการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ที่ฟินแลนด์ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ ไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกับบริษัทไว้ ว่ามีรายได้ตามสัญญาที่ตกลง จึงเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เพราะถือว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน ก็เลยขอความช่วยเหลือมา ซึ่งในส่วนนี้ทางการฟินแลนด์ได้ดำเนินการในส่วนของเค้าเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะช่วยเหลือแรงงานไทย


กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าเรื่องนี้อำนาจหน้าที่น่าจะเกี่ยวข้องกับดีเอสไอ จึงได้ส่งเรื่องมา ซึ่งดีเอสไอเห็นว่า เป็นเรื่องระหว่างประเทศ จึงรายงานไปที่อัยการสูงสุดในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจให้ร่วมสอบสวน


เมื่อมีการสอบปากคำผู้ที่เดินทางกลับมาจากฟินแลนด์ ประมาณเกือบ 100 ปาก และอีกส่วนหนึ่ง เป็นกระบวนการขอความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาไปทางฟินแลนด์ ก็ได้ข้อเท็จจริงและเอกสารพยานหลักฐานสำคัญจากฟินแลนด์มาด้วย ทำให้ทราบข้อมูลว่า ในกระบวนการก่อนเดินทางจากประเทศไทย พบว่ามีกระบวนการที่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายปกติให้กับผู้ที่เดินทางไปจ่ายเพิ่มเติม โดยที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย


ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแฝง เฉลี่ยคนละ 3,000 บาท เรียกว่าเป็นค่าดำเนินการ หรือเรียกว่า ค่าหัวคิว ซึ่งแรงงานที่เดินทางไป จะไม่ทราบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะจะทราบแค่ค่าใช้จ่ายก้อนรวม ว่าต้องจ่ายเท่าไหร่   โดยพฤติการณ์ของทางบริษัทที่ถูกกล่าวหา จะใช้วิธีแฝงค่าหัวคิว หรือ ค่าดำเนินการ ไปกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน 37,000 บาท ก็จะบวกเพิ่มไปอีก 3,000 บาท รวมเป็น 40,000 บาท เป็นต้น


แต่เมื่อนำในเอกสารที่จากทางประเทศฟินแลนด์มาตรวจสอบ ปรากฎว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เกิดขึ้น โดยจะใช้คำภาษาอังกฤษว่า DOE MANAGEMENT หรือ ค่าดำเนินการ และพอมาตรวจสอบในปี 63 ถึง 66 ซึ่งเป็นช่วงดำเนินคดี  มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท


เมื่อสอบถามว่า แล้วจากข้อมูลดังกล่าว ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นมาจากบริษัทที่พาแรงงานไทยไปทำงาน แต่ทำไมจึงมีมติให้กล่าวหา อดีตรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงกระทรวง ทาง พ.ต.ต. วรณัน ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้จากทางการสืบสวนสอบสวน มีหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงว่า อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งข้อมูลที่มีเรื่องเส้นทางการเงินบางส่วน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย


นอกจากนี้ พ.ต.ต.วรณัน ระบุเพิ่มเติมว่า ปกติบริษัทที่เป็นผู้แทนของกระทรวง จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานอยู่แล้ว จะต้องมีการทำสัญญา มีการไปอบรมฝึกอาชีพ และจึงได้ใบรับรอง และจึงไปทำงาน  แต่จากการสอบปากคำผู้ที่เดินทางกลับมาบางรายให้ข้อมูลว่า บางคนที่ไป แต่ไม่มีเงินก็ทำสัญญาเงินกู้ โดยที่บริษัทออกให้ เพื่อไปดำเนินการเรื่องวีซ่า และค่าต่างๆ และจะเรียกเก็บจากการทำงานที่ฟินแลนด์ จึงขอย้ำว่าการทำสัญญาจ้างงานที่ถูกต้อง ต้องมีการดำเนินการโดยประสานกับกรมการจัดหางาน ไม่ใช่ไปคุยกันลับหลัง และเซ็นสัญญากันกู้เงินกัน อันนี้มีความเสี่ยง ที่จะไม่ถูกต้องเยอะ


โดยหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวน และอัยการมีมติกล่าวหา เนื่องจากบุคคลที่กล่าวหาเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. จะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตามกฏหมาย กรอบระยะเวลากำหนดไว้ 30 วัน


ขณะที่นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่า ในประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นมีความเกี่ยวข้องกับกรณีแรงงานที่ไปทำวุ้นทุเรียนที่ประเทศฟินแลนด์ แล้วถูกจับกุมเนื่องจากมีการค้ามนุษย์ ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมได้ให้การกับตำรวจฟินแลนด์ว่า กรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าหัวคิวแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่ากระทรวงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้


ข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากทางฟินแลนด์ระบุว่า มีกลุ่มนายหน้าหรือผู้จัดหางานให้คนไทยไปทำงานในฟินแลนด์ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายแรงงานแล้วบอกว่าเป็นค่าหัวคิว เพื่อนำส่งให้กับข้าราชการการเมืองของกระทรวง 2 คน ซึ่งทางฝ่ายข้าราชการประจำก็จะไม่รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว และสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง


ถามต่อว่า หากข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง ทางกระทรวงจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า เราจะต้องไปฟ้องกับผู้ที่ตั้งข้อกล่าวหาเรา ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเป็นนิติบุคคลที่นำข้อมูลดังกล่าวมาแจ้งกับทางดีเอสไอ


เมื่อถามว่า ได้เจอกับนิติบุคคลคนดังกล่าวแล้วหรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนรู้ว่าเป็นคนไหนเนื่องจากได้รับการปล่อยตัวจากตำรวจประเทศฟินแลนด์แล้ว ซึ่งเขาได้กล่าวหาว่า มีการเรียกเก็บเงินผ่านโบรกเกอร์ จึงทำให้คิดไปว่ามีการนำเงินส่วนนั้นมาให้กับอธิบดีกรมการจัดหางาน หรือ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ต้องได้รับเงินนั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐานมายืนยันได้


ถามอีกว่า หากมีการไปเก็บเงินกับแรงงานจริงแต่เงินส่วนนั้นไม่ถูกส่งมาถึงกระทรวง จะเท่ากับการเอาไปแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า เราจะต้องไปหาว่าเขาจ่ายเงินนั้นกับใคร แล้วมีการนำเงินส่งไปให้ใครอีก


“เราไม่รู้เลยว่าเขาเอาเงินไปจ่ายกับใคร เป็นการอ้างลอย ๆ แต่เมื่อเป็นข่าวออกมาแล้วทำให้กระทรวงฯ เสียหาย เป็นการตั้งกล่าวหาโดยที่ยังไม่มีรายละเอียด ซึ่งตามกระบวนการแล้วทางดีเอสไอจะต้องส่งเรื่องให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีการตั้งข้อกล่าวหา” นายไพโรจน์ กล่าว


ขณะที่ทีมข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถามอดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานที่ดำรงตำแหน่งในช่วงสมัยปี 63 -66 ให้ข้อมูลว่า ตนไม่รู้ว่าดีเอสไอกล่าวหาใคร แต่ยืนยันว่าตนเองไม่เกี่ยวข้อง และหากคิดว่าเกี่ยวข้องก็กล่าวหามา พร้อมที่จะต่อสู้ในความบริสุทธิ์ และเข้าสู่กระบวนการจะได้รู้ใครผิดใครถูก และหาก ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ ก็ต้องเอาหลักฐานมาชี้แจงให้ได้ว่า ตนเองเกี่ยวข้องยังไง  และการกล่าวหากันโดยยังไม่ได้เรียกใครมาสอบ จะกล่าวหากันได้อย่างไร แต่ตนเองก็รู้สึกเฉยๆ ก็ว่ากันไปตามความถูกต้อง และตนมั่นใจว่าตนเองไม่ได้ทำอะไร


เมื่อสอบถามว่า หลายคนเพ่งเล็งว่าเป็นตนเอง แต่เรื่องนี้มีการส่งแรงงานไปเป็น10ปีแล้วก่อนตนมา เรื่องค้ามนุษย์มันไม่เกี่ยวกับตนอยู่แล้ว  ส่วนการส่งแรงงานไป เป็นเรื่องของเอกชนเป็นคนส่งแรงงานไป แล้วจะไปค้ามนุษย์ได้อย่างไร เพราะคนไปทุกปี ปีละ 3,000-5,000คน ถ้ามีปัญหาเขาจะไปทำไมกันทุกปีๆ


สำหรับเรื่องเรียกรับหัวคิว ยืนยันว่า ตนเองไม่รู้จักกับคนที่ไปเลยสักคน แล้วจะเรียกยังไง แล้วตนเองเป็นใคร ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตนเอง และยืนยันว่า ตนเองไม่ได้เป็นคนอนุมัติ แต่ฟินแลนด์เป็นคนอนุมัติ เพราะเขามีบริษัทคู่ค้าทางฟินแลนด์กันอยู่แล้ว ส่วนกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่แค่อนุมัติตามวีซ่า เพราะวีซ่าออกให้ไปเก็บผลไม้ป่า แล้วเขาไปถูกต้อง แล้วจะจ่ายทำไม เอาตรรกะความจริงเลย



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/1WRvTl8yQGc

คุณอาจสนใจ

Related News