สังคม
ผลศึกษาเผยอุบัติเหตุทางถนน ทำคนไทย “อายุขัยสั้นลง” อึ้ง! 5 ปีทำสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12 ล้านล้านบาท ฉุดรั้งขีดความสามารถพัฒนาประเทศ
โดย kanyapak_w
13 ธ.ค. 2565
103 views
ผลศึกษาเผยอุบัติเหตุทางถนน ทำคนไทย “อายุขัยสั้นลง” อึ้ง! 5 ปีทำสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12 ล้านล้านบาท ฉุดรั้งขีดความสามารถพัฒนาประเทศ
โครงการแผนงานยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยงานด้านความปลอดภัยทางถนน ในเวที BIG Talk 2022 เรื่อง “How to ช่วยชีวิตคนไทย จากอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งผลสรุปชี้ชัดว่าการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จากอุบัติเหตุ เป็นมหันตภัยร้ายแรงที่บั่นทอนศักยภาพการพัฒนาประเทศไทย
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและวิกฤตบำบัดแห่งองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงส่งผลให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียของกลุ่มเยาวชน และวัยแรงงานที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ โดยในปี 2656 ตั้งแต่เดือน เม.ย. - ต.ค. 2565 พบว่า ตัวเลขตายบนถนนมากกว่าปี 2564 ทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 10% จึงคาดว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตปีนี้ จะมากถึง 18,000 ราย เพิ่มขึ้นจาก 16,000 ราย ในปีที่ผ่านมา
ดร.ภญ.ฐิติพร สุแก้ว นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จากแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) รายงานข้อค้นพบเชิงวิชาการ “เพื่อลดการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วและได้ผล” ระบุว่าหากปัญหาอุบัติเหตุไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบต่อการสูญเสียระยะเวลา ที่ประชากรไทยจะมีชีวิตอยู่ และอยู่อย่างมีสุขภาพดี
สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย พบการสูญเสียของประชากรชายมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบที่เกิดจากประชากรหญิงมีแนวโน้มคงที่ ดังนี้
1) ผลกระทบต่ออายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด : ในปี พ.ศ. 2562 ข้อมูลจากความสูญเสียในเพศชาย แสดงถึงอายุคาดเฉลี่ยที่ลดลง เนื่องจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ไม่ได้รับการแก้ไข โดยลดลง 1.9 ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2557 ที่ค่าเฉลี่ยลดลง 1.5 ปี สำหรับเพศหญิงในปี พ.ศ. 2562 ลดลง 0.5 ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2557 ที่ค่าเฉลี่ยลดลง 0.4 ปี
2) ผลกระทบที่เกิดต่ออายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาวะของประชากร : ในปี พ.ศ. 2562 ข้อมูลจากความสูญเสียในเพศชาย พบค่าเฉลี่ยการมีสุขภาพดีจากที่ควรจะเป็น ลดลง 1.6 ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2557 ที่ค่าเฉลี่ย 1.3 ปี สำหรับเพศหญิงในปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2557 อัตราคงที่ที่ 0.4 ปี
ด้าน พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขคาดการณ์ความสูญเสียทางเศรษฐกิจปี 2566 กรณีเกิดผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุทางถนน ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูล 3 ฐานคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 96,230 ราย เฉลี่ยปีละ 19,246 ราย เป็นชายมากกว่าหญิงในสัดส่วน 3.7 ต่อ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 11.37 และ 20-24 ปี ร้อยละ 11.05 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขณะที่ภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 12 ล้านล้านบาท
แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้
1. เสียชีวิต 511,515 ล้านบาท
2. บาดเจ็บรุนแรง (IPD) 158,669 ล้านบาท
3. บาดเจ็บเล็กน้อย (OPD) 144,957 ล้านบาท
4. พิการ 306,156 ล้านบาท
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์กรอนามัยโลก กล่าวเสริมว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ซึ่งเริ่มต้นในปีนี้ลากยาวไปถึงปี พ.ศ. 2570 เน้นย้ำว่า “ทุกชีวิตมีความหมายและมีคุณค่ากับสังคม” และเนื่องจากแผนฉบับที่ 4 ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่เขียนไว้ ส่วนสำคัญจากระบบติดตามกำกับไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น แผนฉบับที่ 5 ที่ตั้งเป้าลดตายลงครึ่หนึ่ง ให้ลดเหลือ 12 ต่อแสนประชากร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก จะสำเร็จหรือไม่ต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างสูง อาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัย และคุมพฤติกรรมดื่มไม่ขับ จะลดการเสียชีวิตลงได้ถึง 12,000 คน
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและวิกฤตบำบัดแห่งองค์การอนามัยโลก
ดร.ภญ.ฐิติพร สุแก้ว นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)
พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์กรอนามัยโลก
แท็กที่เกี่ยวข้อง อุบัติเหตุ ,ผลวิจัย ,อายุสั้น