สังคม

สธ.ปรับรายงานผู้เสียชีวิต เป็น 3 กลุ่ม - สปสช.เร่งเคลียร์สายด่วน 1330 ตกค้าง ภายใน 5 วัน

โดย thichaphat_d

11 มี.ค. 2565

99 views

วานนี้ (10 มี.ค. 65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงสุด 74 ราย ว่า สธ.จะมีการพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตว่า จะนับอย่างไร


เนื่องจากมีทั้งโรคโควิดโดยตรง และการมีโรคอื่น ซึ่งการจะนับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดควรดูอาการ เช่น ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจที่เป็นอาการปอดอักเสบ เชื้อลงปอดอย่างชัดเจน ต้องถือว่าโรคโควิดทำให้เสียชีวิต ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบให้เสียชีวิต


ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยติดเตียงอยู่บ้าน ป่วยด้วยโรคที่เป็นอยู่แล้ว แต่เกิดติดโควิดจากคนดูแลหรือคนในครอบครัวและเสียชีวิต ก็ต้องแยกประเภทออกมาให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเกิดความสับสน โดยจะทำให้เห็นว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโควิดแท้ๆ ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำปอดอักเสบมากก็จะแยกออกมา


ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า คนที่เสียชีวิตไม่เกี่ยวกับโควิด แต่มีโรคอื่น แต่เมื่อมาตรวจพบว่า มีเชื้อโควิด พบว่ามีประมาณ 10-30%


และจะมีการปรับระบบรายงานผู้เสียชีวิต แยกออกมาเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ผู้เสียชีวิตที่มีปอดอักเสบ

2. ผู้เสียชีวิตที่ไม่มีปอดอักเสบ

3. ผู้เสียชีวิตที่ไม่ระบุสาเหตุ 


ขณะที่ วานนี้ (10 มี.ค. 65) กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  แจ้งว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย) ในพื้นที่ กทม.

หากต้องการรับยาฟ้าทะลายโจร เพื่อบรรเทาอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ แบ่งรับประทานครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน (ไม่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา) สามารถติดต่อขอรับได้ที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ 69 ชุมชนได้ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป


ส่วนประเด็นที่ สายด่วน 1330 มีปัญหาผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แถลงว่า 


สปสช. ได้จัดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อตกค้าง ที่ยังไม่ได้การติดต่อจากหน่วยบริการให้หมด โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะให้เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 โทรติดต่อหาผู้ติดเชื้อโควิด ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ที่ยังตกค้างไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยบริการ เพื่อสอบถามว่าอาการว่าเป็นอย่างไร


หากมีอาการไม่รุนแรง สปสช. ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ทางไปรษณีย์ถึงมือผู้ป่วยทุกคน โดยการจัดส่งยาให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังตกค้างนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ล็อตแรกได้รับ 50,000 เม็ด


ดังนั้น ขอแจ้งว่า ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด รายใดที่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยบริการเพื่อรับดูแลเข้าระบบ Home Isolation ขออย่ากังวลใจว่าจะถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแล สปสช.และ รพ.ราชวิถี จะจัดส่งยาตรงให้ถึงมือเพื่อช่วยบรรเทาอาการ หลังจากได้รับยาแล้วขอให้พักรักษาตัวอยู่ในบ้านประมาณ 10 วัน ก็ถือว่าหายจากโควิด


ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการดังกล่าว สปสช. คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน เคลียร์ผู้ติดเชื้อกว่า 3,500 รายที่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด ที่ตกค้างไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการได้ทั้งหมด โดยเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ สปสช.จะโทร.สอบถามผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่ และในวันนี้ (11 มี.ค.65) จะเริ่มจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์




คุณอาจสนใจ

Related News