สังคม

'หมอธีระวัฒน์' ชี้ฉีดแบบไขว้ ไม่ได้ดีไปกว่าซิโนแวค 2 เข็ม แนะควรบูสเข็ม 3 ด้วยแอสตราฯ-mRNA

โดย thichaphat_d

20 ส.ค. 2564

371 views

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงข้อมูลผลการวิจัยสลับวัคซีนโดยกรมวิทยศาสตร์การแพทย์ จากกลุ่มตัวอย่าง และอธิบายถึงระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นของวัคซีนแต่ละชนิด รวมถึงภูมิที่เพิ่มขึ้นของการฉีดไขว้


ระบุข้อความว่า “ข้อมูลที่ทางการออกมาเปิดเผยว่า การใช้เข็มที่หนึ่งคือซิโนแวค และเข็มที่สองเป็นแอสตร้านั้นจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ภูมิที่วัดจะดูสูงกว่าซิโนแวค 2 หรือ แอสตร้า 2 แต่ภูมิที่เห็นนั้นเป็น “ภูมิรวม” ไม่ใช่ภูมิที่ยับยั้งไวรัส


และเมื่อดูภูมิเฉพาะเจาะจงที่ยับยั้งไวรัสเดลต้านั้น ที่ดีที่สุดคือ ซิโนแวคสองเข็ม ตามด้วยเข็ม 3 แอสตร้า ดังนั้น ข้อมูลนี้ยืนยันว่าประสิทธิภาพของการไขว้ เข็ม 1 ซิโนแวค และเข็ม 2 แอสตร้านั้น ไม่ได้ทำให้มีกำไรขึ้น และไม่ข้ามไปคุ้มกันเดลต้า จะเสียแอสตร้าไปเปล่าๆ หรือไม่”


โดย นพ.ธีระวัฒน์ เผยกับทีมข่าวว่า การที่ฉีดซิโนแวคไขว้กับแอสตร้า ไม่ได้ดีไปกว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลต้า ที่เห็นว่ามีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เป็นเพียงภูมิคุ้มกันที่วัดรวม แต่ไม่ได้เป็นภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ ซึ่งควรจะใช้แผนเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วตามด้วยเอสตร้าเข็มที่ 3 ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นและสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ดีขึ้นด้วย


ถ้าถามว่าซิโนแวคที่เหลือมากมายจะเอาไปทำอะไร รวมกับที่สั่งมาเพิ่มอีก 12 ล้านโดส เพราะฉะนั้น 2 เข็มอาจไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ ส่วนเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าก็สามารถที่จะฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้ โดยที่ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่าปกติ จาก 0.5 cc เป็น 0.1 cc ทำให้ฉีดให้ประชาชนได้มากขึ้นถึง 5 เท่า ส่วนซิโนแวคที่สั่งมาเยอะแล้ว จะฉีดไปก็ไม่ได้เสียหาย แต่สำคัญที่ต้องมาต่อแอสตร้าเข็มที่ 3


สถานการณ์ในต่างประเทศที่ฉีดแอสตร้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา มาหลายเดือนแล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันเริ่มตก จึงเริ่มฉีดเข็ม 3 กันด้วยไฟเซอร์ โมเดอร์นา ทำให้โอกาสที่เขาจะขายหรือบริจาคให้เราก็น้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น หากเรามีของที่เรามีอยู่ เราก็ต้องเพิ่มมูลค่า โดยการฉีดเข้าชั้นผิวหนังเพื่อให้ได้จำนวนเยอะขึ้น ถึงแม้เราจะมีจำนวนวัคซีนน้อยก็ตาม


ซึ่งในการศึกษาที่เราทำแต่ยังไม่ได้เปิดเผย คือถ้าหากฉีดเข็มที่ 3 ต่อจากซิโนแวค 2 เข็ม ปรากฎว่าภูมิขึ้นได้ดีมาก ไม่ว่าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือผิวหนังก็ตาม และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก คนที่ฉีดเข็ม 3 เข้ากล้ามเนื้อ 80% พบว่ามีอาการไข้ เจ็บแขน ปวดศีรษะ ต้องหยุดงาน ในขณะที่ฉีดเข้าผิวหนังมีแค่ผื่น คัน บวมนูนเท่านั้นแต่ไม่มีอาการอื่นที่รุนแรง


เพราะฉะนั้นในเรื่องของความปลอดภัยดีกว่า และภูมิคุ้มกันก็ดีเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และตอบสนองกับเดลต้าได้ดีเท่าๆกัน ซึ่งวิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนังมีมานาน 37 ปีแล้ว เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ก็ทำการฉีดในชั้นผิวหนัง และในแอฟริกาที่ฉีดวัคซีนไข้เหลืองเข้าชั้นผิวหนังเช่นเดียวกัน ซึ่ง WHO ก็ยอมรับ และไม่เคยมีปัญหา


เช่นเดียวกับประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ศึกษาโดยใช้ วัคซีนโมเดอร์นา เข็มที่ 1 และ 2 เข้าชั้นผิวหนัง พบว่าหากใช้เนื้อวัคซีน 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 5 ก็ได้ผลดีเท่าๆกับที่ฉีดเต็มขนาดเข้ากล้ามเนื้อ


สรุปได้ว่า เนื่องจากขณะนี้เราไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สูงกว่าซิโนแวคในปริมาณมากพอ เราก็สามารถที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนได้เท่าเทียมกันทุกคน โดยการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการฉีดแอสตร้า และ mRNA เข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งได้ผลดีเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียงน้อยกว่า


แต่ตอนนี้ทางการยังไม่ยอมรับในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ขณะนี้ทางกรมการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็จะทำ แต่จะต้องรอไปอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อรอผลการศึกษาให้ครบถ้วน ซึ่งตนมองว่าจะรอถึงเวลานั้นก็อาจจะช้าเกินไป เราจึงควรใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศนำมาใช้ก่อน เพราะตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติที่ควรจะเร่งดำเนินการทันที



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/eRr8al_BfdY

คุณอาจสนใจ

Related News