สังคม
เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบาย รองรับมวลน้ำก้อนใหญ่
โดย olan_l
5 ต.ค. 2567
56 views
เขื่อนเจ้าพระยาเริ่มเพิ่มการระบายเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รองรับมวลน้ำก้อนใหญ่ กรมชลประทานมั่นใจน้ำเหนือไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร
ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงเขื่อนเจ้าพระยาผ่านจุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันนี้กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำ จาก 1,999 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปลงจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ริมคลองโผงเผง จ. อ่างทอง คลองบางบาล บ้านบางหลวงโดด ต.บางบาล ต. หัวเวียง อำเภอเสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 10-30 เซนติเมตร เตือนประชาชนยกของขึ้นที่สูง เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ
นายเดช เล็กพิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุถึงสถานการณ์น้ำภาคกลาง ว่าเป็นน้ำเดิมที่มีอยู่ต้องเร่งระบายออกจากเขื่อนเจ้าพระยา 2,000-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปรับการระบายแบบขั้นบันได คาดว่า จะคง แนวปฏิบัตินี้ไปประมาณสองสัปดาห์ ทั้งนี้ได้ออกประกาศให้ทุกหน่วยงาน เตรียมพร้อมรับมือระบายน้ำที่เพิ่มขึ้นแล้ว
สถานการณ์น้ำ เหนือเขื่อนเจ้าพระยาและท้ายเขื่อนขณะนี้ต่างกันประมาณ 2 เมตร 50 เซนติเมตร มวลน้ำยังคงมาจากน้ำฝน ที่ตกบริเวณลุ่มน้ำปิงจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านเหนือ ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ สถานการณ์น้ำได้ทำลายสถิติ ในปี 2554 ไปแล้ว ล่าสุดระดับน้ำยังทรงตัว โดยมวลน้ำจะเข้าสู่เขื่อนภูมิพลทั้งหมด
ส่วนแม่น้ำวัง เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม กักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพของเขื่อน โดยน้ำจากแม่น้ำวัง จะมารวมกับแม่น้ำปิงที่ท้ายเขื่อนภูมิพล และไหลมาบรรจบที่จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
แม่น้ำน่าน สถานการณ์ฝนหมดไปแล้ว เขื่อนสิริกิตต์ สามารถกักเก็บน้ำได้ทั้งหมด ทำให้เขื่อนมีน้ำเกือบเต็ม
สำหรับแม่น้ำยม ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ น้ำจากแม่น้ำยมทั้งหมดจะไหล มายังแม่น้ำน่าน ส่วนหนึ่งจะถูกผลักไปที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งขณะนี้น้ำเต็มทุ่ง 100% กรมชลประทานพยายามระบายน้ำจากทุ่งบางระกำลงสู่แม่น้ำน่าน โดยจะไหลไปรวมที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ และมวลน้ำก้อนนี้จะไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา
สำหรับน้ำที่จะมีผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร พบว่าน้ำในพื้นที่บางไทร จุดระบายน้ำ c29 ปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,044 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังอยู่ห่างจากระดับวิกฤตที่ประมาณ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ( หรือประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ) จึงมั่นใจว่า ว่าปีนี้กรุงเทพมหานคร จะไม่ได้รับผลกระทบ หากไม่มีฝนตกหรือพายุเข้ามาเพิ่มเติม
วันนี้คณะของคุณนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทีี่วัดไชยวัฒนาราม วัดอินทาราม และประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง อ.บางบาล ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง แนวทางบริหารจัดการน้ำ และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ภาคกลาง พร่้อมเตรียมเสนอ ครม. พิจารณางบฟื้นฟููช่วยเหลือเกษตรกรที่เสียหายได้รับผลกระทบ กว่า 3,700 ล้านบาท
ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/wKIzeZx1i8U