สังคม

สธ.เข้มเฝ้าระวังในพื้นที่ชายแดน หลังพบ "อหิวาต์" ระบาดหนักในเมียนมา

โดย chawalwit_m

21 ธ.ค. 2567

132 views

รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เผย ยังไม่พบโรคอหิวาต์เข้ามาระบาดฝั่งไทย หลังเมืองฉ่วยโก๊โก่ "เมียนมา" มีผู้ป่วยรวมกว่า 300 ราย เสียชีวิต 2 ราย


โรงพยาบาลแม่ระมาดสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ช่วยเหลือแล้ว คาดจะยังระบาดไปอีกระยะ อาจมีผู้ป่วยข้ามมาฝั่งไทย กำชับหน่วยงานสาธารณสุขใน จ.ตาก เข้มเฝ้าระวังอุจจาระร่วง ทั้งให้โรงพยาบาลเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ สื่อสารประชาชนป้องกันโรค ย้ำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ช่วยได้ ตรวจสุขาภิบาลอาหารและน้ำ เติมคลอรีนน้ำประปาให้ได้มาตรฐาน


วันนี้ (21 ธันวาคม 2567) นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงข่าวมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากอหิวาตกโรค ในเมืองฉ่วยโก๊โก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา


ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากได้รับรายงานจากโรงพยาบาลแม่ระมาด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่าโรงพยาบาลฉ่วยโก๊โก่ ประเทศเมียนมา พบมีผู้ป่วยอุจจาระร่วงอย่างแรงจำนวนมาก กำลังรักษาตัวในหอผู้ป่วยใน 56 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย


ผลการตรวจเบื้องต้นโดยใช้ชุดตรวจ (Rapid Test) พบเชื้ออหิวาตกโรค โดยมีรายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลอดช่วงเดือนธันวาคม 2567 พบผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงรวมแล้ว 300 ราย โรงพยาบาลฉ่วยโก๊โก่ได้ขอคำปรึกษาจากโรงพยาบาลแม่ระมาด ซึ่งได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์บางส่วนเพื่อรักษาป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่แล้ว



นพ.สุภโชคกล่าวต่อว่า ในวันนี้ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคอำเภอแม่ระมาด ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคและเตรียมความพร้อมป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรค โดย 1.สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งในฝั่งประเทศไทย แม้จะยังไม่พบผู้ป่วยยืนยัน แต่ให้เฝ้าระวังผู้ป่วยถ่ายเหลวที่มีอาการรุนแรง เก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค


พร้อมสำรองยาและเวชภัณฑ์รักษาโรคให้เพียงพอหากเกิดการแพร่ระบาดในฝั่งประเทศไทย 2.โรงพยาบาล และ รพ.สต. ให้สื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งแอปพลิเคชัน สถานีวิทยุ และหอกระจายข่าวในชุมชน เด็กในโรงเรียน แนะนำเรื่องการจัดหาน้ำดื่มที่สะอาดและภาชนะบรรจุอาหารส่วนบุคคลและชุมชน 3.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ให้สำรองยาและเวชภัณฑ์ควบคุมโรค ได้แก่ ผงปูนคลอรีน น้ำยาไลโซล น้ำยาฆ่าเชื้อโรค


เพื่อสนับสนุนการทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน และ 4.สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ให้ตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารในชุมชน ตามมาตรการร้านอาหารสะอาดปลอดภัย และแจ้งสถานการณ์ให้แก่เครือข่ายทราบและเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง


"จากการประเมินสถานการณ์ ถ้าในพื้นที่ระบาดไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดีพอ คาดว่าน่าจะมีการระบาดต่อเนื่องอีกสักระยะ ซึ่งอาจจะมีผู้ป่วยข้ามมาฝั่งไทยได้ จึงกำชับให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงอย่างเข้มข้นตลอดแนวชายแดน รวมถึงผู้ป่วยที่ข้ามมารักษาในฝั่งไทย และให้เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน อสม. โรงเรียนที่มีเด็กฝั่งเมียนมาข้ามมาเรียน ย้ำเรื่อง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หากมีอาการอุจจาระร่วงให้รีบพบแพทย์ รวมทั้งให้ตรวจสุขาภิบาลน้ำและอาหาร แหล่งน้ำประปาให้ใส่คลอรีนระดับมาตรฐานอย่างน้อย 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ตรวจโรงน้ำแข็งและแหล่งผลิตน้ำดื่มท้องถิ่นเป็นระยะ" นพ.สุภโชค กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News