สังคม

สกมช.เผยครึ่งปี 67 ปิดเว็บไซต์ปลอมแล้วกว่า 3,000 รายการ โซเชียลมีเดียมิจฉาชีพ 1,400 เคส

โดย chutikan_o

4 ก.ค. 2567

122 views

สกมช.เผยครึ่งปี 67 ปิดเว็บไซต์ปลอมกว่า 3,000 รายการ โซเชียลมีเดียมิจฉาชีพกว่า 1,400 กรณี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,900 ล้านบาท พร้อมประสานหน่วยงานพันธมิตรในและต่างประเทศปราบปรามมิจฉาชีพ


พลอากาศตรีจเด็ด คูหะก้องกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. กล่าวว่า สกมช. ร่วมกับ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ktc จัดเสวนาเตือนภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ “อนาคตไซเบอร์ กับอนาคตการป้องปราบ” ให้ความรู้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง สร้างความตระหนักรู้ พร้อมรับมือ และไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มหลอกให้เสียทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ


สกมช.พบว่าในช่วงที่ 1 ปีที่ผ่านมา มิจฉาชีพปรับเปลี่ยนรูปแบบหลอกลวงคนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลอกให้ลงทุน หลอกให้แจ้งความออนไลน์ ชักจูงเล่นพนันออนไลน์ รวมทั้งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและสถาบันการเงินหลอกให้เสียทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 สกมช.ปิดเว็บไซต์ปลอมแล้วกว่า 3,000 รายการ และดำเนินการกับมิจฉาชีพที่ใช้โซเชียลมีเดียหลอกให้เสียทรัพย์กว่า 1,400 รายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,900 ล้านบาท และยังคงร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินการปราบปรามมิจฉาชีพในทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ล่าสุดอยู่ระหว่างร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย ขอความร่วมมือไม่ทำกิจกรรมใดๆ ที่เปิดช่องว่างให้มิจฉาชีพทั้งทางตรงและทางอ้อม


นายไรวินทร์ วรวงษ์สถิตย์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานควบคุมงานปฏิบัติการและปฏิบัติการร้านค้า บริษัท บัตรเครดิตกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ktc กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการทุจริตจากธรรมการที่ไม่ใช้บัตร หรือการใช้โปรแกรมสุ่มเลขบัตรไปทำธุรกรรมทางการเงิน และการรั่วไหลของข้อมูล ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ktc จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาระบบบริหารป้องกันภัยทุจริตให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ถือบัตรและผู้บริโภค พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้ผู้ใช้บัตรเครดิต ktc


ขณะที่นายนพรัตน์ สุริยา ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายป้องกันทุจริตบัตรเครดิตและร้านค้า ktc กล่าวว่า ปัจจุบันภัยไซเบอร์ที่เกิดจากการรีโมทคอนโทรล ที่มิจฉาชีพหลอกให้กดลิงก์ดาวโหลดแอปพลิเคชันเริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่การหลอกให้โอนเงินโดยตรงมีแนวโน้มสูงขึ้น และความเสียหายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้ากลุ่มผู้สูงอายุ และใช้วิธีล่อลวงให้เกิดความกลัว ซึ่งแนวทางป้องกันเบื้องต้น หากต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน ให้ติดตั้งเองผ่าน Official Store เท่านั้น ห้ามกดผ่านลิงก์เด็ดขาด หากมีเจ้าหน้าที่ติดต่อให้กดลิงก์ดาวน์โหลดและแจ้งให้ทำตามขั้นตอน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ แล้วให้ติดต่อไปยังหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อตรวจสอบก่อน และหากผิดสังเกตว่าถูกรีโมทหรือลงแอปต้องสงสัย ให้ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และล้างเครื่องทันที

คุณอาจสนใจ

Related News