สังคม
เพจดังวิเคราะห์ทำเล ‘สาทร’ บางแห่งไกลจากเขตเมือง 20 กม. แต่คนซื้อภูมิใจ-คนขายขายออก
โดย JitrarutP
20 มี.ค. 2567
276 views
“สาทร” ชื่อนี้จะไปสุดที่ตรงไหน? เพจดังวิเคราะห์ทำเลใช้ชื่อ “สาทร” คอนโด – หมู่บ้าน มักใช้เรียกทำเล จากใจกลางกรุงเทพฯ ในวันนั้น สู่ “นนทบุรี” ในวันนี้ เพราะชื่อเป็นที่รู้จัก ถนนมุ่งตรงจากเขตเมือง คนซื้อภูมิใจชื่อทำเลดูดี คนขายขายออก แม้บางแห่งไกลออกจากเมือง 10-20 กม.
เฟซบุ๊ก วิเคราะห์ “ถนนสาทร” ที่ชื่อโครงการหมู่บ้านและคอนโดมักใช้เรียกทำเล แม้บางแห่งอยู่ห่างจาก เขตสาทร กรุงเทพฯ ไปไกลถึง 10 – 20 กม. ว่า หลังจากที่วันก่อน เห็นเพจ UrbanLife พูดถึงบ้านสาทร-บางแคไป แล้วก่อนหน้านี้ ขอบอสัง ก็เล่นเรื่องทำเลสาทรแบบตะโกนไปแล้ว..
แล้วสาทรมันไปไกลจริงหรือเปล่า?? หรือว่าเราคิดกันไปเอง??? วันนี้เรามาดูกันแบบมี Fact มีข้อมูลจริงๆ กันครับ เราจะมาปักหมุด “ชื่อโครงการ” หมู่บ้านและคอนโดที่มีชื่อสาทรทั้งกรุงเทพ!!! มาดูซิว่า อาณาเขตสาทรไปถึงที่ไหนกันบ้าง เราลองมาดูกันครับ อ่ะ เดี๋ยวจะดูเอาแต่ตลกอย่างเดียว เราขอลองวิเคราะห์นิดนึงละกันครับ ว่าโครงการบ้านและคอนโดทำไมขยันตั้งชื่อสาทรกันจัง
1. อยากให้รู้สึกว่าใกล้
อย่างแรกก็คงเป็นเรื่องของความอยากให้รู้สึกว่าอยู่ใกล้ครับ อันนี้ทุกคนน่าจะเห็นภาพ ด้วยความที่ชื่อของสาทรเป็นภาพจำของความเป็น CBD อยู่แล้ว และถนนในย่านฝั่งธนตรงนี้มันเชื่อมต่อแบบตรงไปถึงสาทรเลย ทั้งถนนกรุงธนบุรี, ถนนราชพฤกษ์ ถนนกัลปพฤกษ์ โครงการต่างๆ แถบนี้ก็อยากขายความใกล้ เดินทางแปปเดียวถึง (ถึงแม้ว่าจริงๆ บางโครงการจะ…)
2. มีแต่สาทร
ถัดมาน่าจะเป็นกายภาพของเมืองฝั่งธนครับ ด้วยความที่ฝั่งธนถูกกั้นด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา แถมฝั่งเมืองกรุงเทพชั้นในที่ติดกับฝั่งธน ส่วนนึงก็เป็นเมืองเก่าไปทั้งแถบ ก็เลยจะมีย่านสาทรเนี่ยแหละครับ ที่เป็นย่านธุรกิจหนึ่งเดียวที่ติดกับฝั่งธนแบบข้ามสะพานถึง ความเชื่อมกันระหว่างฝั่งธน-สาทร เลยถูก Bold เป็นพิเศษ และแทบจะเป็นตัวเลือกหลักที่ใช้เป็นจุดขายในเรื่องของการเข้าเมืองในย่านนี้ครับ
3. ถนนมันตัดตรง
อีกเรื่องน่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกครับ ด้วยถนนที่ตัดตรงเข้าสาทรของย่านนี้อย่างราชพฤกษ์และกัลปพฤกษ์ เป็นถนนตัดใหม่ เส้นใหญ่ ความกว้าง 6-10 เลน หลายส่วนมีถนนคู่ขนานอีก แล้วมีสะพานข้ามแยกทุกแยก เรียกได้ว่าเป็นถนนที่วิ่งกันแบบความเร็วสูง ขับตั้งแต่วงเวียนพระราม 5 มาถึงสะพานสาทร ยังไม่เจอไฟแดงสักแยก ก็เลยพอจะให้ความรู้สึกของความตัดตรงเข้าสู่สาทรได้อยู่ ถึงแม้ว่าจริงๆ มันเกือบจะ 20 กิโลก็เถอะ ซึ่งถ้าเราลองเทียบกับย่านอื่น อย่างสมมติมาจากสายไหม เข้ามาราชเทวี กว่าจะผ่านไฟแดง ผ่านแต่ละย่าน วงเวียนหลักสี่, เกษตร, รัชโยธิน, ห้าแยก, จตุจักร, สะพานควาย, อารีย์, อนุสาวรีย์ ถึงแม้จะวิ่งถนนพหลฯ ตรงๆ แต่ความรู้สึกก็จะต่างกันเยอะเลย
4. ให้คนรู้ว่าอยู่โซนไหน
เป็นอีกเหตุผลด้าน Marketing ที่ก็สำคัญ คือก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีภาพแผนที่ กทม. อยู่ในหัว ดังนั้นเวลาหาบ้าน ก็จะมีย่านหลักๆ อยู่ในใจ การตั้งชื่อโครงการอิงกับทำเลหลัก ก็พอจะให้คนที่กำลังหาบ้าน พอนึกภาพออกเวลาเห็นชื่อโครงการครับ ว่ามันน่าจะอยู่แถบไหน เป็นทำเลที่อาจจะตอบโจทย์การใช้ชีวิตเค้าได้
อย่างนึกภาพ ถ้าชื่อ xxxxx วุฒากาศ ก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่รู้จักย่านวุฒากาศเลยทันที การเติมชื่อเป็นสาทร-วุฒากาศ ก็พอช่วยได้ เวลาเห็น Ad หรือเห็นชื่อโครงการ ว่า อ๋อออ มันคงเชื่อมต่อเข้าสาทรได้แหล่ะเนอะ จากที่ตอนแรกชื่อวุฒากาศอาจจะเป็น Nowhere เลยสำหรับบางคน รวมไปถึงการค้นหาต่างๆ เวลา Search ชื่อทำเลด้วยครับ คนส่วนใหญ่ก็จะ Search ชื่อจากทำเลหลักๆ ก่อน การทำชื่อโครงการให้เกี่ยวสักหน่อย ก็อาจจะช่วยได้บ้าง
5. ความภูมิใจของคนซื้อ
สุดท้ายผมมองว่าชื่อทำเลโครงการ ก็เป็นอีกความภูมิใจของคนที่ซื้อบ้านครับ เก็บเงินมาทั้งชีวิต ซื้อบ้านซักหลังได้ ก็คงเป็นความภูมิใจของใครหลายๆ คน ดังนั้นชื่อทำเลในโครงการที่มันดูดีหน่อย ก็คงเป็นอะไรที่ช่วยให้เจ้าของบ้านที่ซื้อรู้สึกดีได้
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่บ้านแพงขึ้น จะซื้อบ้านเรท 5-10 ล้านซักหลัง บางทีไกลเมืองออกไปเป็น 10-20 โลเลย ชื่อโครงการที่ดูดีหน่อยก็ดูเป็นอะไรที่ช่วยทั้งการขาย และคนซื้อก็แฮปปี้ ก็ดูเป็นอะไรที่ Win-Win ครับ เพียงแต่ว่าบางโครงการ อาจจะดูฝืนๆ ไปหน่อย แบบไกลจนไม่น่าจะใช่แล้ว อันนี้ก็จะเอ๊ะๆ กันหน่อยครับ 5555555