สังคม

รวบนายหน้าประกันแสบ ขายข้อมูลลูกค้าให้ 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' หวังเอากำไรส่วนต่าง

โดย panisa_p

12 ม.ค. 2567

438 views

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนติดตามจับกุมกลุ่มผู้กระทำผิดในการซื้อขายข้อมูลประชาชน กระทั่งช่วงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ทำการสืบสวนจับกุมกลุ่มบุคคลที่มีการแสวงหาประโยชน์ มิชอบจากการซื้อ-ขาย ข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นเป็นจำนวนมากผ่านกลุ่มโซเชียลมีเดียเฉพาะกลุ่ม (Dark Web) ให้กับกลุ่มมิจฉาชีพในการหลอกลวงประชาชน


โดยได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนทราบว่า นายอรรณพ อายุ 39 ปี ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าประกัน มีส่วนร่วมในการซื้อขายข้อมูลประชาชนจากกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนศาลได้อนุมัติหมายจับบุคคลดังกล่าว ในความผิดตาม พรบ.คุ้มครองส่วนบุคคล และ พรบ.คอมพิวเตอร์ ตามหมายจับศาลอาญาที่ 59/2567 ลงวันที่ 5 ม.ค. 67 กรณีซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลให้บุคคลอื่น


จนกระทั่งต่อมาในวันที่ 11 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน บก.สอท.5 ได้เข้าทำการตรวจค้นจับกุมนายอรรณพ ตามหมายค้นศาลอาญาธนบุรี ได้ที่บ้านพักในพื้นที่เขตทุ่งครุ กทม. และตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พบพยานหลักฐานในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่ซื้อขายมาจากบุคคลอื่นโดยมิชอบ เพื่อนำมาแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว


สอบถามนายอรรณพ ผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ยอมรับว่าตนเองประกอบอาชีพนายหน้าประกันของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รู้จักนายวีรทัศน์ ผู้ต้องหาที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้ในความผิดเดียวกัน โดยซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล มาเพื่อใช้ในการดำเนินการติดต่อหาลูกค้า เพื่อทำประกันต่างๆ โดยจะรับซื้อขาย แลกเปลี่ยน ข้อมูลส่วนบุคคล ในราคารายชื่อละ 50 สตางค์ ถึง 75 สตางค์ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการซื้อขายข้อมูลหลักแสนรายชื่อ


จากนั้นผู้ต้องหาจะนำข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ เพื่อดำเนินการขายต่อข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วเพื่อรับกำไรส่วนต่าง หรือใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง โดยจะได้รายได้จากการขายข้อมูลต่อครั้งละ 20,000 – 40,000 บาท จากนั้นจึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.5 ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


โดยการปฏิบัติการจับกุมผู้กระทำผิดในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส) โดย พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผอ.สำนักตรวจสอบและกำกับดูแล, PDPC Eagle Eye และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย PDPA ร่วมตรวจสอบขยายผลเพื่อดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ให้ครบถ้วนทั้งตัวผู้กระทำผิดและแหล่งข้อมูลที่รั่วไหลเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมิให้ตกไปในมือของมิจฉาชีพ

คุณอาจสนใจ

Related News