สังคม

ฮือฮา พบ ‘ออร์ฟิช’ ปลาน้ำลึก โผล่สตูล อ.เจษฎ์ ยันไม่เกี่ยวเหตุแผ่นดินไหวญี่ปุ่น

โดย nicharee_m

4 ม.ค. 2567

268 views

ไทยฮือฮา พบ ‘ปลาออร์ฟิช’ เกาะอาดัง จ.สตูล กรมประมงเก็บตัวอย่างศึกษาต่อ อ.เจษฏา อธิบายไม่เกี่ยวเหตุแผ่นดินไหวญี่ปุ่น ยันไม่ใช่สัญญาณเตือนเหตุภัยพิบัติ

วันที่ 4 ม.ค.2567 เพจ วิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ TSU โพสต์ข้อความ รายงานการพบปลาออร์ฟิซ (Oarfish) ปลาทะเลที่สามารถพบได้ในระดับน้ำที่ลึกมาก จากเรือประมง ก.เทพเจริญพร 15 บริเวณเกาะอาดัง อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567

ปลาออร์ หรือ ปลาริบบิ้น เป็นปลากระดูกแข็งชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Regalecus glesne อยู่ในวงศ์ Regalecidae มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพญานาคตามความเชื่อของไทย หรือมังกรทะเลในความเชื่อในยุคกลางของชาวตะวันตก โดยมีความยาวได้สูงสุดยาวถึง 9 เมตร และหนัก 300 กิโลกรัม

แต่ก็มีบันทึกไว้ในบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ด้วยว่า ปลาชนิดนี้เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ยาวที่สุดในโลก โดยอาจยาวได้ถึง 11 เมตร ในขณะที่รายงานไม่ยืนยันอีกบางกระแสระบุว่าอาจยาวถึง 15 เมตร หรือกว่านั้น มีส่วนหัวที่ใหญ่ ลำตัวแบนสีเงิน มีจุดสีฟ้าและดำประปราย มีครีบหลังสีชมพูแดง บนหัวที่อวัยวะแลดูคล้ายหงอนเป็นจุดเด่น

หลังจากนี้ทางสำนักงานประมงจังหวัดสตูลได้เก็บตัวอย่างและจะนำไปเก็บรักษาไว้ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเพื่อไว้ศึกษาในโอกาสต่อไป

ด้าน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงการพบปลาออร์ฟิชว่า ปลาออร์ฟิชตัวนี้ ติดอวนล้อมปลากลางน้ำทะเล ในฝั่งทะเลอันดามันครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับแผ่นดินไหว สึนามิที่ญี่ปุ่น  

และที่บอกว่า การเจอปลาออร์ฟิชแปลว่าจะเกิดแผ่นดินไหวนั้น ก็เป็นแค่ความเชื่อตามๆ กันมาครับ (จริงๆ ส่วนใหญ่ที่เจอมันขึ้นมาผิวน้ำ ก็เพราะมันป่วยหรือใกล้ตาย)

คาดว่าครั้งนี้ที่มันมาใกล้ทางฝั่งไทย เพราะน้ำทะเลมหาสมุทรอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำเกิดขึ้นครับ เรียกว่า ปรากฎการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ทำให้มหาสมุทรอินเดียบริเวณเขตศูนย์สูตร มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็นผิดปกติ


คุณอาจสนใจ

Related News