สังคม

เจาะลึกทุกเรื่องงู กับ ‘ภิญโญ’ ติ๊กต็อกเกอร์ชื่อดัง มือปราบอสรพิษ ประจำ กทม.

โดย chutikan_o

26 ม.ค. 2566

194 views

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรงูเยอะมาก ในหนึ่งวันจับได้มากที่สุดถึง 200 ตัว และจับได้หลากหลายชนิด ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ โดย ‘ภิญโญ’ มือปราบอสรพิษประจำ กทม. ได้เปิดเผยเรื่องงูในประเด็นต่างๆ ที่เรายังไม่เคยรู้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ชาวบ้านเจองูเข้าบ้าน งูอะไรที่มักจะเจอในกรุงเทพฯ อะไรที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับงู พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรับมือเมื่อต้องเผชิญหน้ากับงู



จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญการ ประจำอยู่ที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางเขน กทม. มีประสบการณ์การจับงูเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว ตั้งแต่ปี 2546 แต่ก่อนภิญโญเคยเป็นตำรวจดับเพลิงเก่า ซึ่งไม่มีภารกิจในเรื่องของการจับงู หน้าที่หลักๆ คือการดับไฟและกู้ภัย แต่พอถ่ายโอนมาเป็นภารกิจของในกรุงเทพฯ จะมีเรื่องของงานบริการช่วยเหลือประชาชน เช่น จับงู จับสัตว์เลื้อยคลาน จำกัดผึ้ง ต่อแตน การช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแมวตกท่อ สุนัขถูกรถชนได้รับบาดเจ็บ หรือสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยประชาชนแจ้งเข้ามาที่เบอร์ 199 มีบริการ 24 ชั่วโมง



ภิญโญ เล่าถึงเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติต่องูของเขาว่า แรกเริ่มเขาไม่ได้ชอบงู และเป็นคนที่กลัวงูมากๆ เหมือนกับทุกคน แต่ด้วยหน้าที่ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ประกอบกับการที่กรุงเทพฯ งูเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ทราบ จากหน้าที่ตรงนี้ก็ทำให้เราเปลี่ยนความกลัวมาเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ รู้จักมัน และกล้าเผชิญหน้าแทน กล้าที่จะไปจับ คือทำอย่างไรก็ได้ให้คลายความกังวลของประชาชนที่รับแจ้งมา



ขั้นตอนการปฏิบัติงานจับงู เริ่มจากการรับแจ้งมาจาก 199 ซึ่งเป็นเบอร์สายด่วนของสำนักป้องกัน กรุงเทพฯ จะมีเจ้าหน้าที่รับแจ้ง สมมติมีคนแจ้งว่ามีงูที่บางเขน ศูนย์วิทยุก็จะแจ้งวิทยุมาที่ศูนย์ที่ใกล้กับบางเขนที่สุด และให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุที่ไหน เราก็จะจัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์เดินทางไปจับงู ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่จะได้รับฝึกอบรมเรียนรู้ในเรื่องของการจับงูแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักชนิดของงูก่อน รวมทั้งการพูดคุยกับประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น รับรู้ก่อนว่างูเป็นงูอะไร สีอะไร อยู่ในลักษณะไหน อยู่สูงหรือต่ำ ขนาดเท่าไร ความยากง่ายอย่างไร เพื่อที่จะได้เตรียมอุปกรณ์ บางทีอยู่บนต้นไม้อาจจะต้องใช้ไม้หรือใช้อุปกรณ์ในที่สูงไป



การจับงูจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป เช่น บนต้นไม้ การขึ้นบนต้นไม้มีอยู่ 2 กรณี คือ ขึ้นไปหากิน เช่น กระรอก นก ที่ในช่วงตอนเช้าจะมารวมบ้านคน เพราะคนให้อาหาร งูรับรู้ว่าสัตว์ที่เป็นอาหารอยู่ ก็มารอบนต้นไม้ บางทีต้นไม้สูง 4-5 เมตร ก็จะเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยาก บางครั้งก็ต้องเฝ้ารอให้งูมาอยู่ต่ำลงเพื่อให้จับง่ายขึ้น ส่วนกรณีอื่น เช่น ในชักโครก ต้องดูก่อนว่างูอาจจะหลบและหนีไปแล้ว เพราะงูเข้ามาก็ระแวงเหมือนกัน และหลังจากจับได้ ต้องให้ช่างมาดูว่าชักโครกมีจุดบกพร่องอะไรที่ทำให้งูเข้ามาได้ ซึ่งในกรณีนี้คนกลัวมาก แต่จริงๆ แล้วเกิดเหตุแบบนี้แค่ 1% แต่ด้วยสื่อออนไลน์เป็นอะไรที่คนรับรู้รวดเร็วมาก จึงสร้างความหวาดกลัวให้กับคน



ก้าวสู่การเป็นติ๊กต็อกเกอร์ชื่อดัง

นอกจากเป็นเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยแล้ว ภิญโญก็ยังเป็นติ๊กต็อกเกอร์ชื่อดังอีกด้วย มีผู้ติดตามเกือบ 70,000 บัญชีแล้ว ยอดรับชมแตะล้านหลายคลิป โดยใช้ชื่อบัญชีว่า PINYO The Snake Wrangler มีช่องทางทั้งเพจเฟซบุ๊ก ยูทูบ และติ๊กต็อก เจ้าตัวมองว่า เรื่องของสื่อออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญมากในปัจจุบัน ใช้สำหรับประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ แล้วเขาเองมีข้อมูลอัดแน่นอยู่แล้ว ต้องการจะสื่อถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ประกอบกับเกิดสื่อใหม่ๆ อย่าง ติ๊กต็อก ซึ่งเป็นช่องทางที่ใช้เวลารับชมไม่นาน ทำให้คนรับรู้ได้เร็วขึ้นและใกล้ชิด เลยสามารถให้ความรู้ในเรื่องความปลอดภัยได้มากขึ้น เขาก็ดีใจที่คนติดตามค่อนข้างเยอะ



“ส่วนการคิดคอนเทนต์ มองว่าเรื่องวิชาการความรู้ค่อนข้างเครียดอยู่แล้ว อีกทั้งงูก็ดูแล้วน่ากลัว ถ้าใส่ความเครียดจะกลายเป็นสิ่งที่คนไม่อยากดู เลื่อนไปดีกว่า แต่ถ้าเราเอางูมาใกล้ชิด ให้ศึกษาเรียนรู้และเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้คนมารับรู้ว่า จริงๆ งูก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สามารถทำให้เราปลอดภัยในการอยู่พื้นที่เดียวกันได้” จ.ส.ต.ภิญโญ กล่าว



คอนเทนต์ที่คนชอบมากๆ ก็มีคลิป ‘งูรัดเอว’ ตอนนั้นกำลังเอางูไปปล่อยป่า แล้วนึกขึ้นได้ ธรรมชาติของงู จับมาแล้วจะรัดและพัน ปรากฏวันนั้นพันที่เอว ก็เลยนำเสนอว่า “ผมมีเข็มขัดตัวใหม่มานำเสนอคุณผู้ชม สามารถลดหน้าท้องที่ค่อนข้างเยอะ เข็มขัดของผมไม่กินไฟ ไม่ต้องใช้ถ่าน ไม่ต้องใช้สิ่งใดๆ ที่ใช้พลังงาน สามารถเอาไขมันที่หน้าท้องออกไปได้ชะงัดนัก ถ้าสนใจก็ติดต่อมาโดยตรง” แต่ไม่มีใครติดต่อมาเลย มีแต่คนกลัว แล้วก็บอกว่า ทำคนเดียวเถอะ



ปัญหาใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ‘งูเข้าบ้าน’

ปัญหาใหญ่ที่หลายคนกังวล ‘งูเข้าบ้าน’ ในกรุงเทพฯ มียอดที่ค่อนข้างจะสูงขึ้น ถ้าดูจากศูนย์วิทยุพระราม ทำให้คนมีความกังวลว่างูเพิ่มขึ้นหรือเปล่า จริงๆ ในความรู้สึกของคนจับ ที่ติดตามข้อมูลมาตลอด บอกเลยว่าลดลง เพราะอย่างงูเหลือม เป็นงูที่จับได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 70% ออกลูกค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นการขยายตัวจะเป็นแบบก้าวกระโดด ออกบางที 30-50 ฟอง แล้วก็เป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่สถิติที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถบอกได้ว่าเราจับงูวันนี้ได้เท่าไร ซึ่งในความรู้สึกของคนจับที่คิดว่าลดลง เพราะว่าขนาดลดลง อย่างเช่น จับงูขนาด 4 เมตร จากเมื่อก่อนจับได้ 20-30 ตัว เดี๋ยวนี้ 1 สัปดาห์ บางทีจับได้แค่ตัวเดียว และลดลงมาเป็นไซส์ 3 เมตร ซึ่งก็น้อยลงมาเช่นกัน สมมติแม่งูออกไข่มา 30 ฟอง กลุ่ม 4 เมตรถูกจับไปหมดแล้ว จึงเป็นการลดหลั่นลง เชื่อว่าในอนาคตเราสามารถควบคุมปริมาณงูที่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้



สถิติของการเจองู ฤดูฝน คือ ฤดูกาลที่จับงูได้มากที่สุด 1 วันบางทีจับได้ถึง 200 กว่าตัว ส่วนตอนนี้เข้าสู่ฤดูหนาว งูก็จะลดลง หลายคนใช้คำว่างูจำศีล เพราะเมื่ออากาศเย็นมาก งูก็ไม่ออกมาหากิน สัตว์ในห่วงโซ่อาหารก็ไม่ออกมาเช่นกัน ส่วนหน้าร้อนก็จะเป็นปกติ



สาเหตุของปัญหาที่งูเข้าบ้าน เกิดจากการขยายตัวของชุมชน เมื่อเมืองโตขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาพบเจองูในบ้านมากขึ้น เพราะเราไปสร้างบ้านในพื้นที่ที่มีงูอยู่และหากินบริเวณนั้นอยู่ก่อนแล้ว อดีตงูมีพื้นที่หลบซ่อน มีพื้นที่ป่ารกร้าง แต่เมื่อไม่มีที่ให้ซ่อน อย่างไรชาวบ้านก็มีโอกาสเจองูอย่างแน่นอน



แก้ไขปัญหางูเข้าบ้านในกรุงเทพฯ อย่างไร?

ส่วนวิธีการแก้ไข มีอยู่ 2 ทาง ในภาคประชาชน คือ ในเมื่อเราขยายตัวไปอยู่ในพื้นที่ๆ มีงูอยู่อาศัยหรือหากินอยู่ สิ่งที่ต้องรับมือคือเรื่องของรูปแบบการสร้างบ้าน การเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ เพราะส่วนมากบ้านที่ไปจับงูจะค่อนข้างรก ทำให้งูเข้าไปอาศัยหรือไปหาอาหาร เช่น หนู ถ้าไม่อยากให้งูเข้าบ้าน ต้องจัดบ้านให้เป็นระเบียบและเก็บเศษอาหาร เพราะเป็นการเชิญชวนให้หนูมา และงูจะตามมาด้วย



อีกทางหนึ่ง คือ การแก้ไขในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยการควบคุมปริมาณงู อย่างแรกเมื่อประชาชนเจองู ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เบอร์ 199 เจ้าหน้าที่จะไปจับ และควบคุมปริมาณ อย่างงูเหลือม 70% จะส่งไปที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งงูเหลือมเป็นงูที่ติด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จึงจะนำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนงูที่มีพิษ เช่น งูเห่า งูเขียวหางไหม้ ก็จะส่งสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อนำไปรีดพิษ และนำไปสะกัดเป็นเซรุ่มกลับมาช่วยคน ส่วนงูชนิดต่างๆ ที่ไม่มีพิษและไม่อันตราย อย่างเช่น งูแสงอาทิตย์ งูก้นขบ งูสิงห์ งูทางมะพร้าว เป็นงูที่มีประโยชน์กับชุมชน มองในภาพรวมอาจจะจับแล้วย้ายไปในพื้นที่ที่ห่างไกลบ้านเรือนออกไป พื้นที่ที่งูอยู่ได้และไม่มีคน ไม่สร้างผลกระทบกับคน



งูอะไรบ้างที่จับได้ในกรุงเทพฯ

เริ่มจากงูที่หลายคนเชื่อว่ามีพิษและอันตราย แต่จริงๆ เป็นความเชื่อที่ผิด คือ ‘งูแสงอาทิตย์’ เป็นงูที่ไม่มีพิษและไม่อันตราย ความเชื่อของคนสมัยก่อนคือ ถ้าถูกงูชนิดนี้กัด ดวงอาทิตย์ขึ้นเมื่อไร คนที่ถูกกัดจะเสียชีวิต ซึ่งความจริงแล้วงูชนิดนี้ไม่ได้มีอันตรายและมีประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมด้วย ในเรื่องของการควบคุมปริมาณหนูและกินงูด้วยกัน โดยเฉพาะ ลูกงูเห่า งูชนิดนี้มีจุดเด่นในเรื่องของแสงที่เป็นรุ้ง 7 สีที่ลำตัว สะท้อนกับแสงออกมาสวยงาม สามารถพบงูแสงอาทิตย์ได้ในที่ชื้น หรือ ชื้นแฉะ เช่น ห้องน้ำ ท่อระบายน้ำ



งูชนิดต่อไป ‘งูก้นขบ’ เป็นงูสีดำ ไม่มีพิษและไม่อันตราย ไม่สามารถมองได้ว่าอันไหนหัวหรือหาง บางคนเรียกว่างูสองหัว บริเวณใต้ท้องจะมีลายคล้ายทางม้าลาย พฤติกรรมของงูชนิดนี้คือ ถ้าเราไปรบกวน งูจะทำตัวแบนลงและม้วนหางขึ้น จะชื่นชอบอยู่ในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ท่อระบายน้ำ



ต่อมาเป็นงูที่พิษอันตราย ‘งูเขียวหางไหม้’หัวค่อนข้างโต เป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายจิ้งจก มีคอที่แยกหัวกับคอได้ชัดเจน ลำตัวความยาวไม่เกิน 80 ซม. มี 2 สี คือ สีเขียวอ่อนๆ และเขียวเข้ม เป็นงูที่มีพิษระบบโลหิต พอถูกกัดเลือดจะไหล ไม่มีการแข็งตัว ต้องไปพบแพทย์เพื่อให้เซรุ่ม แต่ยังไม่มีสถิติของการเสียชีวิต จะเจองูชนิดนี้ได้ที่ต้นไม้เตี้ยๆ ตามบ้าน



มาดูงูที่มีพิษและอันตราย ‘งูสามเหลี่ยม’ ในกรุงเทพฯ มีงูชนิดนี้แต่เป็นบางชุมชน จะพบในโซนตลิ่งชัน บางขุนนนท์ พื้นที่ติด จ.นนทบุรี เป็นกลุ่มมีพิษระบบประสาท หากินในตอนกลางคืน สีปล้องดำสลับเหลือง ส่วนมากถ้าเจอก็ต้องหลีกเลี่ยง โทรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ไปจับ งูชนิดนี้หากินตามริมน้ำ กินพวกปลาไหลและกบ



เรียกได้ว่าเป็นงูสามัญประจำบ้าน สำหรับ ‘งูเขียวพระอินทร์’ หรือ ‘งูเขียวดอกหมาก’ เพราะสามารถเจอได้ง่ายเป็นอันดับ 2 ในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่บนต้นไม้และใกล้ชิดกับบ้านคนมาก ชอบกินหนูและตุ๊กแก เป็นงูที่ไม่อันตราย มีพิษอ่อน คือ พิษเป็นอันตรายกับเหยื่อ เช่น หนู แต่ไม่อันตรายกับคน ลำตัวยาว ลวดลายสีดำตลอดทั้งตัว บางคนเรียกว่าลายดอกหมาก



ส่วนงูที่พบเป็นอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ คือ ‘งูเห่า’ หลายพื้นที่เจองูชนิดนี้ มีพิษอันตราย เป็นพิษแบบระบบประสาท งูเห่าจะมีเสียงขู่และแผ่แม่เบี้ยได้ หากินตามช่วงบ่ายถึงกลางคืน ส่วนใหญ่เจอไม่เกินเที่ยงคืน หลังจากนั้นจะกลับเข้าพื้นที่ที่อาศัยอยู่ หากินพวกคางคก





ทำอย่างไรถ้าต้องเผชิญหน้ากับงูแบบไม่คาดคิด?

หลายคนมีความกังวลว่าอาจจะเจองูในบ้าน เมื่อถึงเวลานั้นจะต้องทำอย่างไรถึงจะปลอดภัย ภิญโญได้อธิบายและสาธิตวิธีการเผชิญหน้ากับงูที่มีพิษอันตราย เช่น งูเห่า ไว้เบื้องต้นแล้ว

ภิญโญ เล่าว่า งูเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ดี จึงจับการเคลื่อนไหวแทน ถ้าอยู่ในระยะไกล แล้วงูเลื้อยผ่าน เราต้องอยู่เฉยๆ นิ่งๆ จับตาดูมัน ถ้าอยู่ในบ้าน งูเลื้อยไปจุดไหนจบก็ขยับตามในระยะปลอดภัยเพื่อเฝ้าดู สมมติงูไปแอบอยู่มุมหนึ่ง หรืออยู่ในห้องน้ำ ก็ปิดล็อกแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่



ส่วนกรณีที่ใกล้ชิดเกินไป จะแนะนำวิธีการเผชิญหน้าซึ่งปฏิบัติได้จริง

อย่างแรกสิ่งที่ต้องรู้ คือ การเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ไปเร้า ทำให้งูตกใจและอาจจะฉกกัดเราได้ เพราะฉะนั้นเมื่องูแผ่แม่เบี้ยอยู่ตรงหน้า ต้องยืนดูก่อนสักพักหนึ่ง ถ้างูเลื้อยไปก็อยู่นิ่งๆ รอให้ผ่านไป แต่ถ้าไม่เลื้อยและแผ่แม่เบี้ยอยู่ แนะนำให้ก้าวถอยหลังช้าๆ ช้าถึงช้าที่สุด ตามองดูงูตลอด ดูระยะฉกของงู (ความสูงของงูที่แผ่แม่เบี้ยขึ้น) ถ้าเดินออกมาเกินระยะฉก คือปลอดภัยแล้ว สามารถหันหลังกลับช้าๆ เดินออกไปได้ แต่ยังเฝ้าดูตลอดว่างูยังอยู่ไหม แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ เท่านี้ก็ปลอดภัยแล้ว



อีกหนึ่งกรณี ถ้าสมมติยืนรอในระยะเวลาอันสั้นแล้วงูคิดว่าตัวเองถูกรบกวนน้อย จะเอาแม่เบี้ยลง สุดท้ายจะเลื้อยไป แต่ถ้าเลื้อยผ่านขาเราหรือใกล้ชิดกับเรา ต้องนิ่งเพื่อความปลอดภัย ให้งูเลื้อยออกไปในระยะปลอดภัยก่อน



วิธีจับงูด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้าน

นอกจากนี้ ภิญโญยังสาธิตการใช้อุปกรณ์ในบ้านมาจับงู เช่น ไม้กวาด ที่ตักขยะ กะละมัง ขวดน้ำ เป็นต้น วิธีนี้ทุกคนสามารถทำได้ ยกเว้นเด็กและเยาวชน แต่อย่างแรกต้องถามตัวเองว่าพร้อมไหม กล้าไหม และที่สำคัญ คือ ต้องมีสติ อันไหนดูแล้วไม่ปลอดภัยก็ไม่สมควรทำ วิธีการอาจจะไม่ง่ายแต่ต้องฝึก เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกภายในบ้าน



1.กะละมัง ถ้าเจองูให้เอามาครอบไม่ให้หนี ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมา การใช้มือจับกะละมังต้องเป็นระยะที่ปลอดภัย คือ จับตรงก้นกะละมัง แล้วเอาครอบที่ตัวงู สุดท้ายนำวัสดุที่มีน้ำหนักมาทับไว้กันงูหนีด้วย



2.ไม้กวาด ที่ตักขยะ และถัง 1 ใบมีฝาปิดสำหรับใส่งู เริ่มจากการนำที่ตักขยะโกยหัวงู แล้วใช้ไม้กวาดกวาดงูเข้าที่ตัก กดไม้กวาดไว้ที่ตัวงู แล้วเทงูลงในถัง ปิดฝาให้เรียบร้อย วิธีนี้ต้องใช้ความรวดเร็วด้วย



3.ขวดน้ำ 1.5 ลิตร และ 6 ลิตร เลือกใช้จากความกลัว ถ้ากลัวมากใช้ขวดใหญ่ กลัวน้อยใช้ขวดเล็ก และต้องดูปากขวดด้วย ตัวใหญ่ใช้ขวดขนาดใหญ่ เริ่มจากจับจังหวะงูเลื้อย ใช้มือจับที่บริเวณก้นขวด เอาปากขวดจ่อที่หัวงู งูจะเลื้อยเข้าขวด นำไม้มาจี้ที่หางเพื่อเร่งให้เข้าขวด เพราะเป็นจุดที่งูค่อนข้างจะรับรู้และเซนซิทีฟที่สุด เสร็จแล้วปิดฝา ต้องดูด้วยว่าหัวไม่ได้ขึ้นอยู่ตรงปากขวด



ถ้าถูกงูกัดต้องทำอย่างไร ยังมีบางวิธีที่คนเข้าใจผิดๆ

ในกรณีที่ถูกงูกัด หลายคนมีความเชื่อผิดๆ ใน ‘การขันชะเนาะ’ เช่น งูกัดที่แขน รัดต้นแขนกันพิษแล่นเข้าสู่หัวใจ งูกัดที่ขา รัดต้นขา เป็นต้น แล้วถ้างูกัดที่หัว ต้องรัดที่คอหรือไม่?



เปลี่ยนความคิดใหม่ ‘การขันชะเนาะ’ เป็นวิธีที่ไม่ได้ผล และส่งผลกระทบกับเรา หลายคนรับรู้ว่าการขันชะเนาะต้องรัดให้แน่นแล้วไปส่งโรงพยาบาล แต่ถ้ารัดแน่นเลือดจะไม่ส่งไปที่อวัยวะ ผู้บาดเจ็บอาจรอดจากงูกัด แต่อวัยวะอาจจะหายไป เพราะเลือดไม่เลี้ยง



ปัจจุบันจึงไม่ได้ใช้การขันชะเนาะแล้ว ใช้เป็น ‘การรัดดาม’ คือ การเข้าเฝือกอ่อน อุปกรณ์คือ ผ้าก๊อซพันเคล็ด 2 ผืน, อุปกรณ์ดาม เช่น กิ่งไม้ ท่อพีวีซีแบบตรง และผ้าสำหรับเอาไว้คล้องแขน ซึ่งอวัยวะที่งูกัด ส่วนมากจะมีอยู่ 2 จุด คือ มือกับเท้า



วิธีการรัดดาม มีดังต่อไปนี้

1.ใช้ผ้าก๊อซพันเคล็ดพันที่แขนหรือขาที่ถูกงูกัด เริ่มตั้งแต่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า เว้นระยะปลายไว้ดูว่าแน่นไปหรือไม่ พันให้หมดผืน สุดความยาวของแขนหรือขา

2.นำอุปกรณ์ดามมาทาบไว้คนละด้านกับข้อพับแขนหรือขา ให้ผู้บาดเจ็บช่วยจับไว้ด้วย

3.นำผ้าก๊อซพันเคล็ดผืนที่ 2 พันทับผืนเดิมและอุปกรณ์ดาม แรงของการพันต้องไม่ต่างจากผืนเดิม ต้องไม่ให้แน่นจนเกินไป ความยาวคือพันแค่ครึ่งหนึ่งของผืนแรกจนหมดผืน

4.ในกรณีที่โดนกัดที่แขน ให้นำผ้ามาคล้องแขนไว้ เพื่อพยุงแขน



แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้สำหรับการรัดดาม แนะนำให้ล้างแผลให้สะอาด ลดการเคลื่อนไหวบริเวณที่โดนงูกัด แล้วไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ถ้านั่งมอเตอร์ไซค์ ต้องมีคนกันการตกมอเตอร์ไซค์ด้วย เพราะผู้บาดเจ็บอาจจะหมดสติ



ส่วนวิธีที่ไม่ควรทำที่สุด คือการใช้ปากดูดพิษเหมือนในละคร ซึ่งจริงๆ แล้ว เมื่องูกัด พิษจะเข้าผ่านกล้ามเนื้อไปแล้ว ดูดซึมไปเรียบร้อย ปากจึงไม่สามารถดูดเอาพิษออกมาได้ แต่กลับทำให้สกปรกและแผลอักเสบด้วย นอกจากนี้ การใช้ไฟจี้ เอามีดกรีด หรือเอาสมุนไพรโปะ ต่างเป็นวิธีที่ไม่มีประโยชน์ นอกจากจะทำให้ติดเชื้อแล้ว อาจจะทำให้มีบาดแผลขนาดใหญ่ เสียเลือดมาก รวมถึงห้ามดื่มสุราด้วย เพราะจะทำให้การไหลเวียนดูดซึมพิษงูง่ายขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด



ในกรณีของการตีงูไปโรงพยาบาล ถ้าตีงูไปโรงพยาบาลได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะแพทย์จะได้ระบุชนิดของงูได้ และให้เซรุ่มได้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีงู ก็ไม่เป็นไร แพทย์ดูจากลักษณะบาดแผลได้ ถ้าเป็นฟันตัว U จะเป็นงูที่ไม่มีพิษ แต่ถ้าการกัดแบบ 2 จุด หรือมากกว่า 2 จุด และมีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน เช่น มือบวม แพทย์จะพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มไหน พิษระบบประสาทหรือพิษระบบโลหิต



กำมะถันกันงูได้?

หลายคนมีความเชื่อเรื่องสิ่งของบางอย่างที่อาจป้องกันงูได้ เช่น กำมะถัน หลายคนเชื่อว่ากำมะถันสามารถป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้านได้ จะพิสูจน์ให้ดูว่างูไม่ได้กลัวกำมะถัน สามารถเลื้อยผ่านได้เลย ปูนขาว ว่านต่างๆ เช่น ว่านเสลดพังพอน หลายคนมีความเชื่อว่างูกลัว ให้เปลี่ยนมาดูสาเหตุที่งูเข้าบ้านแทนว่ามาจากอะไร ซึ่งอาหารของงูเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควรดูแลเศษอาหาร เพื่อป้องกันหนูเข้าบ้าน และบ้านต้องเป็นระเบียบ ไม่รก





สุดท้ายหวังว่าทุกคนจะได้ความรู้เกี่ยวกับงูมากขึ้น ถ้าหากกลัวก็ควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย เหมือนอย่างที่ภิญโญเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้าได้จนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูถึงขั้นเซียน อย่างไรก็ตามเมื่อเจองูก็อย่าลืมติดต่อเจ้าหน้าที่ให้มาจัดการที่เบอร์ 199 มีบริการ 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้จัดการและควบคุมประชากรงูได้อย่างถูกต้องต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News