สังคม

ภาคใต้น้ำท่วมหนัก หลายพื้นที่ถนนถูกตัดขาด หาดใหญ่ยกธงแดง เร่งระบายน้ำ ป้องกันทะลักเขตเศรษฐกิจ

โดย parichat_p

27 พ.ย. 2567

229 views

เขตเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 37 ปี จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เช่นเดียวกับหลายอำเภอต่อเนื่องไปยังจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ซึ่งพบปริมาณฝนสะสมสูงเพียงวันเดียวเกือบเท่าน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2566 ทำให้น้ำท่วมในเขตเมืองปัตตานี และนราธิวาส รวมถึง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา อำเภอสะเดาที่มีน้ำท่วมแล้ว ส่งผลให้มีการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ด้วย



น้ำท่วมในเขตอำเภอเมือง และเขตเทศบาลนครยะลา ท่วมหนักตั้งแต่เช้าวันนี้ โดยเฉพาะหลายพื้นที่ที่ท่วมหนักในรอบ 37 ปี ตั้งแต่ปี 2530 เช่นที่หน้าสถานีรถไฟยะลา ซึ่งมีร่่นค้าที่เป็นย่านเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย รวมถึงในฝั่งตลาดเก่า หน้าโรงแรมยะลารามา ไปจนถึง ถนนวงเวียน 4 และหลายหมู่บ้านในตำบลสะเตงนอก ที่น้ำท่วมเข้าบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะท่วมหนัก เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยท่วม แต่ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้น้ำท่วมและไม่สามารถระบายลงแม่น้ำปัตตานีได้ทัน และไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนบางลาง ทำให่ทางเทศบาลนครยะลา ต้องเร่งหาทางระบายน้ำ เดินเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำจากบึงแบเมาะ ลงแม่น้ำปัตตานี ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และหลายอำเภอก่อนถึงเมืองยะลา ก็มีน้ำท่วมหนักเช่นที่อำเภอยะหา อีกทั้งที่จังหวัดปัตตานีมีน้ำท่วมแล้วเช่นกัน ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง อาจทำให้น้ำลดลงได้ช้า



สำหรับจังหวัดปัตตานี เจอน้ำท่วมหนัก ประกาศภัยพิบัติแล้ว 8 อำเภอ โดยเฉพาะที่อ.ยะรัง อำเภอยะหริ่ง ซึ่งพบปริมาณฝนสะสมสูงเพียงวันเดียว 493.8 มม. อำเภอหนองจิกสูงสุดสูงถึง 356.3 มม.และอำเภอโคกโพธิ์ ฝนมากถึง 353.8 มม.วึ่งผลให้น้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอโคกโพธิ์ สถานีรถไฟทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดวิ่งทั้งจากอ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เมือง จ.ยะลา สถานีโคกโพธิ์ น้ำท่วมโรงเรียนและบ้านประชาชน ต่อเนื่องไปถึงอำเภอมายา อำเภอทุ่งยางแดง น้ำท่วมต้องปิดโรงเรียน บ้านเรือนประชาชน โดยนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีแจ้งเตือนประชาชนรับมือน้ำท่วมต่อเนื่องจนกว่าจะหมดฤดูฝน



ส่วนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ฝนที่ตกหนังทำให้น้ำท่วมถนนหน้าบิ๊กซี ต่อเนื่องไปยังถนนเจริญประดิษฐ์ เส้นทางไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีน้ำท่วมขังตั้งแต่เช้า ร้านค้าปิดชั่วคราวและนำกระสอบทรายมากั้นไว้ รวมถึงย่านเศรษฐกิจ ที่ทางเทศบาลเมืองปัตตานี เร่งระบายน้ำทันทีที่ฝนทิ้งช่วงและเตรียมรับมือฝนตกหนักในคืนนี้ ร่วมถึงทะเลหนุนสูง และยังต้องเตรียมรับน้ำจากแม่น้ำปัตตานี ที่ท่วมหนักอยู่ในจังหวัดยะลา และน้ำจากแม่น้ำสายบุรี ที่มีฝนตกหนักอยู่ที่อำเภอสุคิริน ศรีสาคร รวมถึงอำเภอรามัน จังหวัดยะลา ที่ห่วงว่าจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมือปลายปีที่แล้ว



จังหวัดนราธิวาสมีปริมาณฝนสะสมสูงสุดเพียงวันเดียวที่ อ.ยี่งอ 504.6 ที่อำเภอบาเจาะ 450 มม.และที่อำเภอเมือง 417 มม ทำให้น้ำท่วมในเขตเมืองนราธิวาส และยังต้องรับน้ำทั้งจากแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนารา และแม่น้ำโกลก รวมถึงอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน ทำให้เขตเมืองนราธิวาสเจอน้ำท่วมรอบหลายปี และมากกว่าปลายปี 2566 เพราะบางจุดเพิ่งท่วมในปีนึั โดยพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 10 อำเภอ คือ บาเจาะ แว้ง รือเสาะ เจาะไอร้อง สุคิริน เมืองนราธิวาส สุไหงปาดี ตากใบ สุไหงโก-ลก และระแงะ รวมถึงอำเภอรือเสาะที่น้ำท่วมหนักเมื่อปลายปีที่แล้ว ยังต้องเฝ้าติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด



จังหวัดสงขลามีปริมาณฝนสะสมสูงสุดเมื่อวานนี้ ที่อำเภอเทพา 330.44 มิลลิเมตร และในหลายอำเภอที่มีรอยต่อกับจังหวัดปัตตานี อำเภอนาทวี ส่วนที่อำภอจะนะ เช่นที่ตำบลน้ำขาว น้ำท่วมถนนถูกตัดขาดหลายเส้นตั้งแต่เช้าวันนี้ เช่นเดียวกับที่อำเภอสะบ้าย้อย ที่บ้านทุ่งกลางน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตรแล้ว ซึ่งน้ำทั้งหมดต้องรอระบายลงทะเล



ส่วนที่อำเภอนาหม่อม อำเภอสะเดา ฝนตกหนักจนมีน้ำท่วมหนักบางพื้นที่ในรอบ 14 ปี นับจากปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่มีน้ำท่วมใหญ่เมืองหาดใหญ่ ทำให้ทุกภาคส่วนเตรียมเฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชน เนื่องจากพื้นที่ตามเน้นทางน้ำคลองอู่ตะเภา น้ำเข้าท่วมแล้ว โดยเฉพาะที่บ้านน้ำลัด ต.สำนักแต้ว อำเภอสะเดา น้ำป่าเข้าท่วมหมู่บ้านกว่า 100 หลังคาเรือน



ต่อเนื่องมายังบ้านทุ่งลุง ตำบลพะตงน้ำเริ่มล้นคลองอู่ตะเภา เข้าท่วมหมู่บ้านทุ่งลุง ถนนกาญนวานิช และบ้านย่านยาว คาดว่าคืนนี้น้ำท่วมที่ตลาดทุ่งลุง ทางเทศบาลตำบลพะตง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นน้ำท่วมในรอบ 12 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงบ้านปลักธง ตำบลคลองหวะ อำเภอหาดใหญ่ มีการยกธงแดงแล้ว รวมถึงเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ เทศบาลเมืองหาดใหญ่ ที่เร่งระบายน้ำผ่านคอง ร.1 และคลอง ร.6 เพื่อป้องกันน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ



ส่วนฝั่งทะเลสาบสงขลาทั้งที่อำเภอเมือง อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด ก็เริ่มท่วมแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในช่วงค่ำที่ผ่านมา ระดมอาสาสมัคร กำชับท้องถิ่น และฝ่ายปกครอง เตรียมพร้อมอพยพประชาชนมายังพื้นที่ปลอดภัย เพราะยังต้องเฝ้าติดตามฝนตกหนักจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้



ขณะที่นายสรรเพชญ บุญญามณี สส. จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมหนัก เพราะในหลายจังหวัดรุนแรงเกินกว่าปกติ โดยที่ จังหวัดสงขลา ยะลา และพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้ มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา และน้ำทะเลหนุนสูง จึงไม่อยากให้ซ้ำร้อยภาคเหนือ รัฐบาลควรสั่งการบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์อย่างเร่งด่วน

คุณอาจสนใจ

Related News