สังคม
เปิดร่าง พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อปิดช่องโหว่การลอบทิ้งกากเคมี
โดย chawalwit_m
17 พ.ย. 2567
226 views
จากกรณีที่โรงงานรีเไซเคิลเถื่อนลักลอบเปิดกิจการ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรงงาน และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งที่จริงแล้วกฎหมายโรงงาน เน้นอำนวยความสะดวก ให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้า และกฎหมายวัตถุอันตราย เน้นควบคุมสารเคมีวัตถุอันตรายที่จำเป็นสำหรับผลิตสินค้าในโรงงาน
ดังนั้น เมื่อมีการลักลอบทิ้งกาก อุตสาหกรรมปนเปื้อนสารเคมี จึงนำกฎหมายโรงงานและกฎหมายวัตถุอันตรายมาบังคับใช้ เพราะไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมโดยตรง ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะทำงานร่าง กฎหมายใหม่ ชื่อ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแยกกิจการที่เกี่ยวกับกากอุตสาหกรรม กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ออกจากโรงงานทั่วไป
พฤติกรรมการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนสารเคมีอัตรายในที่สาธารณะที่ชุมชนหรือแม้แต่เช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อทิ้งกากอุตสาหกรรม รวมถึง กรณีบริษัทรับกำจัดกาก ลักลอบทิ้งกากโดยไม่นำไปกำจัดตามเงื่อนไข และหรือโรงงานรีไซเคิล ไม่ปฎบัติตามเงื่อนไขกฎหมาย ได้สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนและสังคมหลายสิบปี
มีหลายแห่งที่ชาวบ้านฟ้องร้องแล้วคดีไม่คืบหน้า มีบางแห่งที่ฟ้องชนะศาลสั่งชดใช้กว่า 1.7 ล้าน แต่ไม่มีโอกาสได้เงินจากจำเลยมาแก้ปัญหา และยังไม่นับอีกหลายแห่งที่ทั้งชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐต้องเผชิญกับอิทธิพล และอำนาจเงินใต้โต๊ะของกิจการลักษณะนี้ จนปัญหายิ่งสะสมไปเรื่อย และแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะนำเงินนับพันล้านบาทที่มาจากภาษี มาแก้ปัญหาการลักลอบฝังสารเคมีของเอกชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่าปรากฎการณ์ที่พบโรงงานรีไซเคิลเถื่อนบ้าง การลักลอบฝังกากสารเคมีบ้าง ไม่ใช่เรื่องบัญเอิญ แต่เป็นการจงใจของผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน
เขาระบุว่าสิ่งที่กำลังทำขณะนี้มีสองส่วน ส่วนแรก คือสั่งการปราบปรามโรงงานเถื่อน หรือการลักลอบทิ้งเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องต้องดำเนินคดี ส่วนนี้เขาระบุว่าเป็นงานเฉพาะหน้าต้องทำเพื่อปราบปรามและยับยั้ง
ส่วนที่สอง คือช่องโหว่ทางกฎหมายที่กากอุตสาหกรรม และขยะอิเล็กทรอนิสก์ ไม่มีกฎหมายเฉพาะมากำกับโดยตรง แต่ต้องไปใช้พรบ.โรงงาน และพรบ.วัตถุอันตราย มาบังคับใช้ ซึ่งไม่ตรงทั้งหมด จึงตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายใหม่ ชื่อ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเลกทรอนิกส์ เพื่อแยกผู้ประกอบการคัดแยก และกำจัดกากขยะ ประเภท 101/105/106 มากำกับดูแลภายใต้ พรบ.ใหม่นี้มีการกำกับเข้มงวด ทั้งเงินค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าหลักประกัน เขาบอกว่าเจตนาของกฎหมายนี้ คือแยกโรงงานกากอุตสาหกรรม และขยะอิเลกทรอนิสก์ออกมาจากโรงงานประเภทอื่นให้ชัดเจน
ร่าง พรบ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่นายเอกนัฎ กล่าวถึง มีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานร่างฯขึ้น คาดว่าร่างแรกจะแล้วเสร็จภายในธันวาคมนี้ นายอรรถวิชช์ เชื่อว่าร่างนี้ จะช่วยปิดช่องโหว่ จากเดิมที่ โรงงานถูกสั่งปิดแล้วทิ้งกากสารเคมีไว้เป็นภาระสังคม แต่หาก พรบ.นี้บังคับใช้ เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจสั่งผิด และดำเนินคดีตามพรบ.กากอุตสาหกรรมฯได้ด้วย
นายเอกนัฎ ระบุว่าร่างพรบ.นี้ได้รับมติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะประสานฝ่ายเกี่ยวข้องรวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่นายอรรถวิชช์ เชื่อว่า หากแยกโรงงาน กากอุตสาหกรรม ออกจากโรงงานทั่วไป จะกำกับติดตามกากอุตสาหกรรมฯได้ง่าย และส่งเสริมโรงงานทั่วไปที่ไม่ใช่กากอุตสาหกรรมได้สะดวกด้วย
ข่าว 3 มิติ พบว่าภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างการร่างนั้น จะมีการตั้งกองทุน ฯเพื่อนำเงินมาใช้แก้ปัญหากากอุตสาหกรรมที่มีอยู่และส่งเสริมไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ โดยเงินนำเข้ากองทุนนั้น ฯ มีทั้งมาจากค่าธรรมเนียมบ้าง เงินหลักประกันบ้าง และเงินค่าเปรียบเทียบปรับจากโรงงานที่ทำผิดบ้าง
หากนำเข้ากองทุนฯทั้งหมด จะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม โดยเงินจากอุตสาหกรรม ซึ่งตรงเป้าหมายมากกว่าจะรอรับงบประมาณจากภาษีทั่วไป