สังคม

ถอดบทเรียนมหาอุทกภัย 'แม่สาย' แนะรัฐบาลวางแผนรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว

โดย chawalwit_m

11 พ.ย. 2567

481 views

เหตุการณ์น้ำป่าหลากทะลักทั้งที่ "แม่สาย" เเละ "เวียงป่าเป้า" ของ จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผ่านมาจนครบ 2 เดือนเเล้ว เเต่ร่องรอยความเสียหายยังปรากฏชัดเจน ท่ามกลางข้อห่วงกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งเกรงว่า ถ้าไม่เร่งกำหนดเเผนหรือมีมาตรการป้องกัน พอถึงช่วงฤดูฝนปีหน้า เหตุการณ์อาจจะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง


ล่าสุด "คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม วุฒิสภา" ลงพื้นที่สำรวจเเละนำผลศึกษามาวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรุนเเรงของภัยธรรมชาติ ก็คือสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในลำน้ำ เเละเห็นว่าในจุดเสี่ยงทุกพื้นที่ ควรมีระบบเเจ้ง-เตือนภัยที่เข้าถึงง่ายเพื่อรักษาชีวิต


มหาอุทกภัยที่เเม่สายเมื่อ 2 เดือนก่อน สร้างความเสียหายเเละส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ความรุนเเรงของกระเเสน้ำในขณะนั้น ทำให้อาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ติดริมเเม่น้ำสาย เเละที่อยู่ในทิศทางไหลของน้ำ ยังคงมีสภาพอย่างที่เห็น


จากผลกระทบที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายร่วมกันถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภาในฐานะประธานกรรมาธิการฯ หยิบยกประเด็นนี้เป็นวาระด่วน ก่อนหน้านี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ-เสนอเเนวทาง ก่อนจะลงพื้นที่เข้าสำรวจเเละพบว่า


นอกจากปริมาณฝนสะสมที่เกิดจากการเเปรปรวนของสภาพอากาศ ตะกอนดินที่เกิดจากการทำเหมืองในฝั่งพม่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลต่อความความรุนเเรงก็คือ สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในล้ำน้ำ จะเห็นว่าทั้ง 2 ฝั่งเเม่น้ำสาย โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านเขตเทศบาลตำบลเเม่สาย ตลาดสายลมจอย เเละชุมชนใกล้เคียง เกาะทราย ไม้ลุงขน เเม่น้ำมีลักษณะถูกบีบเเละเเคบ


ขณะนี้ท้องถิ่นเเละจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาระยะร่น 40 เมตรจากลำน้ำ ซึ่งจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน ขอย้ายจุดที่ตั้งอาคารบ้านเรือนออกมาเพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตเเละทรัพย์สิน


บ้านหวยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งจุดพื้นที่ห่างไกลที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำหลาก สาดซัดอาคารเรียน ทรัพย์สิน เเละบ้านเรือนบางส่วนหายไปกับกระเเสน้ำ เหตุการณ์วันนั้น ยังสร้างความหวาดผวาให้กับผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะในวันที่ฝนตกหนักต่อเนื่อง พวกเขากังวลว่า เหตุการณ์อาจจะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง

กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา พบว่า ที่นี่โดดเด่นเรื่องการอนุรักษ์ดินเเละน้ำ มีเครือข่ายที่เข้มเเข็ง เเต่การตั้งถิ่นฐานบริเวณร่องน้ำเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง เเละมีโอกาสเกิดได้อีก จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องร่วมกันออกเเบบเพื่อลดผลกระทบ


การเตือนภัยที่เข้าถึงง่ายเเละทั่วถึง ก็เป็นอีกข้อเสนอ ที่กรรมาธิการฯเห็นว่ารัฐต้องสนับสนุน มีการฝึกอบรม เเละเอามาปรับใช้ โดยเฉพาะที่บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งมีเเค่ไฟฟ้าระบบโซล่าเซลล์ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์


ข้อมูล ข้อเสนอเเนะ เเละรายงานการศึกษาทั้งหมด กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม จะรวบรวมเสนอต่อสภาเเละส่งถึงรัฐบาล เพื่อกำหนดเป็นนโยบาย วางเเผนระยะสั้นเเละระยะยาว


เช่นเดียวกับปัญหาดินโคลนถล่ม ปีนี้มีผู้เสียชีวิต เเละบ้านเรือนพังเสียหายจำนวนมาก ล่าสุด ก็มีชาวบ้านที่ อ.เเม่อาย จ.เชียงใหม่ สะท้อนปัญหานี้ฝากถึงกรรมาธืการเเละรัฐบาลด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News