สังคม
เปิดปฏิบัติการทลายโรงงานรีไซเคิลเถื่อนฉะเชิงเทรา ยึดเครื่องจักร-ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คาดลอบย้ายมาจากชลบุรี
โดย panwilai_c
8 พ.ย. 2567
545 views
การลักลอบประกอบกิจการรีไซเคิลขยะโดยผิดกฎหมาย ยังถูกตรวจพบอยู่เป็นระยะ ซึ่งการทำผิดกฎหมายเช่นนี้ นานเข้าก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ระยอง ซึ่งเมื่อจะแก้ปัญหาก็กลายเป็นภาระงบประมาณของรัฐ ที่มาจากภาษีประชาชน
ล่าสุดวันนี้กรมโรงงาน อุตสาหกรรม พร้อมตำรวจ บก.ปทส. นำหมายศาลไปค้นและยึดอายัดทั้งเครื่องจักรและขยะรีไซเคิลจำนวนมาก ที่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยพบการประกอบกิจการ และเดินหน้า ขยายโรงงานอย่างคึกโครม ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตใดๆ เข้าข่ายประกอบกิจการเถื่อนทั้งหมด
ตำรวจ ปทส. พร้อมเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม นำหมายศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าค้นโรงงานตามแปลงที่ดิน ที่หมู่ 12 ตำบลแปลงยาว อ.แปลงยาว โดยพนักงานบริษัท เอวาย แอลพี สาขาแปลงยาว ซึ่งเป็นบริษัทให้เช่าที่ดินดังกล่าว เป็นผู้นำค้น
ก่อนหน้านี้ตำรวจ ปทส.พบเบาะแสว่ามีการลักลอบครอบครองขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะที่เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย รวมถึงลักลอบประกอบกิจการโดยแรงงงานกว่า 100 คน กระทั่งศาลอนุมัติหมายค้นอาคารทุกหลัง บนพื้นที่กว่า 150 ไร่ดังกล่าว
อาคารหลังนี้ เลขที่ 333/9 เป็นโรงงานไม่มีชื่อ ที่ชาวจีนคนหนึ่งมาเช่าที่ดินของบริษัทเอวาย แอลพี เพื่อลักลอบรีไซเคิล ขณะเข้าตรวจค้นวันนี้ ไม่มีทั้งเจ้าของโรงงาน และไม่มีทั้งแรงงาน แต่ภาพจากล้องวงจรปิดบันทึกไว้ เมื่อวันที่ 4 ที่ผ่านมา ยังพบคนงานทำงาน พร้อมชายที่ถูกระบุว่าอาจเป็นเจ้าของ ในห้องพักของโรงงานนี้ มีบัตรลงเวลาเข้าออกของคนงาน ไล่ลำดับถึงกว่า 90 ลำดับ เฉพาะค่าไฟเดือนที่แล้ว กว่า 2 แสน 9 หมื่นบาท
เป็นที่น่าสังเกตุว่า อุปกรณ์ชั้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่นี่ มีหลายประเภท ทั้งหมดจะถูกเจาะ ทุบ สกัด บด หรือคัดแยกออกมาเป็นทองแดง เหล็ก ตะกั่ว อลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งถือเป็นวัสดุมีค่าในการนำไปรีไซเคิล
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นขยะที่มีมูลค่า แต่โรงงานี้ไม่มีใบอนุญาตใดๆทั้งสิ้นไม่ว่าจะโดยพรบ.โรงงานแหรือ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย
ข้อมูลเชิงลึกพบว่าที่ดินกว่า 150 ไร่นี้ แม้เจ้าของเป็นคนไทย แต่มีชาวจีนมาเช่าระยะยาว จากนั้นก็แบ่งล็อคเพื่อกระจายให้ชาวจีนคนอื่นๆ มาเช่าต่อ ซึ่งส่วนใหญ่รู้จักกัน ทำธุรกิจรีไซเคิลขยะคล้ายกัน และข่าว 3 มิติพบว่าลักขณะขยะที่นำมาเป็นวัตถุดิบที่นี่ คล้ายกับที่เคยพบในตำบลคลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
ซึ่งขณะนี้ที่ต.คลองกิ่ว แตกกระจายไปหมดแล้ว จึงน่าสงสัยว่าถูกขนมาที่นี่ด้วยหรือไม่ ซึ่งผอ.กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ระบุว่า มีข้อสงสัยเช่นนั้นจริง แต่ก็ยังต้องตรวจสอบให้ละเอียด และไม่ว่าจะมาจากที่ใด การประกอบการที่นี่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตใดๆ
เช่นเดียวกับ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งร่วมตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่วันนี้ พบว่าในโรงงานกว่า 10 หลังที่ตั้งอยู่ แบ่งแยกชนิดของกาก วัสดุกันชัดเจน เช่นบางหลังจะเน้นไปที่การสกัดชำแหละกลุ่มเหล็ก ตะกั่ว โรงงานบางหลัง สกัดและหลอมพลาสติก และโรงงานบางหลังก็มีสารเคมีที่เป็นของเหลว ที่เตรียมนำมาหลอม ซึ่งทั้งหมดจะถูกดำเนินคดี ยึดอายัด และต้องเฝ้าระวังการลักลอบเคลื่อนย้ายของกลางที่ยึดอายัดไว้ด้วย
นอกจากนี้บรรดาโรงงานที่ตั้งขึ้นแล้วโดยไม่ได้ขออนุญาต เจ้าหน้าที่ยังพบว่ามีแปลงที่ดินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายเพิ่มเติม และที่ดินเปล่าที่รอการเช่าหรือก่อสร้าง ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะเป็นอาณาจักรรีไซเคิลขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ กิจการเหล่านี้สร้างขึ้นและประกอบการได้อย่างไรในเวลาอย่างน้อย 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีแรงงานกว่า 100 คน แต่กลับไม่มีใบอนุญาตใดๆ
ยังไม่นับว่า บรรดาขยะอิเล็กทรอนิสก์ ซึ่งสังเกตุได้ว่าจำนวนมากมีขนาดใหญ่ และจำนวนมากที่น่าเชื่อว่านำเข้าจากต่างประเทศ แต่กลับขนส่ง ลำเลียงมาอยู่ในโรงงานเถื่อนเหล่านี้ได้ราวกับเป็นพื้นที่เสรี
มีเบาะแสจากตำรวจ ปทส. ถึงพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ที่ไม่ต่างจากการทำทัวร์ศูนย์เหรียญ คือนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ มาคัดแยก หลอม และหล่อ ในประเทศไทย แล้วนำวัสดุมีค่ากลับไป ทิ้งไว้เพียงกากขยะที่เป็นอันตราย ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างแกะรอยคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ติดตามรายละเอียดวันพรุ่งนี้