สังคม

ตร.ส่งสำนวนคดี 'ดิไอคอน' เกือบ 1 แสนแผ่นให้ DSI แล้ว-'บิ๊กเต่า' มั่นใจ เอาผิดกลุ่มรีดเงิน 'บอสพอล' ได้

โดย parichat_p

28 ต.ค. 2567

10 views

คืบหน้าคดีดิไอคอน ล่าสุด ตำรวจบก.ปคบ. นำบันทึกคำให้การ หลักฐาน เเละเอกสารที่ใช้ประกอบการทำสำนวนคดีล็อตแรก จำนวนกว่า 30 ลัง ส่งมอบให้"ดีเอสไอ"เเล้ว ส่วนทนายความของ"บอสพอล" เตรียมดำเนินคดีกับ 5 แม่ข่าย โดยกล่าวหาว่า คนกลุ่มนี้ต่างก็ได้เงินจาก"ดิไอคอน" แต่กลับทำเนียนอ้างเป็นผู้เสียหาย ซึ่งในจำนวนนี้ทนายความบอกว่า มี"กบ ไมโคร" รวมอยู่ด้วย


นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล เปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมกลุ่มผู้ต้องหา ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยบอกว่า วันนี้เข้าไปรายงานสถานการณ์ให้ลูกความทราบว่า ขณะนี้สำนวนคดี ถูกโอนไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบเเล้ว ซึ่งทางทีมทนายและผู้ต้องขังก็ไม่ได้หนักใจอะไร เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีประสบการณ์ในการทำคดีประเภทนี้


โดยทีมทนายความ เตรียมทำหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอเปลี่ยนสถานะกลุ่มเเม่ข่ายอย่างน้อย 5 ราย จากเดิมที่อ้างตัวเป็นผู้เสียหาย ให้กลายเป็นผู้ต้องหาร่วมกัน


ประกอบด้วย / นายทินภัทร ตันตระเศรษฐี หรือ ฮัท / นางสาวชลธิชา ทรัพย์เพิ่มเสถียร หรือ ลูกตาล / นายไกรภพ จันทร์ดี หรือ กบ ไมโคร / นางสาวหนึ่งฟ้า และ นางสาวอโณทัย รวม 5 คน โดยทนายความ จะเข้าไปยื่นหนังสือที่"กรมสอบสวนคดีพิเศษ"วันพรุ่งนี้


นายวิฑูรย์ บอกว่า ทั้ง 5 คน เป็นแม่ข่ายที่มีลูกทีมมากกว่าร้อยคน และมีพฤติการณ์ชักชวนให้มาร่วมลงทุนเปิดบิลซื้อสินค้า 250,000 บาท โดยที่ผู้ต้องขังทั้ง 18 คนไม่ทราบรายละเอียด และยืนยันว่า การทำหนังสือขอเปลี่ยนสถานะไม่ใช่การข่มขู่ แต่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งทั้ง 5 คนนี้ จะต้องมาพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมเหมือนกับบอสทั้ง 18 คน ที่กำลังทำอยู่เเละทีมทนายความ อยู่ระหว่างคัดสำนวน เตรียมดำเนินคดีกับบุคคลที่อ้างเป็นผู้เสียหายกว่า 2,000 คน


ส่วนความคืบหน้าทางคดี ล่าสุด เมื่อ 15.35 น. ตำรวจบก.ปคบ. ได้นำเอกสารสำนวนล๊อตแรกจำนวนกว่า 30 ลัง มาส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเเล้ว โดยในลังเอกสารเหล่านี้ ประกอบด้วย คำให้การของผู้ต้องหาและผู้เสียหาย รวมถึงบันทึกจับกุม คำให้การพยานบุคคล และผลตรวจค้นพยานหลักฐานต่าง ๆ


พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เดินทางมาส่งมอบหนังสือ เเละแจ้งพฤติการณ์แห่งคดีด้วยตัวเอง โดยมี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับมอบหนังสือและรับสำนวนคดี ซึ่งมีมากถึง 81,000 แผ่น ส่วนคดีการรีดไถเงินหรือคลิปเสียงต่าง ๆ นั้น ยังอยู่ในอำนาจการสอบสวนของ"ตำรวจสอบสวนกลาง"


ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ บอกว่า วันพรุ่งนี้เวลา 9.00 น. ทางดีเอสไอ โดยคณะทำงานพิจารณารับคดีพิเศษ จะประชุมเพื่อพิจารณาสำนวนคดีดิไอคอน ว่าเข้าข่ายจะเป็นคดีพิเศษหรือไม่เเต่ถ้าตรวจสอบแล้ว พบว่า สามารถตั้งข้อหาเพิ่ม คือข้อหาแชร์ลูกโซ่ได้ ก็จะเข้าเงื่อนไข รับเป็นคดีพิเศษได้ทันที



ส่วนกรณีกล่าวหาเเละอ้างว่า มีกลุ่มเทวดา นักร้องเรียน เเละทนายความบางคน มีพฤติกรรมข่มขู่-กรรโชกทรัพย์จากผู้บริหารดิไอคอน / พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีหนึ่งคดีที่มีความชัดเจน ทั้งนี้ได้ประสานกับนายวิฑูรย์ ทนายความของบอสพอลเเล้ว


คดีนี้เป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงอยากทำคดีนี้ให้เป็นต้นแบบ เป็นบรรทัดฐานว่ากลุ่มที่อ้างตัวว่าทำจิตอาสา ทำเพื่อประชาชน เเต่กลับไปดำเนินการที่มิชอบ


พล.ต.ต.จรูญเกียรติ บอกว่า การทำคดีต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ยืนยันว่าคดีนี้ไม่ใช่ไปช่วยดิไอคอน แต่เป็นเรื่องของกลุ่มที่อ้างตัวว่าจะช่วยเหลือประชาชน และไปบังคับขูดรีดกับเจ้าของกิจการ เบื้องต้นน่าจะชัดเจนเเละสามารถเอาผิดได้ก่อน ประมาณ 4-5 ราย


ขณะที่การประชุมวุฒิสภาวันนี้ มีวาระที่ให้สมาชิกตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้กับรัฐบาลด้วย ที่น่าสนใจ ก็คือ นายชิบ จิตนิยม สว.สายสื่อมวลชน ถามน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการแก้ปัญหากรณีความเสียหายจากธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป ที่มีผู้เสียหายเกือบ 10,000 คน และลุกลามไปเกือบ 20 ประเทศ ทั้งเอเชียและยุโรป


ช่วงหนึ่ง สว.ชิบ ตั้งคำถามว่า การส่งคดีให้กับดีเอสไอ ถูกต้องหรือไม่ เพราะหากดำเนินการไม่เสร็จตามกรอบเวลา อาจจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาจากการคุมขัง ทำให้ผู้ต้องหารอดคดีรวมถึงมาตรการควบคุมป้องกันการใช้สื่อหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ให้โฆษณาหลอกลวงประชาชน โดยการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ



โดยฝั่งรัฐบาล วันนี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีฯกระทรวงดีอี มาตอบกระทู้แทน ยืนยันว่า รัฐบาลมีมาตรการป้องกันตามกฎหมาย คือ


1.พ.ร.บ.การขายตรง ซึ่งในกรณีของดิไอคอน เป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่ตรงตามที่จดทะเบียนไว้

2. พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และหลอกลวงประชาชน

3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกระทรวงดีอี ได้เฝ้าระวังเรื่องและติดตามในส่วนนี้


จากข้อมูล ขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง 693 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจแบบตรง 935 ราย

ส่วนเหตุผลที่โอนคดีให้"ดีเอสไอ" / นางสาวจิราพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สคบ. บอกว่า คดีนี้มีประชาชนเสียหายแจ้งความ 9,000 รายแล้ว มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ถือว่าเข้าเงื่อนไขที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับไปดำเนินการต่อ

คุณอาจสนใจ

Related News