สังคม

เปิดใจคนเจ็บเหตุการณ์ตากใบ ลั่นต้องสู้เพื่อคนที่จากไป ด้านคกก.สร้างสันติภาพฯ จี้รบ.เร่งติดตามตัวผตห.มารับผิด

โดย panwilai_c

17 ต.ค. 2567

31 views

ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ ยืนยันถึงสาเหตุการกลับมาฟ้องคดีอาญา เพื่อต้องการความยุติธรรม เพราะไม่ได้มีความผิด ขณะที่นักวิชาการ ยืนยันว่า เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ญาติจะฟ้องได้ แม้เคยมีจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว ด้านและคณะกรรมาธิการศึกษาการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องรัฐบาลเร่งนำตัวผู้กระทำผิดมาขึ้นศาลให้ทันอายุความ



มะรีกี ดอเลาะ หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ต้องเดินด้วยไม้เท้าสองข้าง เพราะกลายเป็นคนพิการขาขวา ถูกตัดไปจากบาดแผล ที่เขาไม่รู้ตัวว่าถูกยิงที่หน้า สภ.ตากใบ ในวันนั้น ส่วนมือสองข้างก็ใช้การไม่ได้ กลายเป็นมือที่หงิกงอ จากการถูกมัดมือไขว้หลัง แล้วถูกวางซ้อนในรถบรรทุกทหาร มะรีกี ถูกทับอยู่ในชั้นที่สอง นอนกองรวมกันกับเพื่อนนานกว่า 6 ชั่วโมง



มะรีกี เล่าเหตุการณ์วันนั้นได้อย่างแม่นยำ เขายืนยันว่าไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่ถูกจับกุมไปด้วยและถูกถอดเสื้อ ระหว่างนอนรอขึ้นรถทหาร ถูกให้นอนซ้อนก้น เขาต้องห่อตัวเพื่อให้มีช่องอากาศหายใจ และกลืนน้ำลายแทนน้ำเพื่อเปิดปอซอ และคิดว่าตัวเองจะตายไปแล้ว



มะรีกี บอกว่า เขามีชีวิตเป็นคนพิการมา 20 ปี เขาโชคดีที่รอดชีวิต ที่ผ่านมาเขาไม่ได้อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่พูดออกไป เราจะอยู่กับความผิดไปตลอดชีวิต ทั้งๆที่ไม่ได้ผิด



มะรีกี ย้ำถึงเหตุผลที่เขาร่วมกับญาติผู้เสียชีวิต ยื่นฟ้องอดีตข้าราชการระดับสูง ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 85 คน ถึงเวลาต้องออกมาพูดเพื่อทุกคน เพื่อศักดิ์ศรีของเรา ถ้าไม่ลุกมาพูด จะกลายเป็นคนผิดไปตลอด ทั้งๆที่ไม่ได้ผิดอะไร ส่วนคนผิดก็ลอยนวลไปตามกาลเวลา



ซึ่ง ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ย้ำว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้เสียหายทั้งญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่จะยื่นฟ้อง แม้รัฐบาลอ้างว่าจะจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว และรัฐต้องไม่ละเลย ต้องเร่งนำต้วผู้ต้องหามาดำเนินคดีให้ทันหมดอายุความ เพื่อไม่จุดเชื่อไฟในจ้งหวัดชายแดนภาคใต้ลุกลามขึ้นอีกเพราะเหตุการณ์ตากใบ ต่างจากเหตุความมั่นคงอื่นทั้งการปล้นปืน มัสยิดกรือเซะ เพราะตากใบเป็นการออกมาชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพ และเป็นกรณีตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจผ่านกฏหมายพิเศษ อย่างกฏอัยการศึก ทึ่ใช้อ้างได้ว่ากระทำการได้โดยไม่มีคววามผิด



ขณะทึ่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาฯการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ออกแถลงการณ์ ระบุว่าแม้ว่ารัฐบาลจะได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสีย โดยมีการกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 และมีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วน เกี่ยวข้อง ถูกอัยการระงับการสอบสวนไปเมื่อปี 2549 เนื่องจากไม่พบตัวผู้กระทำผิด



และคดีการเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธฯ ก็ยุติการดำเนินคดีไปเมื่อปี 2552 โดยตำรวจ สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ลงความเห็นว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายของผู้ตายทั้ง 78 ราย เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามหน้าที่ มิได้เป็นผลแห่งการกระทำความผิดอาญา จนตำรวจเพิ่งส่งสำนวยอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ่อง เมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังญาติออกมาทวงถาม จึงเรียกร้องให้เร่งรำตัวมาลงโทษ เพื่อป้องกันปัญหาทั้งความรุนแรงและทำลายกระบวนการสร้างสันติภาพ



คณะกรรมาธิการเห็นว่ารัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมาและ ให้ความยุติธรรมกับผู้สูญเสียทุกคน ด้วยการนำผู้ถูกกล่าวหามาแสดงตนเพื่อพิสูจน์ตนเอง ต่อศาลตามระบบยุติธรรมต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News