สังคม

วัคซีนยังจำเป็นไหม? เมื่อ 'โควิด-19' ถูกถอดจากโรคติดต่ออันตราย แต่ไทยกลับครองสถิติติดเชื้อมากสุดในอาเซียน

โดย panwilai_c

12 ต.ค. 2567

176 views

ผ่านมากว่า 4 ปี ตอนนี้โควิด 19 ก็ถูกถอดออกจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อประจำถิ่น แต่ก็ยังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรครายงานพบผู้ป่วย เฉลี่ย 40 คนต่อวัน รวมสะสมตั้งแต่ต้นปี 39,344 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบและต้องใช้ท่อช่วยหายใจอยู่อีกกว่า 200 คน



ทำให้ตอนนี้ไทยมีสถิติติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด 19 มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยยืนยันว่าวัคซีนยังมีความจำเป็นกับกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ติดปัญหาที่ตอนนี้ไม่มี วัคซีนฟรีให้บริการแล้ว ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้



เวทีเสวนา สถานการณ์โควิด 19 และ ความจำเป็นในการป้องกันของประชากรกลุ่มเสี่ยง จัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีตัวแทนของแพทย์และผู้ป่วยกลุ่ม 608 เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น



ข้อมูลสถานการณ์ โควิด-19 ของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2567 ไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 มากกว่า 700,000 คน โดยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล กว่า 48,000 คนและเสียชีวิตมากถึง 205 คนถือเป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



สอดคล้องกับข้อมูลของกรมควบคุมโรคในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าตอนนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ 149 คนและต้องใช้ท่อช่วยหายใจอีก 61 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็ขยับขึ้นเป็น 211 คน โดยส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว ซึ่งห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง จึงทำให้เกิดโรครุนแรงและภาวะแทรกซ้อนตามมา



รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยระบุว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณสองถึงสามเท่า ขณะเดียวกันโอกาสเสียชีวิตก็จะสูงขึ้นประมาณสองถึง 10 เท่าเช่นกัน



เมื่อ โควิด-19 ถูกปรับให้เป็นโรคประจำถิ่น ประเทศไทยจึงยกเลิกการนำเข้าวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ตอนนี้มีวัคซีนสำรองอยู่ในโรงพยาบาลไม่กี่แห่งเท่านั้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรับวัคซีนก็สูงในราคาหลักพันบาทต่อเข็ม ทำให้กระทบต่อผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงซึ่งยากที่จะเข้าถึงวัคซีนเหล่านี้



นายธนพล ดอกแก้ว ผู้ป่วยโรคไต ได้สะท้อนปัญหาที่พวกเขาต้องพบเจอ ว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกัน โควิด-19 ด้วยการสนับสนุนวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยง แม้พวกเขาจะดูแลระมัดระวังตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ได้ แต่สิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ คือ การปกป้องตัวเองด้วยวัคซีน เพราะตอนนี้วัคซีนอยู่เกินเอื้อมในความสามารถของประชาชนทั่วไปแล้ว



ปัจจุบันวัคซีนที่นำมาใช้ป้องกันโรค โควิด-19 เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอเพราะสามารถปรับปรุงสูตรได้ทันต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อ ที่เปลี่ยนแปลงอยู๋ตลอดเวลา ในขณะที่ภูมิคุ้มกันก็ลดลงเรื่อยๆ



ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ยืนยันว่าวัคซีนโควิด 19 ยังมีความจำเป็นไม่ต่างจากวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในทุกวันนี้ แม้จะมีกระแสต่อต้านเรื่องผลข้างเคียงในโรคกล้ามเนื้อหัวใจ แต่จากการเก็บข้อมูลก็พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้น ในอัตราส่วนสองต่อ 1,000,000 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับความเสียงที่จะเกิดขึ้นจากการติดโควิด-19



ข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบว่าการระบาดใหญ่ ของโควิด19ในประเทศไทยแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงสงกรานต์และช่วงปลายปี ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมากตามสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งการเดินทางที่เพิ่มขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า จะพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ทางป้องกันหนึ่งที่รัฐเคยรณรงค์ให้ผู้เข้าเข้ารับวัคซีน กลับเป็นอำนาจที่ประชาชนกลุ่มเปราะบางไม่มีสิทธิ์เข้าถึงได้โดยง่ายเหมือนที่ผ่านมา

คุณอาจสนใจ

Related News