สังคม

'ภาคปชช.' สรุปปัญหาการรับสมัคร สว. ระบบไม่อำนวย เรียกร้อง กกต. ไม่อุทธรณ์ระเบียบการแนะนำตัว

โดย parichat_p

25 พ.ค. 2567

49 views

เครือข่ายภาคประชาชน สรุปปัญหาการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา พบว่า ระบบไม่อำนวยความสะดวก ทำผู้สมัครไม่ถึงห้าหมื่นคน และเรียกร้อง กกต. ไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง เรื่องระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร ไม่ให้กระทบสิทธิของประชาชน และขอให้ประชาชนร่วมกันจับตาในขั้นตอนการเลือกระดับอำเภอ หลังพบการเกณฑ์คนมาสมัครในหลายอำเเภอ


เครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย We Watch, iLaw, ActLab, เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญและคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวสรุปปัญหาการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งพบปัญหาเช่น กลไกการสมัครล่าช้า สร้างภาระให้ประชาชน ,เจ้าหน้าที่สับสน ทำให้การรับสมัครล่าช้า และขาดการอำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ และผู้พิการ และระยะเวลารับสมัครเพียง 5 วันน้อยเกินไป ทั้งๆที่มีเวลาทำได้ 7 วัน


นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาชน ยังตั้งข้อสังเกต และข้อกังวลเกี่ยวกับการทุจริต และการซื้อเสียง ซึ่งเจ้าหน้าที่เสี่ยงเปิดเผยข้อมูลผู้สมัครก่อนพ้นเวลารับสมัคร รวมถึงพบรายงานความผิดปกติเกี่ยวกับการระดมคน การจ่ายเงินจ้างให้ลงสมัคร และการขนคนไปสมัครพร้อมกันในหลายพื้นที่ หลายกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของผู้ที่มาสมัครกันเป็นกลุ่มใหญ่กับข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น และยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือก สว. ยังเป็นข้าราชการซึ่งมักมีความสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จึงเรียกร้องให้ร่วมกันตรวจสอบ


เครือข่ายภาคประชาสังคม ยังเรียกร้องไปยัง กกต. ต้องประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัคร สว. โดยเร็ว ต้องให้ผู้สมัครสว. และประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ทางระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม กรณีที่ไม่รับสมัครบุคคลใด กกต. ต้องระบุเหตุผลที่ชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ต้องมีการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องอำนวยความสะดวกให้กับบุคคที่ต้องการยื่นคัดค้านผลการวินิจฉัย และต้องประกาศสถานที่เลือกในระดับอำเภอโดยเร็ว และต้องเป็นสถานที่ที่เป็นที่รู้จัก เดินทางไปได้โดยสะดวก ต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตการณ์การเลือก สว. ได้ตลอดกระบวนการ


องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ยังตั้งข้อกังวลเรื่องระเบียบ กกต. ว่าด้วยเรื่องการแนะนำตัว ที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะผู้สมัคร ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ทำให้การแนะนำตัวไม่เป็นสาธารณะเท่าที่ควร ไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม และถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับผู้สมัครบางกลุ่ม จึงเรียกร้องไปยัง กกต. ว่า กกต. ต้องไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัว และแถลงยืนยันอย่างเป็นทางการ และเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจน และหาก กกต. เลือกที่จะออกระเบียบในการแนะนำตัวใหม่ ระเบียบที่ออกมาจะต้องไม่ขัดกับแนวทางที่ศาลปกครองวางไว้ ไม่จำกัดการรับรู้หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร สว. และ ต้องคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ

คุณอาจสนใจ

Related News