สังคม

ย้อนรอยคดียิง 'สารวัตรศิว' หลังศาลฯสั่งจำคุก ตร.-พลเรือน รวม 22 ราย ร่วมงานเลี้ยงบ้าน 'กำนันนก'

โดย panwilai_c

9 เม.ย. 2567

29 views

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก"ตำรวจและพลเรือน" ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์งานเลี้ยงบ้าน นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ตั้งแต่ 1 ปี 4 เดือน จนถึง 2 ปี "ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน" จากกรณีที่ "นายหน่อง"มือปืนและเป็นลูกน้องของ"กำนันนก" ก่อเหตุยิง"สารวัตรศิวกร สายบัว" เสียชีวิตต่อหน้าข้าราชการตำรวจในงานเลี้ยง แต่กลับไม่มีใครที่พยายามสกัดกั้นหรือจับกุม และต่อมาพบว่ามีตำรวจบางนาย ขับรถนำขบวนพากลุ่มผู้ก่อเหตุหนี คดีนี้เป็นคนละส่วนกับคดีจ้างวานฆ่า มีผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นจำเลย มากถึง 23 คน ในจำนวนนี้ 16 คนเป็นตำรวจ อีก 7 คน เป็นพลเรือน ส่วน กำนันนก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหาร ถูกพิพากษาจำให้คุกในคดีนี้เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา



ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ อท 206 / 2566 ระหว่างพนักงานอัยการ กับ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ หรือเกียรติ สมสุข กับพวก รวม 23 คน เป็นจำเลย



โดยจำเลยที่ 1 - 16 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ถูกฟ้องฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่วนจำเลยที่ 17 - 23 เป็นราษฎร เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน



ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ใจความสำคัญช่วงหนึ่งระบุว่า "อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้ความใส่ใจคดีประวัติศาสตร์นี้มาก เพราะประชาชนทั่วทั้งประเทศให้ความสนใจ ตำรวจทั่วทั้งประเทศก็คอยติดตามรอฟังคำพิพากษานี้ ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใด ศาลจะวางหลักบรรทัดฐานว่าอะไรเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อเกิดเหตุความผิดซึ่งหน้าหรือการเผชิญเหตุ เพราะไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อนเลย ถือว่าสะเทือนวงการตำรวจ"



ตำรวจได้ตระหนักถึงอำนาจและหน้าที่ตามกฏหมายมีเพียงใด รวมถึงจรรยาบรรณ และจิตสำนึกของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อันจะเป็นที่พึ่งของประชาชน ไม่ใช่พอเกิดเหตุแล้วไม่กระทำการใด ๆ เลย หรือจะทำการเพียงเล็กน้อยแล้วแยกย้ายหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ



คดีนี้ศาลสอบปากคำพยานเกือบ 40 ปาก พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องกับกล้องวงจรปิด และการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลยแต่ละคน และเอกสารมากกว่า 6,700 แผ่น

ใช้เวลาพิจารณา 5 เดือน 9 วัน ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 23 คน ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทและหลายกรรมต่างกัน



โดยกำนันนก จัดงานเลี้ยงแล้วเชิญตำรวจจากหลายหน่วยงาน และคนสนิทมาร่วมงานจำนวนมาก แต่เกิดไม่พอใจกับสารวัตรศิวกร จึงให้นายหน่อง ยิงสารวัตรศิวกร จำเลยที่ 1-16 เป็นตำรวจเห็นเหตุการณ์แต่กลับไม่จับ และบางคนกลับรีบขับรถหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ



นอกจากนี้จำเลยที่ 1-2 และ 5 คือ พันตำรวจตรี เกียรติศักดิ์, ร้อยตำรวจโท ประสาร รอดผล และ ร้อยตำรวจโท สรรเสริญ ศรีสวัสดิ์ ยังร่วมกัน พากำนันนกหลบหนีจากบ้านที่เกิดเหตุ แล้วยังช่วยกันนำปืนที่ใช้ก่อเหตุไปทำลายหลักฐาน



แต่จำเลยที่ 1-13 เป็นตำรวจปฏิบัติราชการ มีผลงานและคุณความดีมาก่อน ทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เช่นเดียวกับจำเลยที่ 17 ถึงที่ 21 และที่ 23 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน จึงมีเหตุบรรเทาโทษ / เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 1- 3 และที่ 5 จำคุกคนละ 2 ปี / จำเลยที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 20 และที่ 23 คนละ 1 ปี 4 เดือน / จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 คงให้ปรับคนละ 40,000 บาท / จำเลยที่ 21 คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน 10 วัน / ส่วนจำเลยที่ 22 ก็คือนายประวีณ หรือ กำนันนก ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีตลอดมา จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ



ขณะที่จำเลยที่ 9 - 11 เพิ่งเข้ารับราชการตำรวจ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ในตำแหน่งพลสำรองสังกัดศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 จังหวัดนครปฐม อบรมออนไลน์ พอบรรจุก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ตำรวจจราจร ไม่เคยทำงานด้านงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเลย จึงให้คุมความประพฤติ 2 ปี ทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นเวลา 30 ชั่วโมง



เช่นเดียวกับจำเลยที่ 19 -20 เป็นเพียงคนงานหรือลูกจ้างทำความสะอาด และจำเลยที่ 23 เป็นเพียงคนขับรถยนต์ของกำนันนก กระทำผิดเป็นครั้งแรก เมื่อคำนึงถึงการศึกษาอบรม อาชีพ สิ่งแวดล้อมและสภาพการกระทำความผิดภายใต้สภาวการณ์ ทั้งไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษ และทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นเวลา 30 ชั่วโมง



ส่วนจำเลยที่ 14 คือจ่าสิบตำรวจ อภิรักษ์ โรจน์พวง เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันได้ว่า พยายามติดตามสถานการณ์จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขับรถนำสิ่งของผู้ตายมาที่โรงพยาบาลในเวลาที่กระชั้นชิด และไปยืนเฝ้าบริเวณหน้าประตูห้องฉุกเฉินเพื่อป้องกันเหตุซ้ำซ้อนระหว่างการรักษาผู้ตายและผู้บาดเจ็บ จึงถือเป็นเหตุผลอันสมควร แม้มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสภาวการณ์ ข้อต่อสู้ฟังขึ้น ไม่ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่



ส่วนอีกคดีสำคัญที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับกำนันนก ซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการยิงสารวัตรศิวกร หลักคือ คดีจ้างวานฆ่า พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องกำนันก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ วันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 9 นาฬิกา



จุดเริ่มต้นคดีนี้ ย้อนกลับไป 3 ทุ่มเศษของวันที่ 6 กันยายน 2566 นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือนก กำนันตำบลตาก้อง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จัดงานเลี้ยงที่บ้านพัก มีลูกน้อง และคนสนิทของกำนันนก มาร่วมงาน 27 คน และมีตำรวจยศตั้งแต่สิบตำรวจตรี ถึง พันตำรวจเอก มาร่วมงานถึง 28 นาย และ 1 ในนั้นก็คือ พันตำรวจตรี ศิวกร สายบัว สารวัตรทางหลวง ซึ่งในคืนนั้นตามรายงานของตำรวจระบุว่า กำนันนกได้เจรจาพูดคุยกับสารวัตรศิวกร เกี่ยวกับเรื่องการขอตำแหน่งให้คนสนิท แต่สารวัตรศิวกรไม่รับปาก และยังมีการท้าดวลดื่มเหล้า แต่กำนันนกแพ้ ไม่พอใจและต้องกลับไปนั่งโต๊ะตัวเอง



สารวัตรศิวกร พยายามไปเจรจาแต่ก็โดนไล่กลับมานั่งที่โต๊ะ ก่อนที่นาย ธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง จะลุกขึ้นไปใช้ปืนจ่อยิงสารวัตรศิวกรที่โต๊ะถึง 4 นัด และกระสุนยังพลาดไปโดนตำรวจอีกหนึ่งนายบาดเจ็บ ทั้งที่โต๊ะนั้นมีตำรวจนั่งอยู่ถึง 7



นายหน่องหลบหนีไปพร้อมกำนันนก แต่ถูกวิสามัญในช่วงเช้าของวันที่ 8 กันยายน ขณะหนีไปซ่อนตัวในซอยโรงเจร้าง ที่กาญจนบุรี



และจากเหตุการณ์นั้น ทำให้พันตำรวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ หรือผู้กำกับเบิ้ม ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ตายและผู้บาดเจ็บ กดดันหนัก จนใช้อาวุธปืนพกประจำกายอัตวินิบาตกรรมตัวเองที่บ้านพัก



หลังเกิดเหตุ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเสียชีวิตของสารวัตรศิวกร ชนวนเหตุหลักอาจมีอะไรมากกว่าการเขม่นกันในวงเหล้าหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องส่วยรถบรรทุกทางหลวง จนเป็นที่มาของการตรวจสอบธุรกิจบ้านกำนันนก และการทุจริตรับส่วยของตำรวจ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

คุณอาจสนใจ