สังคม
กมธ.พัฒนาการเมือง เชิญตัวแทนสื่อ-ตร. ถกปมนักข่าวถูกจับ ไร้สมาคมสื่อร่วม
โดย panwilai_c
22 ก.พ. 2567
35 views
วันนี้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าหารือและชี้แจงกรณีนักข่าวถูกจับจากการทำข่าว เพื่อหาแนวทางสร้างหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอให้กับสื่อออนไลน์และสื่อขนาดเล็ก โดยการประชุมครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากสมาคมสื่อและสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม
นางสาว ภคมน หนุนอนันต์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานจัดทำข้อเสนอคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยการประชุมหลังคณะกรรมธิการได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง กรณีตำรวจออกหมายจับกุมผู้สื่อข่าว และช่างภาพ ในข้อกล่าวหาเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
โดยที่ประชุมจะเป็นตัวกลางหารือถึงแนวทางปฏิบัติร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อจากนี้ เพื่อความเข้าใจในขอบเขตการทำงานและการคัดกรองของสื่อมวลชนในสถานการณ์ล่อแหลมต่างๆ
เนื่องจากที่ผ่านมาสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีเป็นสื่อมวลชนอิสระ สื่อออนไลน์ และสื่อขนาดเล็ก จึงควรมีแนวทางที่แน่ชัดว่าสื่อกลุ่มที่มักตกเป็นเป้าหมายของการฟ้องปิดปาก ควรทำงานในสังคมได้อย่างไร ซึ่งอาจพิจารณาจากช่องทางการเผยแพร่ ยอดผู้ติดตาม ระยะเวลาการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จึงจะควรถือว่าเป็นสื่อมวลชน
นางสาวภคมน ระบุว่า บริบทของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยมีสื่ออิสระเกิดขึ้นมากมาย นอกเหนือจากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ทำให้ทุกคนสามารถกลายเป็นผู้นำเสนอข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริงได้ ดังนั้นรัฐและตำรวจในฐานะผู้กำกับดูแลจึงต้องปรับตัว พูดคุยและเริ่มต้นพร้อมกัน ซึ่งวันนี้ที่ประชุมได้เชิญตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปด้วย แต่ไม่มีตัวแทนตอบรับมา เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ การหารือจึงยังไม่ได้ข้อสรุปในด้านนี้
ส่วนกรณีที่สมาคมสื่อฯ ไม่มีการตอบรับมา นางสาวภคมน กล่าวว่า ค่อนข้างผิดหวังเพราะสมาคมสื่อฯ น่าจะคว้าโอกาสการใช้พื้นที่ของ กมธ. ในการยืนยันความชอบธรรมให้กับองค์กร เพราะที่ผ่านมา สมาคมสื่อฯ ถูกตั้งคำถามถึงบทบาทในการปกป้องเสรีภาพของคนในวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่าสมาคมจะทำให้คนที่อยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชนเชื่อมั่นได้อย่างไร
หลังจากนี้ กมธ. และคณะทำงาน คงจะผลักดันต่อให้ออกมาในรูปแบบข้อบังคับที่ชัดเจน ให้สื่อมวลชนสามารถทำงานได้อย่างเสรีภาพจริงๆ โดยยืนยันว่า เราไม่ได้เรียกร้องเพื่อสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่เรียกร้องภาพลักษณ์และความชอบธรรมให้กับตำรวจด้วย จึงควรเริ่มต้นกติกาด้วยกันทุกฝ่าย ในกรณีที่หากสื่อทำผิดก็จะมีข้อตกลงร่วมในการพิจารณา