สังคม

มจพ. พัฒนาแล็บเคมีโลกเสมือนจริง เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ผู้บกพร่องการได้ยิน

โดย chiwatthanai_t

7 พ.ย. 2566

1.1K views

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนานวัตกรรม ของการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง เพื่อเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนนักศึกษากลุ่มเปราะบาง ซึ่งตอนนี้เริ่มนำมาปรับใช้แล้วใน 5 โรงเรียนนำร่อง เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้


เด็กๆ ผู้บกพร่องทางการได้ยินของโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระบรมราชูปถัมภ์กลุ่มนี้ กำลังเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ จากโปรแกรมห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง ผ่านแว่น VR โดยมีการทดลองให้เลือกเรียนรู้ 15 การทดลอง สามารถเรียนร่วมกันเป็นกลุ่มได้ด้วยการเชื่อม SERVER เดียวกัน


พวกเขาจะได้หยิบจับอุปกรณ์เพื่อทำการทดลองภายในห้องแล็บเสมือนจริงที่มองเห็น เช่น การทดลองทดสอบค่าความเป็นกรด-ด่าง ของสารละลาย ตามทฤษฎีของออสวอล ซึ่งสีของอินดิเคเตอร์จะแสดงสีและค่า PH ที่ต่างกัน


นางสาวนฤมล สุวามิน หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนเศรฐเสถียร เล่าว่า การเรียนการสอนในแพลตฟอร์มนี้ สร้างความปลอดภัยให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ เพราะการเรียนรู้ของเด็กๆ กลุ่มเปราะบางทางการได้ยิน จำเป็นต้องอาศัยการมองเห็น ซึ่งบางครั้งการหยิบจับสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือพื้นที่ในห้องปฏิบัติการที่คับอคบ อาจทำให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ไม่เต็มที่


ผลงานนี้เป็นโครงการวิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยด้านวิศวกรรมเคมีและนักวิจัยชาวเยอรมันด้าน Virtual reality จากบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติ ไทยเยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือ มจพ.



โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุณาโลม เวทย์วัฒนะ ฮาร์ทลี่ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมเคมีและกระบวนการ หัวหน้าโครงการ ระบุว่า ในช่วงการเเพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบ จากการไม่สามารถเข้าห้องเรียนจริงได้ ขณะที่บางแห่งระบบเรียนออนไลน์ก็ไม่ได้ประสิทธิภาพ


ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งตั้งใจให้กลุ่มนักเรียนผู้เปราะบางทางสังคมได้รับโอกาสนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใกล้เคียงกับการใช้งานห้องปฏิบัติการจริงให้กับพวกเขา อีกทั้งยังส่งต่อให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้อีกด้วย


ปัจจุบันโครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริงถูกส่งมอบแล้วให้กับโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร และ โรงเรียนสำหรับเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินรวมแล้ว 5 แห่งทั่วประเทศ โดยเตรียมขยายการใช้งานเข้าสู่สถานพินิจและโรงเรียนชายแดนแห่งอื่นๆสู่การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนาซอร์ฟแวร์เป็นแอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานที่สะดวกมากยิ่งขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News