สังคม

เปิดภาพห้องเด็ก 14 กราดยิงพารากอน วิเคราะห์หาแรงจูงใจก่อเหตุ

โดย panwilai_c

3 ต.ค. 2566

1K views

มีคำถามว่า เครื่องตรวจอาวุธ ที่ติดตั้งทุกทางเข้าในห้างสรรพสินค้าที่เกิดขึ้น ทำไมไม่ส่งสัญญาณ ทำให้ทั้งตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือว่า จะต้องนำมาตรการรักษาความปลอดภัย ในห้างสรรพสินค้า และแหล่งที่คนไปรวมตัวกันมากๆ กลับมาใช้อย่างจริงจังอีกครั้ง



อีกเรื่องหนึ่ง หลังเกิดเหตุ เราจะเห็นว่า มีสื่อมวลชนบางส่วน และผู้คนในโซเชียลมีเดีย ได้แชร์ภาพ ทั้งภาพผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชน และภาพผู้เสียชีวิต ซึ่งล่าสุดองค์กรวิชาชีพ และหลายหน่วยงาน ได้ขอความร่วมมือให้งดการเผยแพร่ภาพและคลิปดังกล่าว ขณะเดียวกันนักอาชญาวิทยาด้านเด็กและเยาวชน ก็มีข้อเสนอให้เร่งหาสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เด็กอายุเพียง 14 ปี ก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้



เกมที่เห็นนี้ เป็นหลักฐานส่วนหนึ่ง ที่พบในช่องทางการสื่อสารออนไลน์ของเด็กที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ ซึ่งพล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล ที่ได้เข้าไปคุยกับเด็กเป็นคนแรกๆ พบว่า เด็กมีอาการหลอน หวาดกลัว เมื่อสอบถามลึกลงไป ก็พบว่า เด็กเล่นเกมที่มีความรุนแรงหนักมาก ส่วนอาวุธปืน เป็นแบล็งกัน ที่นำมาดัดแปลงใช้กับกระสุนจริง สอบถามเด็กบอกว่า สั่งซื้อมาทางออนไลน์ สอดคล้องกับนักอาชญาวิทยา ที่เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ที่มองว่า เมื่อเด็กคนหนึ่ง ได้รับการซึมซับความรุนแรงจากเกม แล้วยังมีช่องทางในการหาเครื่องมือ และอาวุธได้ง่าย เป็นปัญหาที่มีความเสี่ยงจะเกิดซ้ำขึ้นอีกกับเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกัน



ในขณะที่ เด็กที่ก่อคดีได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ตามกฎหมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และบุคคลใด จะละเมิดมิได้ ตัวเด็กที่กระทำผิดเอง ก็มีกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 กำหนดว่า เด็ก คือบุคคลอายุไม่ถึง 15 ปี เยาวชนอายุ 15-18 ปี



ขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ใช้ลงโทษคนละเมิดสิทธิเด็ก คำว่าเด็กจะครอบคลุมตั้งแต่อายุ 18ปี ลงมา



เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำผิดไม่ต้องรับโทษ อายุ 12-15 ปี ถ้าทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษ เช่น ว่ากว่าวตักเตือน ส่งไปสถานฝึกอบรม หรือคุมประพฤติ



อายุ 15-18 ปี ถ้าทำผิดศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษ จะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ถ้าไม่ลงโทษ ต้องมีมาตรการฟื้นฟู



อายุ 18-20 ปี ถ้าทำผิดต้องรับโทษ แต่ศาลอาจลงโทษ 1 ใน 3 หรือ กึ่งหนึ่ง



ทั้งนี้ แม้บางช่วงอายุ เด็กและเยาวชนจะไม่มีบทลงโทษ แต่ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบโทษทางแพ่ง โดยชดใช้สินไหมให้กับผู้เสียหาย

คุณอาจสนใจ

Related News