สังคม

หลายหน่วยงานร่วม สร้างหลักประกันให้เด็กขาดรอยต่อทางการศึกษา ได้ทุนเรียนต่อมหาลัย

โดย parichat_p

13 ส.ค. 2566

93 views

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษา ที่พบว่า เด็กยากจนพิเศษจำนวนกว่า 1 แสน 5 หมื่นคน ไม่สามารถเข้าเรียนต่อมนระดับอุดมศึกษาได้ ทำให้ต้องหลุดออกนอกระบบ และขาดรอยต่อในการศึกษา หลายหน่วยงานจึงร่วมมือกัน ที่จะสร้างหลักประกันทางการศึกษาให้เด็กเหล่านี้มั่นใจได้ว่าจะเรียนได้จบระดับมหาวิทยาลัย


การวาดภาพอวัยวะต่างๆของร่างกายมนุษย์ และรูปปั้น เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนของสาขาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นควาคภูมิใจในชีวิต ของนางสาว ณัฐฆฏามาศ แก้วทอง ที่มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัย ได้เพราะทุนการศึกษา


การขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงรอยต่อจากมัธยมศึกษา เข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ พบว่า เด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่เคยได้ทุนเสมอภาคจาก กสศ.ในระดับ ม.3 เมื่อปี 2562 ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ปีการศึกษา 2566 จำนวน 21,922 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.46 ของนักเรียนทุนฯ จำนวน 175,977 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 69 แห่งทั่วประเทศ นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็กซึ่งสอบติดมหาวิทยาลัยมั่นใจว่าจะเรียนจนจบการศึกษาได้


การกู้ยืมเงิน จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่หากมีทางเลือกอื่นเช่น การขอทุนการศึกษา ที่มีช่องทางพิเศษให้เด็กยากจน รวมถึงการลดค่าสมัครในระบบ Tcas ซึ่งพบว่าเป็นปัญหาหนึ่งของนักเรียนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ.อยู่ระหว่างการออกประกาศนี้


การสร้างหลักประกันทางการศึกษาอย่างไร้รอยต่อ ตลอด 20 ปี ตั้งแต่อนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐ ต้องอุดช่องว่าทางการศึกษา นี้ให้ได้ เพราะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน จากการก้าวสู่ภาวะสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ และแนวโน้มการลดลงของจำนวนนักศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ลดลงกว่า 120,000 คน หรือลดลงร้อยละ 25 จากปี 2555 จนถึงปี 2565 ทำให้ต้องยิ่งร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ เช่น การทำ แพลตฟอร์ม ที่หลายหน่วยงานสามารถแชร์ข้อมูลให้เด็ก ที่ขาดโอกาสเข้าถึงข้อมูลการหาแหล่งทุน หรือหางานพิเศษระหว่างการศึกษาได้ รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบคัดกรองนักเรียนยากจนจาก กสศ. ให้ได้รับการสนับสนุนการศึกษาที่ต่อเนื่องในระดับอุดมศึกษา เพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง

คุณอาจสนใจ

Related News