สังคม

ชาวบ้าน ร้องฟื้นฟูธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากภูเขาขยะ จ.นครศรีธรรมราช หลังศาลตัดสินชนะคดีบ่อขยะ

โดย parichat_p

13 ส.ค. 2566

186 views

หลังจากศาลปกครองนครศรีธรรมราช พิพากษาให้เทศบาลนครนครศรีธรรมราช นำขยะส่วนที่เกินจากศักยภาพการกำจัดของตัวเองออกไปจากทุ่งท่าลาด และให้กำจัดขยะที่ เหลืออยู่ตามหลักสุขาภิบาล โดยไม่ให้นำขยะใหม่เข้าไปอีก ได้สร้างความหวังให้ชาวบ้านที่เคยได้รับผลกระทบว่า ปัญหาจากกลิ่นภูเขาขยะจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามชาวบ้าน ยังอยากให้ฟื้นฟูสภาพพื้นดิน ที่ปลูกข้าวไม่ได้ โดยเชื่อว่ามาจากการปนเปื้อนของน้ำเสียจากกองขยะมานาน


ทุ่งหญ้าที่อยู่ฝั่งขวาของภูเขาขยะ ส่วนหนึ่งเป็นที่สาธารณะที่เรียกว่าที่หลวงของชาวตำบลนาทราย และถัดไปจากนั้นก็เป็นที่นา สวนปาล์ม สวนยางพาราของชาวตำบลนาทราย ชาวบ้านมั่นใจว่าที่นี่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียที่ไหลออกจากบ่อขยะเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตลอดหลายสิบปีก่อนหน้านี้ จึงเป็นสาเหตุให้ปลูกพืชไม่ได้ผลผลิต


ชาวบ้านบอกกับข่าว 3 มิติว่าคำพิพากษาที่ให้เทศบาลเร่งแก้ปัญหากลิ่น และน้ำเสีย สร้างความหวังให้ชาวบ้านว่าพวกเขาจะมีอากาศที่ดีขึ้น แต่ก็ยังอยากเห็นการฟื้นฟูที่ดิน ผืนนาที่ปลูกข้าวไม่ได้


"เหม็นนั่นแหละเมื่อก่อน เหม็นจนอยู่ไม่ได้ เหม็นจนปวดหัว แต่ว่าตอนนี้ค่อยยังชั่วแล้ว ที่ว่าเหม็นนั้น น้ำก็เสีย จะลงไปเก็บผักบุ้งก็ไม่ได้ ทั้งคันทั้งเปื่อย ปลาก็กินไม่ได้ ปลามีโรค "ถ้าเป็นแบบนั้นก็ดีใจ เราจะได้ลงนาปลูกอะไรได้บ้าง เพราะปลูกอะไรไม่ได้เลย ตายหมด เพราะน้ำมันเสีย อยากให้ชาวบ้านได้หาปลากินบ้าง ปลูกอะไรก็ขอให้ปลูกได้บ้าง นี่อะไรปลูกไม่ได้เลยเพราะน้ำมันเสีย"


กำนันตำบลนาทราย ก็บอกแบบนั้นว่า แม้ว่ากลิ่นเน่าเหม็นจะเบาบางลง แต่สภาพธรรมธาติที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้การฟื้นฟู


นายกเทศมนตรีนคร นครศรีธรรมราช ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชาวบ้านตามที่ผู้ฟ้องได้ยื่นขอคำสั่ง และเทศบาลได้ดำเนินการตามคำสั่ง เช่นการทำถนนรอบกองขยะให้สูงขึ้น /ทำคลองรูปตัววีเพื่อรองรับน้ำเสียให้ลึกขึ้นเพื่อระบายไปบ่อบำบัด รวมถึงทำห้ามรถบรรทุกขยะวิ่งบนคันถนนที่สร้างใหม่ เพื่อไม่ให้ถนนทรุดตัว แต่ให้วิ่งผ่าใจกลางกองขยะแทน


สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองไม่เพียงมีคำสั่งโดยตรงถึงเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังแจกแจงคำสั่งถึงผู้ถูกฟ้องอื่นๆ คือให้ อบต.นาทราย /นาเคียน ติดตามตรวจสอบผล กระทบจากกลิ่น และสัตว์พาหะนำโรค แล้วรายงานต่อเทศบาลนครนครศรีธรรมราช/ผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและรายงานศาลทุกๆ 15 วัน จนกว่าผลกระทบจะหมดไป / และสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ติดตามตรวจสอบว่าผลกระทบนี้้รายแรงถึงขึ้นต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News