สังคม

เปิดเวทีถกหาทางออก ปมพิพาทที่ดิน 'เกาะหลีเป๊ะ' ชาวเล วอนเร่งตรวจสอบ ขอพื้นที่เดิมคืน

โดย chiwatthanai_t

19 ม.ค. 2566

63 views

สื่อมวลชนหลายสำนักร่วมจัดเวทีเสวนา ทางออกปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะ มีนักวิชาการ และอดีตกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเล ร่วมให้ข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลยปัญหาจนเกิดข้อพิพาท


นางเรณู ทะเลมอญ ร่ำไห้กลางเวทีเสวนาทางออกปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะ ที่สื่อมวลชนหลายสำนักร่วมจัดขึ้น ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพราะการขึ้นมากรุงเทพมหานครครั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ที่เกิดข้อพิพาทที่ดินกับเอกชน ทำให้ต้องถูกฟ้องร้องขับไล่ อย่างตนเองก็เคยถูกข่มขู่ ตั้งแต่ปี 2557 ทั้งๆที่บรรพบุรุษเป็นผู้มอบที่ดินให้ตั้งโรงเรียน จึงอยากให้รัฐตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิ์ที่ดินเกาะหลีเป๊ะว่า บวม หรือ บิน หากแปลงไหนถูกต้องชาวเลพร้อมยอมรับ หากไม่ถูกต้องขอให้คืนให้ชาวเล เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับ นางสลวย หาญทะเล กล่าวด้วยความเสียใจว่า ชาวเล ซาบซึ้งที่ได้รับนามสกุลพระราชทาน หาญทะเล ในฐานะเป็นผู้ชี้เขตแดนให้กับประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการดูแลในฐานะพลเมืองไทย


พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ได้มีการใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน ซึ่งต้องมีการแจ้งครอบครองหรือ ส.ค.1 บนเกาะหลีเป๊ะ แต่พอออกเป็น น.ส.3 กลับเหลือชื่อไม่กี่คน ทั้งๆที่คนบนเกาะหลีเป๊ะตอนนั้นทุกคนมีสิทธิ การออก น.ส.3 ราชการเป็นคนออกให้และต้องมีการสำรวจตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าจากเดิมบางแปลงแจ้งเป็น ส.ค.1 ไว้ 50 ไร่ กลายเป็น น.ส.3 จำนวน 80 ไร่ เพราะข้าราชการไม่ได้ตรวจสอบ ดังนั้นความบกพร่องครั้งแรกนี้จึงเป็นของราชการที่ไม่ตรวจสอบ ทั้งทางเดินสาธารณะและทางน้ำ


ดร.นฤมล อรุโณทัย กล่าวว่า จากงานวิจัยซึ่งชาวเลเล่าว่า สมัยก่อนมีทั้งพื้นที่ทางน้ำและเส้นทางเดิน แต่เมื่อพัฒนาได้มีการก่อสร้างทับไปหมด ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น


ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาเกาะมีความซับซ้อนพอสมควรในเรื่องเอกสารสิทธิ์ และปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสิทธิ์ จึงเป็นพื้นฐานปัญหา ประเด็นทางกฎหมายมีรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2549 ที่ตรวจสอบพบว่า ได้มีการแจ้งการครอบครอง 41 แปลง เมื่อปี 2510 ได้มอบอำนาจให้คนๆหนึ่งไปออก น.ส.3 แต่หลังจากนายคนนี้เสียชีวิต ชาวเลจึงทราบว่าที่ดินของตนกลายเป็นของนายทุนไปแล้วซึ่งถูกฟ้อง และศาลได้ตัดสินว่าชาวบ้าน 7-8 รายกลายเป็นผู้บุกรุก และเชื่อมโยงกับการโอนสิทธิในเวลาต่อมา จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ต้องหาทางออกเรื่องนี้ให้ประชาชน

คุณอาจสนใจ

Related News