สังคม
ทช.เผยภาพ ปะการังขาแท่นเกาะพะงัน จ่อดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
โดย pattraporn_a
23 พ.ค. 2565
186 views
กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง เผยภาพความสมบูรณ์ บริเวณเเหล่งปะการังขาเเท่นปิโตรเลียมใต้ทะเลลึก ที่เกาะพะงัน พบสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เตรียมต่อยอดพัฒนาเป็นเเหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
กลางปี 2563 พื้นที่ทะเลบริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับนักวิชาการและภาคเอกชน ได้ทำการศึกษา-ทดลอง โดยการคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ที่หมดอายุสัมปทาน จำนวน 7 แท่นกลางอ่าวไทย ไปวางในจุดน้ำลึก เพื่อให้เป็นบ้านหลังใหม่ของสัตว์น้ำ รวมทั้งต่อยอดพัฒนาให้เป็นแหล่งดำน้ำระดับโลก มาถึงตอนนี้ผ่านไปเกือบ 2 ปี ปะการังเทียมทั้ง 7 แท่น มีสภาพอย่างไร เป็นบ้านหลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่อย่างที่คาดหวังหรือไม่ ข่าว 3 มิติ ส่งทีมข่าวกลับเข้าไปสำรวจร่วมกับทีมนักประดาน้ำ กระทรวงมรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำตอบจากใต้ทะเลลึก
ทีมนักประดาน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยรัฐมนตรี วราวุธ ศิลปอาชา พร้อมปลัดกระทรวง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ , นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำทีมนักสำรวจและสื่อมวลชน มุ่งหน้าพื้นที่กลางทะเลลึก บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี
จุดวางปะการังขาแท่นปิโตรเลียมทั้ง 7 แท่น อยู่ห่างจากเกาะพะงัน ราว 7.5 ไมล์ทะเล ความลึกประมาณ 35-40 เมตร เคลื่อนย้ายจากแท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2563 การศึกษาวิจัยในขณะนั้น พบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีความเหมาะสมในการจัดวางปะการังเทียม ทั้งด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ
ผ่านมาเกือบ 2 ปี ภาพล่าสุดที่ทีมนักสำรวจใต้น้ำบันทึกได้ คือสีสันใต้ทะเลลึก เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ทีมนักสำรวจ พบว่าบริเวณรอบๆ ขาแท่นที่เคลื่อนย้ายมาวางเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว เต็มไปด้วยปะการังหลากหลายชนิด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ ย้ายเข้ามาอาศัยในบ้านหลังนี้จำนวนมาก
ทีมสำรวจ พบว่าจุดที่อยู่ตื้นใกล้ผิวน้ำ มีความสมบูรณ์มาก ปะการังอ่อนและปะการังแข็งเจริญเติบโตได้ดี มีปลาสีสันสวยงามแหวกว่ายหากินหลายสายพันธุ์ แต่เมื่อดำลึกลงไปที่ระยะ 30-35 เมตร พบว่าจุดที่ลึกลงไป ยังต้องรอการฟื้นตัวอีกสักระยะ แต่ในภาพรวมก็ถือว่าแหล่งทรัพยากรทางทะเลจุดนี้ สวยงามและสมบูรณ์ ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แม้จะเป็นช่วงมรสุม แต่ก็ความสวยงามของแนวปะการัง ก็ยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ดร.ศุภชัย ตั้งใจตรง ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้บอกว่า ในช่วง 1 ปีหลังจากวางปะการังเทียม ได้ติดตามสำรวจเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ได้ผลสรุปเป็นที่น่าพอใจ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า แหล่งปะการังจากขาแท่น มีศักยภาพเป็นแหล่งอนุรักษ์ และในอนาคตยังมีแนวโน้ม ที่อาจจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้ แต่ก็ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ