พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย

โดย kodchaporn_j

27 พ.ค. 2565

9 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี



วันนี้ เวลา 14 นาฬิกา 57 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์เรื่อง "รู้คิด รู้ทำ เทคโนโลยีธรรมชาติบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะ"



พร้อมกับทรงฟังบรรยายสรุปหัวข้อ "แผนการจัดการน้ำเสีย สำหรับแม่น้ำเพชรบุรี" ที่มุ่งเน้นการจัดการคุณภาพน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ขณะนี้คุณภาพน้ำยังคงใช้ได้ตามมาตรฐาน สามารถนำมาทำน้ำประปาได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาหารือกัน เพื่อบำบัดน้ำแม่น้ำเพชรบุรีให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น และมีโครงการจัดอบรม เรื่องการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ในจังหวัดเพชรบุรีด้วย



ต่อจากนั้น ทรงฟังรายงาน แผนการจัดอบรมหลักสูตรขยายผลการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สู่ระดับปริญญาบัตร ซึ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นควรต่อยอดความรู้ เพื่อให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ยุควิถีชีวิตใหม่ โดยการฝึกอบรมระยะสั้น



ทั้งในรูปแบบการผ่านระบบออนไลน์ การฝึกอบรมในพื้นที่ และการฝึกอบรมในระบบผสมผสาน ดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและการปฏิบัติงาน



จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปแปลงนาสาธิต ทรงหว่านเมล็ดข้าวพันธุ์ กข 43 ในแปลงทดลองปลูกข้าว โดยทดลองใช้น้ำทิ้ง จากการบำบัดผสมกับน้ำชลประทานในสัดส่วน 1:1 สำหรับข้าวที่ทรงหว่าน เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่น คือ อายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 95 วัน และมีค่าดัชนีน้ำตาล รวมทั้งค่าอมิโลสต่ำ



ต่อจากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่โครงการ เช่น การสาธิตการทอดแหจับปลากินพืช ที่เลี้ยงในบ่อบำบัด เช่น ปลานิล เพื่อควบคุมสาหร่าย โดยปล่อยปลาขนาด 10 เซนติเมตร อัตรา 4 ตัวต่อพื้นที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตร และทอดพระเนตรสถานีตรวจติดตามลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน หรือ LERD TOWER (เลิศทาวเวอร์)



เพื่อติดตามตรวจสอบลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา เช่น ความเข้มแสงอาทิตย์ อุณหภูมิ ความเร็วลม ในการนี้ ทรงฟังบรรยายสรุปแผนการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และพื้นที่โครงการ โดยกรมชลประทาน ได้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ เช่น การปรับปรุงถนนรอบบ่อบำบัดน้ำเสีย รวมถึงแปลงพืชกรองน้ำเสีย ในระยะต่อไปจะขยายพื้นที่การบำบัดน้ำเสีย ในแม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงการบูรณาการความรู้จากการวิจัย เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ ในการฝึกอบรมระยะสั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านโครงการธนาคารหน่วยกิต ที่ต่อยอดถึงระดับปริญญาบัตร



จากนั้น ทอดพระเนตรเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และพันธุ์สัตว์ในป่าชายเลน ระยะทาง 830 เมตร ซึ่งปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ศึกษาดูงานที่ต้องใช้รถเข็น และผู้สูงอายุ รวมถึงเป็นเส้นทางสัญจรแก่ผู้วิจัยในการเก็บตัวอย่าง โดยป่าชายเลนแห่งนี้ ได้รับผลพลอยได้จากการบำบัดน้ำเสีย นอกเหนือจากการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำแล้ว ยังเกิดการทับถมของตะกอนดิน ก่อให้เกิดแผ่นดินงอกมากกว่า 300 ไร่



จากการวิจัยเกี่ยวกับสมดุลพลังงาน พบความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้อากาศในบริเวณนั้นเย็น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียว มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่สีเขียว และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน ระหว่างทางเดินมีต้นแสม ต้นโกงกางที่ขึ้นหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีสัตว์น้ำ สัตว์หน้าดิน



อาทิ ปลาตีน ปูแสม แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ การดำเนินงานปรับปรุง และก่อสร้างสะพานไม้เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ได้รับการสนุบสนุนจากกรมการทหารช่าง และสำนักงานกปร. / ในปี 2564 มีการวางผังเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะที่ 2 เชื่อมต่อกับระยะที่ 1 ระยะทางรวม 1,630 เมตร ในอนาคตจะเพิ่มเส้นทางระยะที่ 3 เพื่อเชื่อโยงเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้สมบูรณ์



จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2535 พบว่าป่าชายเลน มีการขยายตัวออกไปในพื้นที่ทะเลประมาณ 1 กิโลเมตร ช่วยทำให้เกิดการสะสมตะกอน ลดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง อีกทั้งทำให้เกิดอาชีพประมงชายฝั่ง และมีการอพยพของนกต่างถิ่นมาอาศัยกว่า 250 ชนิด ส่งผลให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเพชรบุรี



โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 ด้วยพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการกำจัดขยะ และการบำบัดน้ำเสีย ที่ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น มูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมกับสำนัก กปร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามแนวพระราชดำริ ได้องค์ความรู้ 4 แนวทาง



คือ การกำจัดขยะในกล่องคอนกรีต การกำจัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัด ด้วยระบบหญ้ากรอง และด้วยระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม พร้อมทั้งบริการวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ตามแนวพระราชดำริแก่หน่วยงานที่สนใจ ต่อมามีการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ เพื่อสาธิตและพัฒนาปรับใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นต่างๆ สร้างผลงานวิจัยมากกว่า 500 หัวข้อ มีผู้เข้าศึกษาดูงานกว่า 1 ล้านราย