พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาส ให้คณะผบ.รร.ตชด. เฝ้าฯ

โดย kodchaporn_j

2 พ.ค. 2565

411 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาส ให้คณะผู้บังคับบัญชาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมด้วยครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และผู้บริหารหน่วยต้นสังกัด โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ ฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท



วันนี้ เวลา 10.02 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษางานโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



นำ คณะผู้บังคับบัญชาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมด้วยครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และผู้บริหารหน่วยต้นสังกัด โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ ฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท ในโอกาสที่จัดประชุมสัมมนาครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 29 เมษายน ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ในรูปแบบของการสัมมนากลุ่ม และการบรรยายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารงานด้านการศึกษา และการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ



ในโอกาสนี้ พระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติแก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้สนับสนุนงานโครงการตามพระราชดำริ ฯ พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักแก่ พลตำรวจตรี พันธุ์พงษ์ สุขศิริมัช รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำหรับการดำเนินงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน พร้อมพระราชทานโล่รางวัลแก่ครูใหญ่ และครูผู้สอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนดีเด่น ประจำปี 2564 ที่น้อมนำแนวพระราชดำริ ไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร



การนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้ปฏิบัติงานในโครงการตามพระราชดำริ ฯ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จากโรงเรียนมัธยมพระราชทานนายาว โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 43 จังหวัดสงขลา และโรงเรียนประสาทวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)



โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ทำให้บางครั้ง ไม่สามารถไปเยี่ยมที่ต่างๆได้ แต่ใช้การเยี่ยมทางออนไลน์แทน เช่นเดียวกับการเรียนการสอน ที่นำอุปกรณ์สื่อสารต่างๆมาใช้ แต่ก็มีอุปสรรคบ้าง จึงได้พยายามแก้ไข โดยการนำหนังสือเรียนไปไว้ในห้องสมุด



เพื่อให้นักเรียนและเยาวชนในหมู่บ้านได้มาใช้ศึกษาหาความรู้ หรือบางพื้นที่ ศิษย์เก่าตชด. ก็เข้าไปช่วยดูแลลูกหลานตนเอง ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพอนามัย และโภชนาการควบคู่ด้วย