เลือกตั้งและการเมือง

“ศิริกัญญา” ออกโรงถามปฏิรูประบบภาษี อึ้ง! ไม่มีเป้าหมาย - “จุลพันธ์” ลุกเบรก บอกเป็นแนวทางศึกษา

โดย kanyapak_w

3 ชั่วโมงที่แล้ว

79 views

“ศิริกัญญา” ออกโรงถามปฏิรูประบบภาษี ยกคำ “พิชัย” จี้แจงให้ชัด 15% ใครรับภาระ มอง ทำให้คนธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ขณะ “จุลพันธ์” ลุกเบรก บอกเป็นแนวทางศึกษา ลั่น “ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง” แค่เดินหน้าไป หวังได้ผลลัพธ์สุดท้ายดีสุด ทำ “ครูไหม” อึ้ง! โต้กลับ ฟังแล้วเหนื่อย ไม่มีเป้าหมาย แล้วจะไปต่ออย่างไร ด้าน “จุลพันธ์” แจงอีกรอบ บอกเอาใจท่ายากพอสมควร พอบอกมีเป้าเดี๋ยวก็ตอบมาอีกแบบหนึ่ง ย้ำการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อเตรียมตัวสู่ OECD ชี้ เป็นเทรนด์โลกที่ทุกประเทศเก็บเป็นขั้นต่ำ



12 ธ.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เป็นนัดแรก มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจาของน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาตอบแทน



น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า คำถามแรกคือ กรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาพูดว่ามีแนวคิดที่จะศึกษาว่าจะมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งตนเห็นด้วยว่าต้องมีการการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ทั้งนี้ นายพิชัยได้เสนอภาษี 3 ตัวคือ 2 ลด 1 เพิ่ม ได้แก่การศึกษาว่าจะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 20% เหลือ 15%



และมีการศึกษาว่าจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จากเดิมที่จัดเก็บเป็นขั้นบันใดมาเป็นเลทเดียวกันทั้งประเทศคือ 15% รวมถึงมีการศึกษาว่าจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันคือ 15% จึงขอทราบวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่าต้องการเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นหรือไม่ ตอนให้หน่วยงานไปศึกษาได้ให้โจทย์ไปหรือไม่ว่าต้องการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ อัตราที่ควรจะเป็นคือ 15% ของทั้งสามภาษีใช่หรือไม่ รวมถึงได้ตั้งโจทย์ไว้หรือไม่ว่าใครควรจะต้องรับภาระภาษีในการปฏิรูป หรือใครควรจะได้รับการลดภาษีลง



น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากจะลดภาษีนิติบุคคลลดเหลือ 15% จริงๆ นั้น มีการคำนวณไว้หรือไม่ว่าทุก 1% ที่ลดลงนั้น จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงเท่าไหร่ ซึ่งหากลองคำนวณคร่าวๆ ก็จะลดลงประมาณ 30% หรือ 1.9 แสนล้านบาท และในปี 2566 ที่มีการลดภาษีลงหากดูเป็นตัวเงินจะพบว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น



แต่หากเทียบกับจีดีพีจะพบว่าลดลงด้วยซ้ำ หรือหากจะอ้างว่าอยากลดภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax หรือ GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ออกกฎว่าประเทศที่เข้าร่วมต้องเก็บภาษีในอัตรา 15% แต่คิดว่ากระทรวงการคลังก็เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว และการที่จะเก็บภาษีในอัตรา 15%



สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนั้นที่มีรายได้ไม่ถึงสามแสนบาทต่อเดือนจำเป็นจ่ายภาษีที่มากขึ้น การทำงาน 12 เดือนเท่ากับเขาต้องเสียเงินเดือน 1 เดือนไปเป็นภาษี ซึ่งกลับหัวกลับหางกับความตั้งใจของบุคคลธรรมดาที่ต้องสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี



“จึงงงๆ ว่าหากท่านอยากจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นและกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ทำไมจึงเลือกที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง ทำให้คนธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม และกลับไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจริงๆ ต้องปรับขึ้นอยู่แล้ว แต่หากท่านไม่มีแผนที่จะเสียรายได้ขนาดนี้จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นนี้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว



จากนั้น นายจุลพันธ์ ลุกชี้แจงว่า กระทรวงการคลังศึกษาการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง รวมถึงแนวความคิดในการเดินหน้า ภาษีชดเชยให้กับผู้ยากไร้ เรียกว่าสวัสดิการถ้วนหน้าผ่านทางโครงสร้างภาษี เรามีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภาษีมาอย่างยาวนาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP 14% เศษ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลกค่อนข้างมาก ที่เฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 18% สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ถึงตัวเลขที่เราต้องการ มาจากการลดหย่อนหลายเรื่อง รวมถึง VAT ภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ มันผูกพันกันจนเป็นใยเดียวกัน จึงต้องมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้นและเกิดเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งต้องกระทบกับประชาชนให้ได้น้อยที่สุด



“ตัวเลขไม่มีการตั้งเป้าหรอกครับว่าเป็นเท่าไหร่ แต่แนวความคิดที่มีการพูดคุยกัน ตัวเลข 15 % ก็เป็นไปได้ครับ ว่ามีการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ เช่น OECD มีการพูดถึงภาษีนิติบุคคล 15% เป็นขั้นต่ำ โดยหลักคิดทุกประเทศไม่ควรมีการแข่งขันกันในเรื่องลดอัตราภาษีอีกต่อไปแล้ว ในอดีตแข่งกันลดราคา ลดหย่อน สุดท้ายไม่มีรายได้เข้ารัฐ



พอที่จะนำไปพัฒนาประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้จึงมีเกณฑ์ขึ้นมาว่าทุกประเทศมีการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% สุดท้ายคงเป็นทิศทางของโลกที่จะต้องไหลเข้าสู่ตัวเลขนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้เราก็คิดว่า 15% เป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายจะต้องดึงตัวเลขทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่ 15% ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ท่านก็รู้ว่ากระบวนการเรื่องภาษีไม่สามารถเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าพลิกดินได้ มันมีเรื่องของระยะเวลา” นายจุลพันธ์ กล่าว



นายจุลพันธ์ แนะว่าให้ถอยมาหนึ่งก้าว แล้วท่านจะมองเห็นภาพใหญ่ว่ากลไกในการเดินหน้าในเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีมันไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ใจอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลไกบังคับใช้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ



นายจุลพันธ์ ยังชี้แจงเรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังไม่ได้มีข้อตกลงหรือข้อสั่งการและความชัดเจนใดๆ เป็นเพียงแค่แนวความคิด ยังไม่ได้มีข้อตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หากใช้คำว่าเลือกที่จะทำ ตนตอบว่ายังไม่ได้ดำเนินการ แต่ข้อเสนอนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วยและในประเทศให้มากขึ้น



นายจุลพันธ์ ระบุว่า เรากำลังจะเข้าร่วม OECD ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้เก็บภาษีแบบแนวระนาบ แต่เป็นภาษีแบบคนรวยจ่ายมากกว่าคนจน วันนี้โลกมันต่อกันทั้งหมดแล้ว ไม่มีรอยตะเข็บ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันผลกระทบกับประเทศที่มีความเกี่ยวเนื่อง ทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้า คู่ค้า เพื่อจากกำหนดให้เป็นอัตราที่มีความเหมาะสม



“ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง เราก็จะเดินหน้าไป และหวังว่าสุดท้ายเราจะได้โจทย์ที่ดีที่สุด และสุดท้ายกลไกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสกลับมาถก มาหารือกันในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาอีกอยู่ดี ท่านคงได้มีโอกาสพูดคุยกับผมอีกครั้งหนึ่ง” นายจุลพันธ์ กล่าว



ทำให้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยท่าทีตกใจว่า จากการฟังรัฐมนตรีชี้แจงแล้วก็รู้สึกเหนื่อยเพราะไม่มีเป้าหมาย เราจะไปอย่างไรต่อ และไม่รู้ว่าปฏิรูปเสร็จแล้วจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ รวมถึงท่านยังคิดที่จะดึงดูดนักลงทุนด้วยภาษีทั้งที่หากเข้าร่วมกับภาคีนี้ก็ต้องเก็บภาษีที่ 15% เหมือนกันหมด แทนที่จะไปเร่งสร้างเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านอื่น ๆ หรือเพิ่มทักษะให้คนไทยด้วยกันเอง แต่ก็ไม่เป็นอะไรเพราะท่านก็ไม่มีโจทย์ ไม่มีธง เท่ากับสิ่งที่พูดไปก็อาจจะไม่เกิดขึ้น และการศึกษานี้จะออกสู่สาธารณะเมื่อไหร่



นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศว่าสมควรที่จะนำออกมาใช้หรือไม่ และทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องนี้มักจะพูดในรัฐบาลของพรรค เพื่อไทยที่เป็นผู้นำ จึงอยากถามว่ารัฐบาลและกระทรวงการคลังมีแผนที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จริงหรือไม่ และนำมาจากส่วนไหนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จะใช้เท่าไหร่



นายจุลพันธ์ จึงลุกกล่าวติดตลกว่า “เอาใจท่านยากพอสมควร พอตอบว่ามีธง มีเป้าหมาย แล้วท่านก็จะมาอีกวิธีหนึ่ง ก็เลยบอกว่าไม่มีธง เพราะเปิดการศึกษาให้เป็นอิสระ”



นายจุลพันธ์ ย้ำว่า ทุกอย่างหากดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับจะต้องมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ ตนก็ไม่กล้าที่จะการันตี ประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนพูด เพราะตนยังไม่เคยได้ยินจริงๆ ไม่แน่ใจว่าจับประเด็นมาถูกต้องหรือไม่ด้วยซ้ำ หวังว่าถูก แต่สุดท้ายไม่เป็นไร มีประเด็นจั่วหัวมาแล้วอย่างนี้ คงมีเวลาในสภากันอีกครั้งหนึ่ง



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดการถามกระทู้ น.ส.ศิริกัญญา มีสีหน้าตั้งใจฟังนายจุลพันธ์อย่างเคร่งเครียด และมีการทวนคำพูดนายจุลพันธ์ไปด้วย



คุณอาจสนใจ

Related News