เลือกตั้งและการเมือง
‘แพทองธาร’ ลั่นเกาะกูดเป็นของไทย ไม่ให้เสียแผ่นดิน แม้ตารางนิ้วเดียว พร้อมเดินหน้า MOU 44
โดย petchpawee_k
6 ชั่วโมงที่แล้ว
123 views
นายกฯนำพรรคร่วมแถลงเดินหน้า MOU 44 ถามกลับยกเลิกแล้วได้อะไร ยืนยัน เกาะกูดเป็นของเรา ลั่น ดิฉันเป็นคนไทย 100% จะไม่ให้เสียแผ่นดิน แม้ตารางนิ้วเดียว อย่าเอาการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ยอมรับ สัมพันธ์"ทักษิณ-กัมพูชา" ดี แต่เจรจาประโยชน์ประเทศ ต้องใช้คณะกรรมการ
วานนี้ 4 พ.ย. 2567 ภายหลังประชุมร่วมรัฐบาลนาน กว่า 2 ชั่วโมง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำหัวหน้าและเลขาพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันแถลงข่าว ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึง MOU 2544 พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้ว และกัมพูชา ก็รับรู้เช่นกัน ทั้ง 2 ประเทศรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส และรัฐบาลนี้ก็จะไม่ยอมเสียพื้นที่ ของประเทศไทย แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ไปให้ใครก็ตาม และเรื่องเกาะกูด กับกัมพูชา เราไม่เคยมีปัญหา และไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย ดังนั้น คงเป็นการเกิดความเข้าใจผิดของคนในประเทศไทยเอง ขอให้มั่นใจได้เลยว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย
ส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะหากจะยกเลิก ต้องเป็นการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากหากยกเลิกเองจะถูกกัมพูชาฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นการตกลงกันระหว่างประเทศ
เมื่อถามว่ารัศมีรอบเกาะกูดในน้ำทะเลมีการแบ่งหรือไม่ ว่า ส่วนใดเป็นของใคร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ใน MOU เขียนไว้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด ไปดูเส้นที่เขาตีได้เลย เขาเว้นเกาะกูดไว้ให้เรา และที่คุยกันไม่ได้พูดคุยกันพื้นที่ดิน เราคุยกันในพื้นที่ทะเลว่าสัดส่วนเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ใน MOU คือ ขีดเส้นไม่เหมือนกัน จึงมีการตกลงกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ นี่คือความหมายใน MOU 44 เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของทางฝั่งกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ ซึ่งเมื่อสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการตั้งคณะกรรมการ พอมาถึงสมัยตน ก็อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้อยู่ เพื่อมาศึกษาและพูดคุยกัน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ไม่ถึงเดือน
เมื่อถามว่า เมื่อไม่มีการยกเลิก MOU ทำให้ถูกมองว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา นายกรัฐมนตรี ยิ้มและสายศีรษะ ก่อนจะกล่าวว่านั่นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไรทั้งสิ้น MOU นี้ ทั้ง 2 ประเทศคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชา ขีดเส้นมาก่อน พอมาปี 2516 ประเทศไทยก็ขีดด้วย แต่ข้อตกลงไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการตั้ง MOU ขึ้นมาเปิดการเจรจา " MOU นี้ไม่เกี่ยวกับเกาะกูดเลย เกาะกูดไม่เคยอยู่ในการเจรจานี้ ขอให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลย ว่าเราไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชา ก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดด้วย จึงขออย่ากังวลเรื่องนี้เกาะกูดก็เป็นของประเทศไทยเหมือนเดิม"
เมื่อว่าถาม เคยมีการยกเลิก MOU ฉบับนี้เมื่อสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มี MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่เกิดการตกลงระหว่าง 2 ประเทศ อีกทั้งจะยกเลิกต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา เมื่อปี 2552 ก็ไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมรัฐสภาด้วย หรือแม้แต่สมัยพลเอกประยุทธ์ 2557 ก็ไม่มีการยกเลิก
เมื่อว่าถามว่า มีกระแสที่ต้องการให้ยกเลิก นายกรัฐมนตรี จะคุยอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดกระแสบานปลาย นางสาวแพทองธาร ถามกลับว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ แต่เมื่อเห็นไม่เหมือนกันจะต้องมี MOU เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น MOU นี้ เป็นการเปิดให้ทั้งสองประเทศได้คุยกัน และเมื่อถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไรบ้าง ถ้าเรายกเลิกฝ่ายเดียว จะโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน
เมื่อถามว่า หากนายกฯเดินหน้าลุยต่ออาจจะดูเหมือนไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่จริงเลยค่ะ ที่มาในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย ตาม Concept เลยว่า เรื่องนี้คือข้อตกลงเจรจาระหว่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาพูดให้พี่น้องประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายให้เข้าใจว่า MOU
1.ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด เกาะกูดเป็นของเรา
2. MOU เป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ หากจะมีการยกเลิกต้องเป็นการตกลงกันระหว่าง 2 ประเทศ
3. เรายังไม่ได้เสียเปรียบ ในเรื่องของการตกลง เรื่องนี้เกิดจากการขีดเส้นที่ไม่ตรงกันจึงมีการตั้ง MOU ขึ้นมาเพื่อให้ 2 ประเทศเจรจาตกลงร่วมกันในผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลัก"
เมื่อถามว่าพรรคร่วมทั้งหมดเห็นด้วยกับ MOU นี้ใช่หรือไม่ แกนนำทุกคนที่ร่วมแถลงข่างพยักหน้า ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะกล่าวว่า "ใช่ค่ะ" เราจะเดินหน้าต่อ และที่ต้องทำอยู่ตอนนี้คือกัมพูชากำลังรอเรา ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและเป็นตัวแทนไปพูดคุย โดย คณะกรรมการจะประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหมที่จะช่วยกันดู
เมื่อถามว่ากังวลประเด็นนี้จะบานปลายหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าทุกคนเข้าใจแล้ว ไม่น่าจะบานปลาย เพราะมันก็คือข้อเท็จจริง ว่ามันต้องเป็นแบบนั้น ไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะมันคือกรอบและเป็นกฎหมายอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าจะเป็นเผือกร้อนในมือนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า "ไม่เลยค่ะ"
เมื่อถามถึงข้อกังวลแหล่งพลังงานใต้ทะเล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน เรื่องนั้นเราต้องศึกษารายละเอียดด้วย ว่าจะแบ่งอย่างไรได้บ้าง ให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ และยุติธรรมมากที่สุด จึงมีการตั้งคณะกรรมการ ผู้รู้ไปศึกษาเพื่อไปพูดคุยกับกัมพูชาด้วย เพื่อที่จะได้มาชี้แจงต่อประชาชนอย่างชัดเจน
เมื่อถามว่าจะใช้ความสัมพันธ์อันดีของนายทักษิณ ชินวัตร ในการพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์อันดี สามารถสร้าง Connection ดีๆได้ แต่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา ต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อที่จะได้ไม่มีอคติ ในพูดคุยกัน โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการรู้ จริงรู้ครบและเกิดความยุติธรรมด้วย
เมื่อถามว่า รัฐบาลรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย 100% ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ดิฉันเป็นคนไทย 100% อย่างที่บอก ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน รัฐบาลนี้ยืนยัน รัฐบาลนี้จะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้พี่น้องคนไทยมีความสุขที่สุด นั่นคือสิ่งที่ต้องการ"
-------------------------
“อนุทิน" เผย กต. เข้าแจงพรรคร่วม ปม MOU 2544 ไม่เกี่ยวที่ดินเกาะกูด ชี้ต้องตั้งคณะกรรมการ ไทย-กัมพูชา เจรจาจัดสรรผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้ทะเลร่วมกัน
วานนี้ 4 พ.ย. 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมพรรคร่วมรัฐบาลว่าในที่ประชุมได้มีการพูดถึงพื้นที่ผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล MOU 2544 บริเวณเกาะกูด จ.ตราด ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศ มาชี้แจงเชิงเทคนิคให้กับพรรครวมรัฐบาลได้ฟัง โดยจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ แทนชุดเดิมที่สิ้นสุดตามวาระรัฐบาล
ทั้งนี้นายอนุทิน ยืนยันว่า เกาะกูด เป็นอำเภอที่ถูกยกระดับจากกิ่งอำเภอ และไม่มีช่วงใดที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าเกาะกูด เป็นของแผ่นดินอื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยพร้อมระบุว่า มันเป็นประเด็นที่ยกขึ้นมาจากอะไรไม่ทราบ และ MOU 2544 ก็ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เป็นเพียงการลงนามข้อตกลงหาวิธีการพัฒนาพลังงานในอ่าวไทย ระหว่างสองประเทศ ซึ่งมีกรอบอยู่เพียงเท่านี้ คือ เรื่องการพัฒนาพื้นที่ในทะเล ไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน ซึ่งต้องยกเรื่องเกาะกูด และเขตแดนออกไป
เมื่อถามย้ำว่า MOU 2544 เป็นการพูดถึงทรัพยากรใต้ทะเล นายอนุทิน ได้พยายามอธิบายการลากเขตแดน เมื่อลากกันคนละเส้น จึงจำเป็นต้องทำ MOU เพื่อมีกรรมการทั้ง 2 ประเทศ เพื่อหาข้อยุติให้ได้ และให้เห็นพ้องร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่ก็มีช่องที่เปิดไว้เป็นข้อตกลงว่าส่วนที่ยังไม่เห็นพ้องจะสามารถร่วมกันพัฒนาร่วมกันได้หรือไม่ หรือจะตกลงผลประโยชน์กันอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องการเจรจาของทางคณะกรรมการ
"ตอนนี้เขาตีมาเส้นหนึ่งตั้งแต่ปี 15 เราก็ตีไปอีกเส้นหนึ่งตั้งแต่ปี 16 เขาตีเฉียงมาทางเราเยอะ เราเองก็ตีไปข้างล่าง การตี 2 เส้นไม่เท่ากัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนจึงต้องมาคุยการคุยก็มีการกำหนดกรอบไว้ว่ามี MOU 2544 เพื่อให้หาบทสรุป แต่ตอนนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้ ก็ต้องคุยกันต่อไป"
ส่วนรัฐบาลนี้จะหาบทสรุปในเรื่องนี้ได้หรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า มันต้องเป็นการเจรจา ไม่ใช่กำหนดฝ่ายเดียว ถ้าเจรจาไม่ได้ก็ต้องเจรจาต่อ หากรอบที่ 1 ไม่ได้ก็ต้องรอบ 2 รอบ 3 รอบ 4 และในระหว่างเจรจา ต้องมาดูว่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการสำรวจหรือหาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ ถ้าได้แล้วจะแบ่งปันผลประโยชน์จากพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างไรสุดท้ายก็ต้องจบที่คำว่า "ก็ต้องเจรจาไปจนกว่าจะได้ข้อตกลงร่วมกัน"
-------------------------------------
กต. ตั้งโต๊ะแถลง ป้อง MOU44 ไม่ใช่ปีศาจร้าย ไม่ขัดพระบรมราชโองการประกาศไหล่ทวีป งัดสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศษ ระบุชัด เกาะกูด ของไทย เส้นกัมพูชาเคลม ไร้ผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ รอ ครม. ตั้ง คกก.เทคนิค JTC “ภูมิธรรม” นั่งประธาน
วานนี้ 4 พ.ย. 2567 กระทรวงการต่างประเทศเชิญสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ รับ การบรรยายสรุปสถานะล่าสุด เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims
Area: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของสาธารณชน
อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้อธิบายถึงเขตทางทะเลประเภทต่าง ๆ และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 รวมทั้งชี้แจงที่มาของ OCA ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตร.กม. ที่เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งไทยและกัมพูชา
โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทย และกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หรือที่เรียกกันว่า MOU 2544
ต่อมา อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ชี้แจงว่า MOU 2544 เป็นความตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างกัน โดยมิได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิทางทะเลของอีกฝ่ายแต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันต่อไป
จากนั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้ชี้แจงคำถามสื่อมวลชน 5 ข้อ คือ
Mou 2544 นี้ จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดหรือไม่ ว่า ไม่ เพราะ ในตัวสนธิสัญญากรุงสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ โดยไม่เคยเป็นประเด็นสงสัย มีความชัดเจนอยู่แล้ว ในอดีตถึงปัจจุบัน เราใช้อำนาจอธิปไตย เหนือเกาะ 100%
Mou 2544 ขัดพระบรมราชโองการ การประกาศเขตไหล่ทวีป หรือไม่ว่า การดำเนินการตาม Mou 2544 สอดคล้องกับข้อความที่อยู่ในพระบรมราชโองการ ตามหลักเขตและแผนที่ ซึ่งการประกาศนี้ก็ระบุไว้ ตามจุดพิกัดต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงแนวทางโดยทั่วไป ของเส้นที่กำหนดไหล่ทวีป ซึ่งเราใช้พื้นฐานของตัวอนุสัญญาเจนิวา ว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ. 1958 เป็นพื้นฐานการประกาศพระบรมราชโองการตรงนี้ แต่ทั้งนี้เรื่องสิทธิเหนืออธิปไตย และการแสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากรใต้ท้องทะเล ขึ้นอยู่กับการเจรจา กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสิ่งที่แต่ละประเทศประกาศเคลม ก็ผูกพันเฉพาะภายในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อเกิดการทับซ้อนก็ต้องเป็นเรื่องของการเจรจา และ Mou 2544 คือเจตนารมย์ที่จะบอกว่า เป็นข้อตกลงแนวทางให้ไปพูดคุยกัน ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย
Mou 2544 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่ อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ยืนยันว่า ถือ เป็นหลักสากล ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ที่จะเคลม แต่ผูกพันเฉพาะภายในภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีผลต่อกฎหมายระหว่างประเทศ "Mou ไม่ใช่ปีศาจร้าย ที่จะจะมาสร้างพันธะอะไรให้กับเรา เพราะต่างฝ่ายต่างมีเส้นของตัวเอง” และในตัวของ Mou ก็เข้าใจในประเด็นนี้ และระบุในข้อที่ห้า ไว้ว่า “เงื่อนไขภายใต้เงื่อนไขการมีผลใช้บังคับของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้อง มีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา“ ขอย้ำว่า เราไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา
Mou 2544 ทำให้ไทยเสียเปรียบ เหตุใดจึงไม่ยกเลิก เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เสนอครม.ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ จะดำเนินการต่อหรือไม่ ว่า ช่วงปี 2552 เรามีความสัมพันธ์ ท้าทายหลายประเด็นกับกัมพูชา ทั้งการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร นำไปสู่ศาลโลก ความตึงเครียดชายแดน การเจรจาจึงเป็นไปด้วยความลุ่มๆดอนๆ ทั้งนี้การเจรจาเรื่องเขตแดน อยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสัมพันธ์ดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องเขตแดน ที่ต้องอาศัยเทคนิค และเกี่ยวข้องกับความรักชาติ จึงเกิดปัญหาในยุคนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอ ครม. ให้ยกเลิก Mou 2544 เพราะมองว่าไม่มีความคืบหน้า ก็ไม่มีมีความจำเป็น ซึ่งขณะนั้น ครม. รับในหลักการและให้ไปพิจารณาให้ดีและรอบคอบ ในแง่ของข้อกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับทีมที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ดังนั้น ปี 2557 เห็นว่า Mou 2544 มีประโยชน์ข้อดีมากกว่าข้อเสีย และกัมพูชาก็ ยอมรับ จึงได้เสนอกลับครม. ให้ทบทวนมติครม. หลังจากนั้นทุกครั้งที่มีรัฐบาลเข้ามาใหม่ กระทรวงการต่างประเทศ ก็จะเสนอให้ใช้กรอบการเจรจา Mou 2544 เป็นหลักพื้นฐาน ถือเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และทุกรัฐบาลก็ยอมรับ ว่านี่เป็นแนวทางที่น่าจะเหมาะสม ว่า Mou2544 จะเป็นแนวทางสร้างความโปร่งใส ซึ่งทุกครั้งที่มีการดำเนินงานก็จะรายงานให้ ครม. ทราบทุกครั้ง
ส่วนการสร้างเขื่อนกันคลื่นของกัมพูชา ชี้แจง ชี้แจงว่า เขื่อนดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ทางทะเล เกี่ยวโยงกับพื้นที่ OCA ตามข้อเท็จจริง มีเอกชนไปสร้างท่าเทียบเรือ โดยการถมดินในทะเลประมาณ 100 เมตรออกมาจากฝั่ง ซึ่งเราได้ประท้วงทันทีจำนวนสามครั้ง ตั้งแต่ปี 2541 2544 และปี 2564 ซึ่งผลของการประท้วงทำให้หยุดการก่อสร้างของเอกชน เพราะมีบางส่วนกินพื้นที่เส้นที่เราเคลมไว้ เราก็ต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตย และเรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของกองทัพเรือ และสมช. อย่างใกล้ชิด
จากนั้นนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอรายชื่อให้ ครม. พิจารณามาสักพักแล้ว คาดว่า ครม. จะอนุมัติองค์ประกอบของเจทีซี เร็วๆนี้ ที่จะใช้เป็นองค์ประกอบในการเจรจากับประเทศกัมพูชา โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพราะดูแลทั้งด้านความมั่นคงและด้านทรัพยากร
ส่วนคณะกรรมการฯ ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับคลัง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สภาความมั่นคงแก่งชาติ (สมช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเอเชียตะวันออก เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ รวมประมาณ 20 คน หาก ครม. เห็นชอบ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายก็จะเรียกประชุมฝ่ายไทยเพื่อดูกรอบการเจรจากับกัมพูชา โดยจะดำเนินการทาบทามฝ่ายกัมพูชาเพื่อจัดประชุมด้วย ว่าจะใช้รูปแบบใด เช่น ประชุมระดับอนุกรรมการ หรือระดับ คณะกรรมการ หรือ ประชุมคณะกรรมการ เจทีซี ชุดใหญ่ ซึ่งต้องคุยกับทางกัมพูชาต่อไป
ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเริ่มประชุม แต่ที่ผ่านมาเคยดำเนินการไปแล้วในอดีต จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระดับเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติ ที่ผ่านมามีการประชุมเจทีซีอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง และไม่เป็นทางการ 7 ครั้ง และในปี 2564 มีการประชุมระดับอนุกรรมการไปแล้ว
สำหรับความสำคัญของ MOU 44 นั้น ใช้เป็นกรอบของการเจรจาและกลไกต่างๆที่มีอยู่ แต่ยังไม่มีการคุยในเรื่องรายละเอียดที่เป็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/fmA5oox1erU
แท็กที่เกี่ยวข้อง เกาะกูด ,MOU44 ,แพทองธารชินวัตร ,กัมพูชา ,อนุทินชาญวีรกูล