เลือกตั้งและการเมือง
‘ภูมิธรรม’ ยันไม่นิ่งนอนใจ ปมตากใบ – ‘อังคณา’ ข้องใจ ครม.ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ ทำไมบอกทำไม่ทัน
โดย petchpawee_k
23 ต.ค. 2567
27 views
"ภูมิธรรม” ยันไม่นิ่งนอนใจ ปมตากใบ ส่วนข้อเสนอออก พ.ร.ก. หยุดอายุความ ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาอยู่ ชี้เป็นความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่รัฐบาล ขออย่านำมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
เมื่อวานนี้ (22 ต.ค.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการเสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกาหยุดอายุความคดีตากใบ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยกล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาอยู่ ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามกฏหมาย
ส่วนกรณีที่นักวิชาการ อยากเห็นการดำเนินการของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม มากกว่าปล่อยให้คดีนี้หมดอายุความ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตอนนี้ตำรวจออกหมายตรวจค้นบ้านผู้ที่อยู่ในคดีนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องดำเนินการ และขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการสืบค้น ที่เหลือก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่นักวิชาการประเมินว่าในวันที่ 25 ต.ค. จะเกิดเงื่อนไขใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ ได้สั่งการไปยัง กอ.รมน. ส่วนหน้าหรือยัง นายภูมิธรรม ระบุว่า ส่วนตัวคิดว่าเงื่อนไขในภาคใต้มีมาโดยตลอดอยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐไทย ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาล ฉะนั้นต้องระมัดระวัง ซึ่งรัฐบาลก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่อย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สร้างปัญหาและกระทบกระเทือนกับความมั่นคงของรัฐไทย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เราทุกคนพยายามทำและมีอีกหลายเรื่องที่เราควรไปดูในรายละเอียด และกระบวนการนี้มีหลายเรื่องควรจะดูในรายละเอียดไม่ว่านักวิชาการหรือใคร
ตนคิดว่าทุกคนหวังดีแต่อยากให้ดูให้ถ่องแท้ เราไม่ได้ปฏิเสธผู้เป็นญาติซึ่งเป็นผู้เสียหาย หากจะพูดเรื่องนี้จริงๆต้องดูแต่ต้นว่าเป็นอย่างไร มีกระบวนการทำอย่างไร และรัฐบาลในอดีตก็ทำมาโดยตลอดในทุกเรื่อง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง ส่วนกระบวนการทางกฎหมาย ได้ขึ้นศาลไปแล้วถึง 4 คดี บางคดีผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนคนหนุ่มสาว นายกรัฐมนตรีในยุคสมัยหนึ่งก็ได้ประกาศยกเลิกคดี เพื่อหวังให้เกิดความสามัคคี แต่ความรุนแรงกลับไม่ลด จึงต้องดูให้ถ่องแท้ว่าความรุนแรงเกิดจากกรณีอะไร ซึ่งกรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและตนมองว่าปัญหาเรื่องตากใบมีความสลับซับซ้อนและต้องค่อยๆ ดูในรายละเอียด
เมื่อถามถึงข้อร้องเรียนขององค์กรมุสลิมโลก นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ได้มีองค์กรมุสลิมโลกที่เสนอความคิดเห็นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วเราได้คุยกับทุกส่วนอย่างต่อเนื่อง และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ไปกระเทือนอะไรที่รุนแรงขนาดนั้น แต่เป็นเรื่องเก่าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เงินกว่า 600 ล้านบาท ในการเยียวยาอย่างเต็มที่กับผู้เสียหาย และตนย้ำว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม อย่าใช้ประเด็นนี้มาอ้างว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย วันนี้สังคมไทยที่อยู่สี่จังหวัดภาคใต้เป็นสังคมพหุนิยมเราอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข
----------------------------
กมธ.พัฒนาการเมือง สว. ถก 3 วันสุดท้าย เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องแจง “ตากใบ” ไร้เงา ทบ. “สว.อังคณา” งง ครม.ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ ทำไมบอกไม่ทัน หวังมีทางหยุดอายุความ ตามตัวจำเลย
นางอังคณา นีละไพจิตร ในฐานะประธาน กมธ. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม ว่า เรื่องนี้ รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ เพราะวานนี้มีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และวันพฤหัสบดีนี้ สภาก็ยังประชุมอยู่ ยังสามารถขอเสนอ พ.ร.ก. ได้ เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน
“คือได้ฟังท่านภูมิธรรม ส่วนตัวมองเห็นว่าถ้าทำจริงๆ ก็น่าจะทันนะคะ เพราะกรณีเร่งด่วน สามารถทำได้เองอยู่แล้ว ส่วนตัวก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทัน ถ้าเตรียมก็สามารถออกได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องของการขยายอายุความ อาจจะไม่ใช่ขยาย แต่ให้อายุความหยุดอยู่ตรงนี้ก่อนจนกว่าจะสามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้”
นางอังคณา กล่าวต่อว่า มันเป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย ว่ารัฐบาลสามารถขยายหรือหยุดอายุความไว้ก่อนได้หรือไม่ พวกเขาจะได้รับความยุติธรรม แต่หากประตูตรงนี้ปิด คดีก็จะหมดอายุความ
เมื่อถามว่าเมื่อหมดอายุความไปแล้ว ทุกคนก็จะถือว่าพ้นผิดไปเลยใช่หรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า ก็เหมือนจะเป็นอย่างนั้น เหมือนกับคดีกรือเซะ การเสียชีวิตของประชาชน 31 คนในมัสยิด ถือว่าหมดอายุความไปแล้ว ซึ่งกรณีนั้นผู้ก่อเหตุก็ได้รับโทษ แต่คดีตากใบนี้ เป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ จริงๆ เป็นความรับผิดชอบของรัฐโดยที่ไม่อาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่าทางออกสุดท้ายในการสู้คดีนี้คืออะไร นางอังคณา ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าถ้ากลไกในประเทศไม่ทำงาน ประชาชนก็สามารถที่จะฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศได้ ซึ่งจะมีกลไกอยู่ และเมื่อศาลรับฟ้องหรือมีคำพิพากษาแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังประเทศนั้นๆ ได้ เพราะเข้าไปก็จะถูกจับกุม แต่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำคดีเหล่านี้มากนัก อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ต้องมาศึกษาเพิ่มเติม อีกประเด็นหนึ่งคือ การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากอาจจะเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
“ที่ผ่านมาทุกคนมักจะตั้งคำถามและโยนความผิดให้ผู้เสียหาย แต่ที่จริงแล้วคดีอาญาแผ่นดินไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องเอง แต่คดีอาญาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของอัยการ พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวน ฟ้องร้องแทนประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนผู้เสียหายที่จะลุกขึ้นมาฟ้องเอง”
ส่วนประเด็นที่สังคมมองว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียหายยังไม่ได้รับความเป็นธรรม นางอังคณา กล่าวว่า มันเกิดความเปรียบเทียบไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ แต่เป็นทั่วประเทศ ว่าเวลาประชาชนทำผิด ประชาชนต้องถูกลงโทษ มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ แต่เวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด แทบจะไม่เคยจับกุมผู้กระทำความผิดได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่เปราะบาง มีความอ่อนไหวและยังเกิดความรุนแรงอยู่ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ยอมรับว่า เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นความขัดแย้งทางอาวุธ แต่ในทางสากล การใช้ความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานาน ถือว่าเข้าข่ายความขัดแย้งในการใช้อาวุธ เพราะมีความขัดแย้งกันจากเรื่องชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎหมาย ประการแรก กรณีความผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จะต้องไม่มีอายุความ , ประการที่สอง คือขยายนิยามของคำว่าผู้เสียหายให้กว้างขึ้น
เมื่อถามว่าหากวันที่ 25 ต.ค.นี้ ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหามาได้ครบ ประเมินสถานการณ์อย่างไร นางอังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวก็กังวลจริงๆ เพราะเราอยู่กับเหตุการณ์นี้มาตลอด 20 ปี เราก็บอกไปว่าความไว้เนื้อเชื่อใจที่มันกำลังริเริ่มขึ้น และมีมาในระยะหนึ่งอาจจะหมดไป เมื่อคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งใช้การต่อสู้ด้วยความรุนแรง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ทุกฝ่ายเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่เราก็ปล่อยให้โอกาสในการพิสูจน์ความจริงในศาลหมดไป ถ้าไม่สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวหน้าศาลได้ คงหลีกเลี่ยงยากในการที่จะเกิดความรุนแรงตามมา ส่วนตัวก็ได้แต่พูดว่าเสียดายความไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมีที่อาจจะหมดไป
เมื่อถามว่าอยากจะฝากอะไรถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่พรรคประชาชาติก็ทำพื้นที่ภาคใต้ และนั่งเป็นหัวหน้าดูเรื่องนี้โดยตรง นางอังคณา กล่าวว่า “ท่านรัฐมนตรียุติธรรม เราก็ได้เห็นความพยายามของท่านมาโดยตลอด แต่ว่าหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงอื่น หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีการสนับสนุน ส่งเสริมที่จะทำให้มีการพิสูจน์ความจริง เช่น กรณีที่ศาลออกหมายจับแล้ว กลับปล่อยให้คนหายไปไหนตั้ง 7-8 คน โดยที่ไม่รู้มีข่าวว่าคนหนึ่งอยู่อังกฤษ อีกคนอยู่ญี่ปุ่น แล้วที่เหลือไปไหน ตรงนี้ก็เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างมากและตรงนี้เราจะคืนความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างไร”
นางอังคณา กล่าวทิ้งท้ายว่า จากรายงานการศึกษา ทุกฉบับพูดถึงปัญหาภาคใต้ ว่าเกิดจากความรู้สึกไม่เป็นธรรม แล้ววันนี้ประเทศไทยกำลังสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นมาอีก ที่สำคัญอีกประการที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือรัฐบาลต้องหยุดในการที่จะสร้างวาทกรรมในการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย เราจะเห็นหน่วยงานรัฐบางหน่วยพยายามที่จะพูดว่ากรณีตากใบเป็นการจัดการ เป็นกระบวนการ เป็นการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อให้เกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่ กมธ.เองหรือทุกฝ่ายพูดในวันนี้คือใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน 78 คน ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน ไม่ว่าเขาจะมีความเชื่อแบบใด บุคคลเหล่านั้นต้องไม่ตาย ไม่ต้องมาเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ
---------------------------------
“วิสุทธิ์” ขอความเป็นธรรมให้ “เพื่อไทย” ชี้ คดีตากใบผ่านมาหลายรบ. บางรัฐบาลเป็น 10 ปี ลั่น อย่าโยนบาปพรรคเดียว
เมื่อวานนี้ (22 ต.ค.67) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงคดีตากใบที่รัฐบาลอาจจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ไม่ให้คดีหมดอายุความ ว่าตนไม่ทราบเรื่องที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทยพูด แต่หลายคนบอกว่าเพื่อไทยปัดความรับผิดชอบ
"ผมต้องบอกว่าวันที่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและเป็นผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ ตอนนั้นก็ยังไม่ถูกฟ้องร้องคดีใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าวันนั้นยังบริสุทธิ์อยู่และศาลยังไม่ได้รับเป็นคดีในขณะนั้น ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม ส่วนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบรายละเอียดไม่กล้าไปฟันธง ฉะนั้นเรื่องนี้เกิดมา 20 ปีผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว บางรัฐบาลอยู่เป็น 10 ปี แต่จะมาโยนให้พรรคเพื่อไทยรับอย่างเดียวคงไม่ถูก ตอนนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ว่ากันตามศาล ว่าตามตำรวจให้ไปดำเนินการอำนวยความยุติธรรม" นายวิสุทธิ์ กล่าว
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/YvOh1AXLXkg
แท็กที่เกี่ยวข้อง อังคณา นีละไพจิตร ,ภูมิธรรม เวชชยชัย ,คดีตากใบ