เลือกตั้งและการเมือง

‘นันทนา’ โวยถูกตีตก ขอให้ตรวจสอบตุลาการศาลรธน.ซ้ำ เหน็บใช้จริยธรรมตัดสิน รมต.คงต้องฟูมฟักตั้งแต่เกิด

โดย petchpawee_k

3 ก.ย. 2567

7 views

“นันทนา” โวย ถูกมติเสียงข้างมาก สว.ตีตก หลังหยิบเรื่อง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มาเสนอซ้ำ ยกเป็นกรณีตัวอย่าง บุคคลที่ให้คุณ-โทษ “นายกฯ-พรรคการเมือง” ควรถูกตรวจสอบด้วย


วานนี้ (2 ก.ย. 67)  ที่รัฐสภา นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ในวันนี้มีการยื่นญัตติด่วนด้วยวาจากรณีให้ตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีการบรรยายสาธารณะ โดยมีการกล่าวถึงการยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างที่ตนนำเสนอในที่ประชุม รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งได้ปิดไมค์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าวุฒิสภาควรจะเป็นที่ที่มีการสื่อสารกัน ในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นอารยะ แต่กลับมีการปิดไมค์ ไม่มีการรับฟัง ไม่มีการรับรองญัติติ และเปิดให้อภิปรายใดๆ


โดยในวันนี้ตนก็ได้นำญัตติเดิมกลับมาเสนออีกครั้ง เพื่อยืนยันว่า ข้อบังคับที่ 40 (1) กำหนดให้ สว. สามารถเสนอญัตติด่วนได้ ซึ่งในวันนี้ได้รับอนุญาตให้นำเสนอ แต่ก็มีการประท้วง ในที่สุดก็มีการลงมติไม่เห็นชอบตามเสียงข้างมาก ที่จะมีการส่งเรื่องต่อให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบเรื่องจริยธรรมกันเอง ซึ่งจะเป็นบททดสอบ เบื้องต้นที่ทำให้เห็นว่า การนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ก็จะถูกตีตกด้วยการลงมติ และวันนี้ก็มีการสั่งให้มีการลงมติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทราบว่า อย่างไรก็ตาม ญัตตินี้จะต้องตกไป และไม่สามารถนำกลับมาเสนอในสมัยการประชุมนี้ได้อีก ในรูปแบบการเสนอญัตติ แต่ยังสามารถหารือได้ ซึ่งก็มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา อย่างน้อยการนำเสนอในวันนี้ ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าบทบาทของ สว. สามารถนำเสนอเรื่องราวปัญหาเข้าสภาได้


นางสาวนันทนา ยังกล่าวถึงกรณีที่อดีต สว.ตั้งข้อสังเกตว่า ว่าที่รัฐมนตรี 11 คน อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เนื่องจากคดีติดอยู่ในองค์กรอิสระ ว่า การตรวจสอบคุณสมบัติผู้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะจากประสบการณ์ที่เห็น ตั้งพลาดเพียงคนเดียว อาจหมายถึงผู้ที่แต่งตั้งจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งตนเห็นว่าตรงนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างมากๆ เพราะองค์กรอิสระมีอำนาจกว้างขวาง และอำนาจล้นเกินฝ่ายบริหาร สามารถปลดผู้นำสูงสุดของรัฐบาลได้ รวมถึงยังล้นเกินมาถึงฝ่ายนิติบัญญัติสามารถยุบพรรคการเมืองได้ ตนเห็นว่าดังนั้น ทางแก้คือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้จำกัดขอบเขตขององค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้มีอำนาจล้นเกิน และยึดหลักการคานอำนาจระหว่างกัน การคานและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน


ส่วนบทบัญญัติในขณะนี้ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ใช่หรือไม่ นางสาวนันทนา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะความจริงแล้วเรื่องจริยธรรมเป็นการตรวจสอบบุคคลในสาขาอาชีพของตัวเอง ซึ่งโทษจะเป็นไปอย่างเหมาะสม แต่โทษผิดจริยธรรมร้ายแรงที่ถึงขั้นตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตตามรัฐธรรมนูญ หรือเรียกว่าใบดำนั้น ตนยังสงสัยว่าได้สัดส่วนกับความผิดหรือสิ่งที่ถูกตีความว่าเป็นจริยธรรมที่ผิดพลาดไปหรือไม่ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องหันกลับมาทบทวน โดยเฉพาะเรื่องโทษให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม


ถามย้ำว่าไม่ดีหรือที่ในครั้งนี้ จะทำให้การตรวจสอบคนที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเข้มข้นขึ้น นางสาวนันทนา กล่าวว่า ความจริงแล้วเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เราก็อยากได้คนที่มีประวัติที่สะอาด ซื่อสัตย์สุจริต พร้อมๆกับคุณสมบัติด้านอื่น เช่น ความรู้ความสามารถและศักยภาพด้านต่างๆ แต่ไม่ใช่การตรวจสอบภูมิหลัง แล้วนำมาเป็นดัชนีชี้วัดเพียงตัวเดียวในการขึ้นดำรงตำแหน่ง ถ้าเป็นเช่นนี้หมายความว่าคนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งคงต้องฟูมฟักกันตั้งแต่เกิด คุณสมบัติไม่ด่างพร้อยหรือมีอะไรเสียหาย ซึ่งการวินิจฉัยแบบนี้ และบทลงโทษถือว่าไม่ได้สัดส่วน ไม่ควรย้อนพฤติกรรมในอดีตมาชี้ว่ามีพฤติกรรมผิดจริยธรรมร้ายแรง ดังนั้นควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและได้สัดส่วน แต่ยอมรับว่าควรต้องมีบทบัญญัติจริยธรรม จะบอกว่าไม่สนใจเรื่องนี้ก็ไม่ได้ ไม่ควรตรวจสอบการเฉพาะเรื่องเล็กเรื่องน้อย


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/Q-y8whn1dEo

คุณอาจสนใจ

Related News