เลือกตั้งและการเมือง
เลือก(สัก)ตั้ง Ep 53 : เช็กลิสต์นโยบายประชานิยม
โดย paweena_c
2 มิ.ย. 2566
3 views
นโยบายประชานิยม กับการเลือกตั้งกลายเป็นของคู่กันไปเสียแล้ว เรามาดูกันว่าคราวนี้แต่ละพรรคเสนอนโยบายประชานิยมอะไรบ้าง
เรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับการหาเสียง เลือกตั้ง66 ครั้งนี้ พรรคการเมืองต่างปล่อยหมัดเด็ด ชูนโยบายดังหวังเรียกคะแนน แน่นอนว่า “นโยบายประชานิยม” เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจจากประชาชนได้ไม่น้อย เหมือนสินค้านาทีทอง ทั้งลด ทั้งแจก ล่อตาล่อใจ ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงแสดงความกังวลกับผลกระทบที่ตามมาจากนโยบายประชานิยมนี้ กัน
ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของคำนี้กันก่อน คำว่า "นโยบายประชานิยม" ก็คือ นโยบายระยะสั้น ที่เน้นเอาอกเอาใจ ตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เพื่อหวังความนิยมทางการเมือง
ก็คือเป็นกลไกลทางการเมืองปกติเลย ที่ว่า ถ้าประชาชนชอบ ถูกใจนโยบาย ก็เข้าคูหาไปกาเลือกเจ้าของนโยบายนั้น
ซึ่งนี่ถือเป็นอีกปัจจัย ที่ทำให้นักการเมือง หันมาให้ความสนใจความเป็นอยู่และความต้องการของประชาชนมากขึ้น
ทีนี้เรามาดูกันว่า แต่ละพรรคการเมืองตอนนี้ มีนโยบายอะไรบ้าง ที่เป็นนโยบายประชานิยม
พลังประชารัฐ
- บัตรประชารัฐ 700 ต่อเดือน และฟรีประกันชีวิตประชารัฐ
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 - 5,000 บาท
- กองทุนประชารัฐ 300,000 ล้านบาท
รวมไทยสร้างชาติ
- บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาทต่อเดือน
- โครงการคนละครึงภาค 2
- รัฐสมทบเงิน แรงงานประกันสังคม
เพื่อไทย
- โครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท”
- นโยบายลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้ม ทันที
- เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน
- สมทบเงิน ทุกครอบครัว ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน
ไทยสร้างไทย
- บำนาญประชาชน 3,000 บาท
- นโยบายหวยบำเหน็จ
- นโยบายลดรายจ่าย ปรับค่าไฟ น้ำมัน แก๊ส, ไม่เก็บภาษีคนรายได้ไม่เกิน 3 แสน/ปี หรือ 4 หมื่น/เดือน
ภูมิใจไทย
- นโยบาย ประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป กู้ได้ 20,000 บาท ตายได้ 1000,000 บาท
- นโยบายพลังงานสะอาด แจกหลังคาโซลาร์เซลล์ 21 ล้านหลังคาเรือนทั่วประเทศ, มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าราคา 6,000 บาท ผ่อนเดือนละ 100 บาท 60 งวด
- นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท
ประชาธิปัตย์
- นโยบายชาวนารับ 30,000 บาท ต่อครัวเรือน
- นโยบายประมงท้องถิ่น 100,000 บาท ทุกปี
- ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท
ก้าวไกล
พรรคนี้มาเป็นชุด นโยบายสวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย ได้แก่
- สวัสดิการ 'เกิด' เช่น ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ,เงินเด็กเล็ก 1,200 บาท/เดือน
- สวัสดิการ 'เติบโต' เช่น เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง
- สวัสดิการ 'ทำงาน' เช่น ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท
- สวัสดิการ 'ผู้สูงอายุ' เช่น เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน
- สวัสดิการ 'ทุกช่วงวัย' เช่น บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง
ดูแล้ว นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ปล่อยออกมา ก็เหมือนจะเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชนชน แต่ขณะเดียวกัน นโยบายเหล่านี้ ก็สร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจประเทศไม่น้อย
เรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า นโยบายประชานิยมแบบเหวี่ยงแห แม้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ในระยะยาว อาจสร้างผลกระทบมหาศาลได้ โดยอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เช่น
'เกิดปัญหาเงินเฟ้อ' อาจเกิดวิกฤตเศรฐกิจ คล้ายต้มยำกุ้งของไทยปี 2540 ได้ หากเกิดการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ประเทศมีเงินสำรองลดลง
'เกิดปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโต' ประเทศมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อสถาบันการเงิน
และอีกหลายประเทศที่เกิดวิกฤติต่าง ๆ เช่น 'เวเนซุเอลา' ที่รัฐทุ่มงบจำนวนมากทำนโยบายประชานิยมหวังคะแนนเสียง อุ้มราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า สุดท้ายเมื่อเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ไม่มีเงินดูแลประชาชน ก็พิมพ์เงินออกมาใช้เอง จนเกิดวิกฤติเงินเฟ้อ
หรือ 'กรีซ' ที่ทำนโยบายประชานิยมแบบเต็มขั้น สุดท้ายก็เจอกับวิกฤติทางการเงินอย่างรุนแรง จนต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในท้ายที่สุด
แม้ว่าดูจะมีความเสี่ยง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายประชานิยม ก็ช่วยสร้างความสุขให้ประชาชนได้อยู่บ้างในระยะสั้น ทั้งลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ในระยะหนึ่ง และถ้ารัฐบาลบริหารงบประมาณได้ดี นโยบายต่าง ๆ ก็อาจส่งผลดีในระยะยาวได้ จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกแล้วว่า ถูกใจนโยบายพรรคการเมืองไหน