เลือกตั้งและการเมือง

‘สมศักดิ์’ นำทีม สธ.แถลงผลงานปี 67 ชูความสำเร็จ 30 บาทรักษาที่ พร้อมเดินหน้าดูแลสุขภาพคนไทยต่อเนื่อง

โดย olan_l

26 ก.ย. 2567

42 views

วันนี้ (26 ก.ย.) ที่สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และแนวนโยบายที่จะดำเนินการในปี 2568  ร่วมกับนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายโอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทั้ง 12 กรม โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเข้ารับฟัง

โดยนายสมศักดิ์ แถลงว่า ตนมาทำหน้าที่ รมว.สาธารณสุข ในช่วง 2 รัฐบาล ประมาณ 120 วัน ยอมรับว่า ไม่ง่ายในการบริหาร เพราะมีแต่บุคลากรที่เก่ง แต่ตนก็รู้สึกดีใจ ที่ได้มีทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งถึงแม้ตนไม่ใช่หมอ แต่ก็เข้าใจการทำงานเป็นอย่างดี จึงพร้อมช่วยขับเคลื่อนงาน เพื่อลดการเจ็บป่วยของพี่น้องประชาชนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญ

เช่น โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ท่านทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน และให้ความสำคัญด้านการแพทย์และการสาธารณสุขมาโดยตลอด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่สมัยท่านรัฐมนตรี ชลน่าน ศรีแก้ว โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มกราคม - กันยายน 2567 ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมจำนวนกว่า 100 ครั้ง โดยเป็นโอกาสดี ที่กระทรวงสาธารณสุข จะได้พาหมอ และผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปเปิดคลินิกในพื้นที่ห่างไกล เพื่อตรวจคัดกรองให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งโครงการนี้ให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สรุปยอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 1,861,860 ราย ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในการเดินทาง เฉลี่ยครั้งละ 600 - 700 บาทรวมประมาณการ ที่ช่วยประชาชนประหยัดไป ทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การผลักดันโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน โดยโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นโครงการที่ต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ในสมัยรัฐบาลท่านทักษิณ ชินวัตร และโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ในสมัยท่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างหลักประกัน สุขภาพให้กับประชน ตั้งแต่ปี 2544 และกว่า 20 ปี ที่โครงการนี้ช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการไปหาหมอ แต่เราก็ได้เห็น pain point ที่ประชาชนต้องเจอ เมื่อเข้ารับการ รักษาพยาบาล เช่น ความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ เสียเวลารอคิว ทำให้รัฐบาล นายกฯแพทองธาร จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ โดยเฉพาะการให้บริการการแพทย์ปฐมภูมิ เจ็บป่วยเล็กน้อยไปร้านยา คุณภาพ รักษาเบื้องต้นในคลินิกนวัตกรรม การตรวจแล็บ ตรวจเลือดที่หน่วยเทคนิคการแพทย์เอกชน ไม่ต้องไปรอคิวโรงพยาบาลใหญ่ เป็นต้น




“ขณะนี้ ดำเนินการมาจนถึง เฟส 3 แล้ว จำนวน 45 จังหวัด และในวันพรุ่งนี้ 27 กันยายน น.ส.แพทองธาร  จะร่วมเป็นประธานการ Kick-off 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. อย่างเป็นทางการ ถือเป็นจังหวัดที่ 46 ซึ่งผลสำเร็จโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สามารถลดระยะเวลาให้บริการ จากห้องบัตรถึงห้องรับยา ได้กว่าครึ่ง จาก 127 นาที เหลือ 56 นาที ลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้เฉลี่ย 160 บาท / ครั้ง ลดการขาดงานของญาติและผู้ป่วย รวมถึงมีประชาชนใช้บริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านแล้ว 32,211 ครั้ง บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ 388,490 ครั้ง บริการส่งยาใกล้บ้านด้วย Health Rider 253,628 ครั้ง ที่สำคัญ ประชาชนมีความพึงพอใจในโครงการสูงถึง 99.7%” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. อสม. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อสม. กว่า 1.07 ล้านคน โดยอสม. คือหัวใจสำคัญของสาธารณสุข มีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพ คุณภาพชีวิต ของประชาชนในหมู่บ้าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ซึ่งการมี พ.ร.บ. นี้ จะช่วยสร้างความก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืนให้กับ อสม. เพราะจะช่วยรับรองสถานะ สิทธิประโยชน์และมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะเช่น เรื่องค่าป่วยการ 2,000 บาท ที่ไม่ต้องรอมติ ครม. พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่าสิทธิประโยชน์อื่น ที่เคยได้ ก็จะได้ตามเดิม ซึ่งความมั่นคงนี้ ก็จะทำให้อสม.ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และการผลักดัน ร่างพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข แก้ปัญหาเรื่อง กำลังคน ภาระงาน การกระจาย บุคลากร ความก้าวหน้า ปัญหาสมองไหล โดยกฎหมายนี้ จะให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการตนเอง จะทำให้กระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากรมาก มีสายวิชาชีพและหน้าที่ที่หลากหลาย รับผิดชอบต่อประชาชนประมาณ 304 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ทุกวันนี้พยาบาล 1 คน ต้องทำงานเสมือน 2-5 คน แต่กลับได้รับค่าแรงค่าตอบแทนเท่ากับคนเพียงคนเดียว โดยกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสร้างความชัดเจนในเรื่องอัตราตำแหน่ง การกระจายตัวที่เหมะสม กำหนดภาระงาน สร้างขวัญและกำลังใจโดยไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การผลักดันการแก้ไขกฎหมาย พรบ. สุขภาพจิตการผลักดันการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขปัญหา กลุ่มแรกคือ ผู้ติดยาเสพติด เน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดครบวงจรการดูแลผู้เสพเป็นผู้ป่วย กลุ่มที่สอง คือ มุ่งเน้นการสร้างระบบการดูแลด้านสุขภาพจิต เช่น การให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไป การดูแลผู้ที่มีอาการเครียด ภาวะ ซึมเศร้า การรักษาและฟื้นพูผู้ป่วยโรคจิต ซึ่งสภาพัฒน์คาดการณ์จำนวน ว่ามีสูงถึง 10 ล้านในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก อันถือเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขของไทยอย่างยิ่ง

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำกับดูแล 2 กรม คือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมอนามัย  พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนเล็งเห็นศักยภาพหมอนวดแผนไทยที่เก่งระดับโลกและคิดว่าควรผลิตส่งไปทั่วโลก แม้แต่ในไทยยังไม่เพียงพอ วันนี้ได้โอกาสอยากเสนอนายสมศักดิ์

อยากจะเสนองบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อมาผลิตหมอนวดแผนไทย กระจายทั่วปะเทศ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยในประเทศปี 2566 สูงถึงกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ให้ได้มากกว่า 1.04 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 ขณะเดียวกัน ตนกำกับดูแลกรมอนามัย อยากเน้นการมีสุขภาพดีในทุกมิติ ทั้งกายและใจ ให้ความสำคัญกับการจัดการปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ มุ่งเน้นการเสริมสร้างมากกว่าการซ่อมแซม

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยค้นหาประวัติการรักษาในหน่วยบริการ 9,192 แห่ง ลดระยะเวลาบริการจาก 127 นาทีเหลือ 56 นาทีต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลง 160 บาทต่อครั้ง ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาหน่วยบริการภายใต้กระทรวงสาธารณสุขได้ทุกทีทั้ง 45 จังหวัด มีโรงพยาบาลทันตกรรม 119 แห่ง ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากเพิ่มขึ้นจาก 17.1 ล้านครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 21.5 ล้านครั้งในปี 2567 นโยบายยาไทย first สนับสนุนการใช้ยาและบัญชียาสมุนไพรแพทย์แผนไทย 27 รายการ ทั้งนี้ The Economist ยกย่องระบบสาธารณสุขไทยให้เป็นต้นแบบของโลก สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำเร็จ แม้เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 77.3 ปี สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ความครอบคลุมสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 99.6 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว OECD อยู่ที่ร้อยละ 98 ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพร้อยละ 3.8 ของ GDP ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มประเทศ OECD ร้อยละ 12.5 และมีการบูรณการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่น ปี 2567 ประเภทบูรณาการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล




คุณอาจสนใจ

Related News