เลือกตั้งและการเมือง

สส.ก้าวไกล ป้อง 'ตะวัน' ป่วนขบวนเสด็จ มองต้นตอจากปิดกั้นแสดงความเห็น จี้นายกฯ ถือธงแก้ปัญหา

โดย panwilai_c

14 ก.พ. 2567

87 views

'พนิดา' สส.ก้าวไกล ป้อง 'ตะวัน' กลางสภาฯ มองปมบีบแตรขบวนเสด็จ ต้นตอพฤติกรรมมาจากปิดกั้นแสดงความเห็นอย่างสันติ จี้ นายกฯ ถือธงแก้ไขปัญหา



14 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม วาระการอภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ



นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หากจะพิจารณาเรื่องการถวายความปลอดภัย ต้องมองมากกว่าเรื่องการอารักขาขบวนเสด็จเท่านั้น ดังนั้น อยากจะชวนเพื่อนสมาชิกและสังคมไทยทบทวนประเด็นนี้ผ่านเรื่องราวของ ตะวัน ผู้เป็นเจ้าของที่บีบแตรและมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่บนทางด่วนที่มีขบวนเสด็จ



“ไม่ได้ตัดสินว่าตะวันเหมาะสมหรือไม่ ถูกผิดอย่างไร แต่อยากชวนคิดตาม แล้วฝากข้อสังเกตนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี ถึงคำถามสำคัญที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบร่วมกันว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” นางสาวพนิดา กล่าว



นางสาวพนิดา กล่าวต่อว่า แรกเริ่ม หลายคนเห็นชื่อตะวันตั้งแต่ ปี 2564 จากกรณีที่ตำรวจถีบรถมอเตอร์ไซค์ของผู้ชุมนุมล้ม ทราบในภายหลังว่าคือตะวันในวันนี้ หลังจากนั้นตะวันก็ได้ปรากฏในหน้าสื่ออีกครั้ง กลับการถือกระดาษสอบถามความคิดเห็นผู้คนตามที่สาธารณะ โดยคำถามจะเป็นคำถามง่ายๆ สอดคล้องกับความคิดเห็นของเจ้าตัวที่สนใจในบริบทของสังคมการเมืองและตัวบทกฎหมาย นอกจากนี้ ประเด็นหลักของตะวันคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม วิธีสันติวิธีที่เขาเลือกกลับทำให้ตะวันถูกจับไปถึง 5 ครั้ง



โดยระหว่างการอภิปราย นายศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกประท้วงว่า นอกประเด็นแล้ว พูดถึงสิทธิเสรีภาพต่างๆ ขอไปยื่นญัตติใหม่ เรากำลังพูดถึงเรื่องการถวายอารักขาและความปลอดภัยเป็นคนละเรื่อง ขอให้อยู่ในประเด็น ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่องกัน ทะเลาะกัน มีปัญหาขัดแย้งกันอีก ขอให้ประธานควบคุมการประชุมด้วย



ทำให้นายพิเชษฐ์ กล่าวติงนางสาวพนิดา ว่า ถ้าจะมาเล่าเรื่องว่าคนนี้โดนอะไรมาบ้าง จึงเป็นที่มาของการกระทำในครั้งนี้ ถือว่าไม่ถูก ทุกคนที่อภิปรายก็ย้ำตรงนี้ว่าอย่านอกประเด็น ญัตตินี้หาแนวทางเพิ่มความปลอดภัย แนวทางไหนที่แย่ลง ตนคิดว่าไม่ตรงประเด็น เมื่อเสนอญัตติมาแล้วให้โอกาสสภาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้ว ถ้าไม่สร้างสรรค์ก็เสียใจด้วย ขอให้ช่วยให้อยู่ในประเด็น



นางสาวพนิดา จึงแย้งว่า ขออภิปรายที่กำลังกล่าวถึงคือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ว่าการปิดกั้นการแสดงออกอย่างถูกวิธี เป็นต้นเหตุทำให้ผู้ชุมนุมหรือนักกิจกรรมต้องเคลื่อนไหวรุนแรงมากขึ้น



ทำให้นายศาสตรา ลุกประท้วงนายพิเชษฐ์ต่อว่าให้พิจารณา โดยกล่าวว่าหากตนอภิปรายเปรียบเทียบบ้าง สามารถพูดได้หรือไม่ นายพิเชษฐ์ จึงขอให้รักษาประเด็น



นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นประท้วงนายพิเชษฐ์ว่าญัตติที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จไม่ใช่แค่อารักขา สิ่งที่เกี่ยวข้องคือที่มาว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร และหลังจากเหตุการณ์เกิดอะไรขึ้น เราต้องมาคุยว่าจะจัดการกับความเห็นต่างอย่างไร ประธานปล่อยให้ฝั่งรัฐบาลลุกขึ้นมาพูดว่าหนักแผ่นดินได้ แต่ฝั่งตนไม่สามารถหาทางออกได้ว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ตนคิดว่ารัฐสภาจะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยต่อไป



“จู่ๆ ลุกขึ้นมาด่าประชาชนว่าหนักแผ่นดิน ผมก็อดทนอดกลั้นในการฟัง ทุกคนก็มีความรู้สึกเช่นกัน เรามารับฟังและพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะครับท่านประธาน ผมขอร้องให้วันนี้เป็นไปอย่างราบรื่น” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว



จากนั้นนายวิโรจน์ ได้ขอลุกขึ้นหารือว่า เพื่อคลายความกังวลของเพื่อนสมาชิก ขอให้ขานญัตติของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสนอด้วย จะได้ทราบถึงขอบเขตว่าอภิปรายได้แค่ไหน ทำให้นายพิเชษฐ์ อ่านว่า “การถวายความปลอดภัย” จะถวายความปลอดภัยได้อย่างไร



ก่อนที่นางสาวพนิดา จะอภิปรายต่อว่า ตนมีคำถามฝากไปถึงรัฐบาลว่าเหตุการณ์ในวันที่ 4 ก.พ. เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เราต่างกำลังเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา หลายคนเสนอให้มีการเพิ่มอัตราการอารักขาให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ตนก็เสนออีกแนวทางหนึ่ง คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเช่นกัน และนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิด



จากไทม์ไลน์ที่ตนเล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่าการต่อสู้ของตะวันตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนนี้ มีท่าทีที่เปลี่ยนไป เกิดจากการปิดกั้นการแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ หากมองเพียงกระพี้ จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ที่หากเยาวชนคนนี้ยังไม่หยุดดื้อรั้น ก็จะต้องกำราบปราบปรามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยอม แต่ตนอยากชวนให้ทุกคนมองถึงแก่นแกนของเหตุการณ์นี้ว่านี่คือผลลัพธ์ของการปิดกั้นการแสดงออกอย่างสันติของประชาชนหรือไม่ จุดเริ่มต้นของตะวันคือการทำโพลด้วยกระดาษแผ่นเดียว



นางสาวพนิดา กล่าวว่า บทบาทของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำของประเทศ สำคัญมากในการบริหารความสัมพันธ์ของประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ของประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมถึงความสัมพันธ์ของประชาชนต่อประชาชนที่คิดเห็นแตกต่างกัน นายกฯจะต้องถือธงนำในการแก้ไขปัญหานี้



สิ่งที่ตนกังวลที่สุดคือ “กระบวนการเก็บตะวัน” ที่มีการขู่ฆ่าอย่างเปิดเผย นี่เป็นโจทก์เร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไขยังไงวุฒิภาวะ ตนเชื่อว่าเราคงไม่อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เงียบเชียบ ไม่กล้าพูดแสดงความเห็น ออกมาพูดก็ถูกจับกุมคุมขังเจอกับนิติสงครามถูกทำร้ายร่างกายถูกทำให้ตาย



นางสาวพนิดา ระบุว่า หากการลดช่องว่างความไม่เข้าใจกัน ก็ทำให้สังคมนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น พูดคุยกับเถียงกันได้มากขึ้น ตนคิดว่าตอนนี้ยังไม่สายเกินไป

คุณอาจสนใจ

Related News