เลือกตั้งและการเมือง
'หมิว สิริลภัส' สะอื้นไห้กลางสภา วอนรบ. อย่ามองข้าม 'โรคซึมเศร้า' ชี้งบสุขภาพจิตได้น้อย บุคลากรขาดแคลน
โดย nut_p
5 ม.ค. 2567
45 views
'หมิว สิริลภัส' ร้องไห้เสียงสั่น กลางสภา ถกงบสุขภาพจิต กระตุกสังคมฉุกคิดถึงโรคซึมเศร้า ชี้งบได้น้อย บุคลากรขาดแคลน บอกตัวเลขผู้ป่วยคือคนที่เรารัก ขอรัฐบาลลองสลับตัวมาเป็นผู้ป่วย จะได้รู้ถึงการต่อสู้ ขณะ 'เพื่อน สส.ก้าวไกล' ร้องไห้ตาม-เข้าให้กำลังใจหลังอภิปราย
5 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย
นางสาวสิริลภัส กองตระการ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายถึงงบประมาณในสัดส่วนกระทรวงสาธารณสุข ว่า จากนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงกับประชาชน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หยิบยกประเด็นสุขภาพจิตและยาเสพติดให้เป็นนโยบายสำคัญ 1 ใน 13 นโยบาย ยกระดับ 30 บาทพลัส เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้น้ำหนักไปที่อาการของผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากยาเสพติด มากกว่าปัญหาสุขภาพจิตปกติที่เป็นวิกฤติเหมือนกัน
นางสาวสิริลภัส เปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากยาเสพติดกับผู้ป่วยสุขภาพจิตประเภทอื่นว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากยาเสพติดมีประมาณ 2 แสนคน ขณะที่ผู้ป่วยสุขภาพจิตประเภทอื่น มีประมาณ 1 ล้านกว่าคน แตกต่างกันกว่า 5 เท่า โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีถึง 3.6 แสนคนแล้ว ตนจึงตั้งคำถามดังๆ กับรัฐบาลว่าได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตจริงหรือไมา เพราะเมื่อดูนโยบายแล้ว ก็ดูเหมือนจะให้น้ำหนักไปกับผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากยาเสพติด แต่ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในทุกปี
นางสาวสิริลภัส ย้ำว่า ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อความสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน สาเหตุเกิดมาจากผู้ป่วยจิตเวชมีอาการขาดยา เมื่อได้รับการรักษากลับมาถึงบ้านไม่มีคนคอยกำชับ ดูแล ทานยาให้ตรงตามกำหนดอาการ ก็กำเริบอีก และก่อความรุนแรงขึ้นได้ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยในปี 2565 อยู่ที่ 7.97 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในทุกวันจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 14 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี กลุ่มที่น่ากังวลใจที่สุดคือกลุ่มอายุวัยรุ่น นักศึกษา วัยทำงาน ที่เขาจะเติบโตมาเป็นบุคลากรของประเทศ
จากเอกสารของกรมสุขภาพจิต หัวข้อปัญหาการฆ่าตัวตาย ได้ให้ข้อมูลถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายไว้ว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 9 ใน 10 มีอาการป่วยทางจิตเวช อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะทำการฆ่าตัวตายและสาเหตุสำคัญมาจากภาวะซึมเศร้าและการติดสุรา
การเข้าถึงบริการสาธารณสุขนั้นยังค่อนข้างจำกัด ขาดแคนบุคลากรทางการแพทย์ ในบ้านเรา หากลองไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามีจิตแพทย์มากกว่าบ้านเรา นอกจากนี้ในต่างจังหวัดยังพบว่ามีจิตแพทย์ไม่ถึง 1 คนต่อประชากร 1 แสนคน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรสุขภาพจิตในกลุ่มที่เป็นเด็กและวัยรุ่นที่มีเพียงแค่ 295 คนทั่วประเทศ มี 23 จังหวัด ไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
นางสาวสิริลภัส เล่าว่า พยาบาลจิตเวชไม่อยากทำงานจิตเวชต่อไป เพราะปัญหาการทำงานที่หนัก รวมถึงสิทธิของพยาบาลที่ไม่ดีพอ พร้อมย้ำว่าการจัดสรรงบประมาณให้กรมสุขภาพจิต ซึ่งได้แค่ 1.8% จากงบของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดนตัดออกไปถึง 69.4% นอกจากนี้ เงินอุดหนุนรายโครงการที่ดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่นและวัยทำงานก็มีน้อย เทียบกับโครงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มาจากยาเสพติดโครงการเดียว ได้งบประมาณถึง 1 ล้านบาท รัฐบาลต้องกลับไปทบทวนการจัดสรรความคุ้มค่า ค่าตอบแทนที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่จิตเวชได้ทำงานต่อไป ตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพิ่มบุคลากรด่านหน้า สร้างแรงจูงใจ เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษา และเพิ่มบัญชียาหลัก
เมื่อถึงช่วงท้าย นางสาวสิริลภัส กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและร้องไห้ว่า
“ตัวเลขผู้ป่วยเหล่านี้คือชีวิต ชีวิตเหล่านี้คือคน คนที่เป็นลูกที่รักของครอบครัว หลานที่เป็นแก้วตาดวงใจของปู่ตาย่ายาย เป็นพ่อแม่ที่กำลังเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาเป็นบุคลากรของประเทศ เป็นเพื่อนที่รักของทุกคน โดยบุคลากรเหล่านี้จะเติบโตมาขับเคลื่อนประเทศของเราในมิติต่างๆ แต่การสูญเสียและการจากไปของบุคคลเหล่านี้ มันสร้างบาดแผลและการแตกสลายให้กับบุคคลที่ยังอยู่ ไม่รู้กี่คนต่อกี่คน คนที่ตัดสินใจจบชีวิต พวกเขาไม่ได้คิดสั้น จากพวกเขาคิดมาดีแล้ว และคิดมามากพอแล้ว ดิฉันอยากจะให้ท่านมาลองสลับตัวดูกับคนที่กำลังต่อสู้ด้วยโรคนี้อยู่ ท่านจะได้รู้ว่าหากวันหนึ่ง ในวันที่สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ทำงานไม่เท่ากัน จะมีอาการที่เจ็บปวดทรมานขนาดไหน ดิฉันที่มีรอยกรีดอยู่ที่แขนทั้ง 2 ข้าง ท่านจะลงมาดูด้วยตาตัวเองก็ได้ แต่รอยกรีดนี้ไม่ได้กรีดแค่ที่แขนของดิฉัน พ่อกับแม่บอกว่ามันกรีดไปที่ใจของเขาด้วยค่ะ ดิฉันไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับครอบครัวอื่น ดิฉันผู้ที่พยายามจะจบชีวิตจากโลกนี้ไป เพราะดิฉันไม่สามารถรับมือกับวันหนึ่งที่สารเคมีในสมองทำงานไม่เท่ากันได้อีกแล้ว ในชีวิตนี้ดิฉันทำมามากกว่า 3 ครั้ง ดิฉันผู้ที่เข้ารักษาบำบัดกับโรคนี้มาหลายปี วันนี้ดิฉันสามารถลุกขึ้นมาใช้ชีวิตต่อได้ สามารถมาเป็นผู้แทนราษฎร มาพูดแทนประชาชน ถ้าลองคิดดูว่าหากรัฐให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ท่านจะสามารถรักษาบุคลากรที่ขับเคลื่อนประเทศนี้ได้มากมายแค่ไหน”
นางสาวสิริลภัส กล่าวว่า ตนของผู้แทนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งคุณแม่ที่เป็นซึมเศร้าหลังคลอด ขอให้พวกท่านช่วยพวกเราด้วย ให้ความสำคัญกับพวกเราด้วย ขอให้คนที่ไม่ได้รับสิทธิ์การรักษา สามารถเข้าถึงการรักษา และคนที่ได้รับสิทธิ์การรักษาแล้ว ได้รับสิทธิ์ครอบคลุม ให้เขาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม และขอแสดงความเสียใจกับคนที่จากไป ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเวชอื่น และขอเรียกร้อง ให้อย่ามองข้ามคนกลุ่มนี้ เพราะทุกวันนี้มีคนที่พยายามฆ่าตัวตายอยู่ถึง 85 คน และขอให้ทำให้พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้พร้อมที่จะยืนเคียงข้างพวกเขา และทำทุกวิถีทางให้เขามีชีวิตอยู่ต่อบนโลกใบนี้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังการอภิปราย ได้มีเพื่อน สส.พรรคก้าวไกล ได้เข้าไปให้กำลังใจด้วยการจับมือและสวมกอด ซึ่งมี สส.บางคน ร้องไห้ตามไปด้วย