เลือกตั้งและการเมือง

'ไอลอว์' แถลงสรุปบทเรียนเลือก สว.พบลงคะแนนผิดธรรมชาติหลายจังหวัด หลายกลุ่มร้อง กกต.ตรวจสอบ

โดย panisa_p

28 มิ.ย. 2567

53 views

ความเคลื่อนไหวหลังการเลือก สว.ที่เพิ่งทราบผลอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อวาน โดยวันนี้ก็มีหลายกลุ่มรวมตัวกันเคลื่อนไหว ทั้งในนามกลุ่มสว.สอบตก ผู้อยู่ในบัญชีสำรอง กลุ่มนักวิชาการ และภาคประชาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และ We Watch จัดเสวนา "สว.67 ทางข้างหน้า จากสิ่งที่เห็น" เพื่อสรุปบทเรียนและข้อสังเกตจากการเลือกการ สว.ระดับประเทศที่ผ่านมา รวมถึงอนาคตการเมืองไทยหลังเห็นรายชื่อว่าที่ สว.ชุดใหม่



มีข้อสังเกตและข้อค้นพบเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ระดับประเทศ ดังนี้ แกะรอย 8 จังหวัดคะแนนนำรอบเลือกกันเอง รอบเลือกไขว้คนได้เป็น สว. คะแนนสูงโดด คนตกรอบได้คะแนนหลักหน่วย เมื่อดูจากผลคะแนนการเลือก สว. ระดับประเทศ มี 8 จังหวัดที่ส่งผู้สมัคร สว. ผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ได้ถึง 258 คน หากดูเชิงพื้นที่ของจังหวัดดังกล่าว พบว่าหลายจังหวัด เช่น อยุธยา บุรีรัมย์ สตูล อ่างทอง อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยครองพื้นที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เกินครึ่งหรือทั้งจังหวัด



นอกจากนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อดูผลคะแนนของผู้สมัครที่ผ่านรอบเลือกกันเองเพื่อไปต่อรอบเลือกไขว้ยังเกาะกลุ่ม ไล่เลี่ยกันอยู่บ้าง ไม่ได้ปรากฏชัดว่ามีผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงทิ้งโดดจากผู้สมัครคนอื่นๆ ที่มาจากจังหวัดเดียวกัน แต่ในรอบเลือกไขว้ กลับแตกต่างออกไป โดยปรากฏให้เห็นว่ามีผู้สมัครที่ได้เป็น สว. ได้คะแนนสูงโดด ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ จากจังหวัดเดียวกันได้คะแนนน้อย เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ในทุกกลุ่ม ผู้ที่ได้เป็น สว. ได้คะแนนสูงโดด โดยภาพรวมได้คะแนนที่ประมาณ 50 คะแนนขึ้นไป ผู้ที่ได้เป็น สว. ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด อยู่ที่ 26 คะแนน



โดยผู้ได้คะแนนสูงสุด อยู่ที่ 72 คะแนน ขณะที่ผู้ที่ตกรอบได้คะแนนน้อยเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร สว. จากจังหวัดเลยที่ได้รับเลือกเป็น สว. ผลคะแนนในรอบเลือกไขว้สูงโดด ขณะที่ผู้ตกรอบไปได้คะแนนเพียงหลักหน่วยเช่นกัน กล่าวโดยสรุปคือ จากการวิเคราะห์ผลการลงคะแนน พอจะมองเห็นได้ว่าใครที่เข้ารอบมาเป็นผู้เลือก (voter) ซึ่งจะได้คะแนนน้อยมากๆ และใครที่เข้ามาเป็นผู้สมัคร สว. ตัวจริง จะได้คะแนนสูงโดด



นอกจากนี้การเสวนา ยังมีการเปิดเผยผลการสืบค้นข้อมูลผู้สมัคร สว. ที่เข้าสู่รอบระดับประเทศ จำนวน 800 คนจาก 20 กลุ่ม ผ่านเอกสารข้อมูลผู้สมัคร (สว. 3) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลอื่นประกอบเพิ่ม พบว่ามีผู้สมัคร สว. ระดับประเทศบางรายที่อาจขาดคุณสมบัติ ดังนี้



กรณีแรก ขาดคุณสมบัติ เพราะมีลักษณะต้องห้าม ตัวอย่างเช่น ปุณณภา จินดาพงษ์ จังหวัดเลย กลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับเลือกเป็น สว. จากการสืบค้นข้อมูล พบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ฉบับที่ 433/2563 พบชื่อของปุณณภาเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ซึ่งใน พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 14 (24) กำหนดลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร สว. ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ยกเว้นจะพ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก หรือ ต้องเว้นวรรคมาห้าปี ถึงจะสมัคร สว. ได้ หากดูกรณีของปุณณภา อาจยังเว้นวรรคไม่ครบห้าปี จึงมีลักษณะต้องห้ามไม่สามารถสมัคร สว. ได้ ซึ่งกกต. จะต้องตรวจสอบเรื่องนี้



กรณีที่สอง ขาดคุณสมบัติ เพราะสมัครไม่ตรงกลุ่ม พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 13 (3) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี หากดูข้อมูลผู้สมัครที่เขียนในเอกสาร สว. 3 พบว่าผู้สมัครบางกลุ่ม อาจสมัครไม่ตรงกลุ่ม ซึ่ง กกต. ควรจะต้องตรวจสอบว่าผู้สมัครเหล่านั้นมีประสบการณ์ในด้านที่สมัครถึง 10 ปีจริงหรือไม่ เช่น ผู้สมัครในกลุ่ม 5 ทำอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก จิรวุธ บุญรินทร์ ผู้สมัคร สว. จากจังหวัดสตูล ระบุประวัติการทำงานที่ต้องเขียนไม่เกินห้าบรรทัด ในเอกสาร สว. 3 มาว่า ทำสวนมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่อาชีพทำสวน ถูกจัดไว้อีกกลุ่ม คือกลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง



ผู้สมัครในกลุ่ม 17 ประชาสังคมและองค์กรสาธารณประโยชน์ ชาญชัย ไชยพิศ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นนายกสมาคมผู้บริหารและรับราชการครู แต่ไม่ได้เขียนมาว่าเคยประกอบอาชีพหรือมีประสบการด้านประชาสังคมอย่างไร



จากกรณีตัวอย่างของผู้สมัครที่อาจขาดคุณสมบัติในการสมัคร สว. บุคคลเหล่านี้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครอื่นจนได้ว่าที่ สว. แล้ว กกต. จึงควรเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรวมถึงผู้ได้รับเลือกเป็น สว.



ทางด้านนายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ของวุฒิสภา ทำหนังสือ ด่วนที่สุดถึงนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.เรื่องข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต. กรณีมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยอ้างอิงถึงการการเลือก สว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ที่ปรากฎต่อสื่อสาธารณะ ที่เป็นเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ว่าเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่



เช่น การจัดตั้งเพื่อลงสมัครโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ,คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครไม่ตรงตามกลุ่ม 20 กลุ่ม, การจ้างวานผู้มาลงสมัคร เพื่อประโยชน์ในการเลือกผู้สมัครบุคคลใดบุคคลหนึ่ง, ปรากฏการณ์ของจำนวนผู้ไม่ลงคะแนนให้ตนเองจำนวนมาก , กรณีบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้รับคะแนนสูงผิดปกติ รวมทั้งการรวมกลุ่มและพบปะของผู้สมัครในรูปแบบต่างๆ



ดังนั้นกรรมาธิการจึงมีความเห็นว่า ก่อนการประกาศผลหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต. มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่หรือนับคะแนนใหม่



ส่วนที่สำนักงาน​ กกต. ก็มีกลุ่มผู้สมัคร สว.จากหลายกลุ่ม เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือก สว.ระดับประเทศ เพราะเชื่อว่ามีการบล็อกโหวต เพราะทุกคะแนนทุกหีบเหมือนกันหมด แสดงให้เห็นว่ามีโพย ซึ่งเป็นการทำลายประชาธิปไตย นอกจากนี้บางคนยังบอกว่า มีหลักฐานอยู่ที่ใบคะแนนทุกใบที่อยู่ในกล่อง เชื่อว่าตรวจสอบได้ไม่ยาก อยากให้กกต.อย่าเพิ่งรีบประกาศผล



นอกจากนี้ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วยผบ.ตร. ผู้สมัครสว. ในกลุ่มกฎหมาย ยังได้โชว์พยานหลักฐานที่เป็นโพยการลงคะแนน พร้อมระบุว่า เป็นโพยที่ตกในห้องน้ำ จึงเก็บหลักฐานทุกชนิด เมื่อได้โพยมาแล้วก็ไปเทียบกับคะแนน



ขณเดียวกันผู้สมัครบางส่วนและผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรอง ก็ไปยื่นคำร้องที่กกต.ด้วย เช่น นายสุรชัย พรจินดาโชติ ผู้สมัคร สว.กลุ่ม 19 บอกว่าอยากให้กกต.ตรวจสอบใน 3 มีความผิดปกติ คือผู้สมัครบางกลุ่มลงคะแนนเหมือนกัน ซีรีย์เดียวกัน 2 คือผู้สมัคร บางส่วนที่มีการแต่งกายคล้ายกันเช่นใส่เสื้อสีเหลือง คลุมด้วยแจ็คเก็ตสีดำ โดยให้กกต.ไปเปิวงจรปิดดูพฤติกรรมและ ให้ตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติ ที่กรอกไว้ในเอกสารสว. 3 ว่าจริงหรือเท็จ โดยเฉพาะข้อมูลประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องในกลุ่มตัวเอง ซึ่งจากที่เห็น กกต.น่าจะตรวจสอบไม่ละเอียด นายสุรชัย กล่าวยังมีพวกตนบางส่วน ที่แยกกันไปศาลฎีกา เพื่อยื่นคำร้องในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ส่วนคุณสมบัติของว่าที่สว. 200 คนนี้ ไม่ให้ความเห็น เพราะถือว่าผ่านกระบวนการของ กกต.ไปแล้ว

คุณอาจสนใจ

Related News