สังคม
รฟท.ยื่นค้านคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ 'เขากระโดง' ด้านกรมที่ดิน ชี้ไปร้อง ยธ. แนะอย่าเหมารวม 5 พันไร่
โดย panwilai_c
14 พ.ย. 2567
45 views
ความเคลื่อนไหวกรณีพิพาทปัญหาที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ วันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงกรมที่ดินคัดค้านคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนเขากระโดง ขณะที่กรมที่ดิน ชี้แจงว่าต้องไปร้องต่อศาลยุติธรรม พร้อมหลักฐานใหม่ และหากต้องขับไล่ต้องยื่นฟ้องเป็นรายกรณี
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งยื่นหนังสืออุทธรณ์ คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟ บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ และตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปยังอธิบดีกรมที่ดิน ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนตามมาตราที่ 61 มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งนี้ หากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว การรถไฟฯ ได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไว้เบื้องต้น โดยให้ประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าว ในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้
นายวีริศ ยืนยันว่า ทุกขั้นตอนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดงนั้น การรถไฟฯ ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
ขณะที่ มีรายงานข่าวจากกรมที่ดิน ว่า การยื่นหนังสือประเด็นดังกล่าวมาที่กรมที่ดิน ไม่มีประโยชน์ เพราะตามหนังสือที่กรมที่ดินเคยแจ้งไปยังการรถไฟ ว่าแนวทางที่ถูกต้องคือ ต้องไปอุทธรณ์ต่อศาลแพ่ง พร้อมหลักฐานใหม่ประกอบ หากจะดำเนินการเพิกถอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ขณะเดียวกันการรถไฟ ฯต้องฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดิน เป็นรายแปลง จำนวน 900 กว่าแปลง
สำหรับปัญหาที่ดินเขากระโดง อ.เมือง บุรีรัมย์ เมื่อ 9 พ.ย.2513 มีข้อพิพาทระหว่างนายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา และราษฎร บุกรุกที่ดินการรถไฟในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจายอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และทำหนังสือขออาศัย และการรถไฟยินยอม
ในส่วนที่มีคำพิพากษาออกมาแล้ว เช่น ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษายกฟ้องราษฎร 35 ราย ที่ฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดศาลให้โจทก์ทั้ง 35 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯเป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป เมื่อปี 2557
ปี 2561 ศาลฎีกาพิพากษาในคดีที่ราษฎร นำ น.ส.3 ข. ที่ซื้อจากนายช. ขอให้ออกโฉนด โดยพิพากษายืนที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดิน
และเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าไปสำรวจที่ดินพบว่าที่ดินบริเวณกิโลเมตรที่ 4+540 ถึงกิโลเมตรที่ 8+000 มีชาวบ้านเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย และบางส่วนได้จัดทำเป็นสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถ รวมทั้งมีหน่วยงานของรัฐได้มีการขอเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ปัจจุบัน กรมที่ดิน ได้ออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในที่ดินของการรถไฟ บริเวณแยกเขากระโดงเต็มพื้นที่เป็นจำนวน 4,150 ไร่ 47 ตารางวา จากที่ดินทั้งหมด 5,083 ไร่ 80 ตารางวา
18 กุมภาพันธ์ 2564 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สส.พรรคประชาชาติ ในฐานะฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาการรถไฟได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง
30 มี.ค. 2566 ศาลปกครองกลาง สั่งให้ อธิบดีกรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน 772 แปลง ที่ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดงภายใน 15 วัน
28 พ.ค. 2566 อธิบดีกรมที่ดิน แต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนฯ 2 ชุด เดินหน้าเพิกถอน โฉนด-เอกสารสิทธิ ที่ออกทับที่ดินรถไฟ
ตุลาคม 2566 ทนายความของตระกูลชิดชอบ ยื่นข้อมูลคัดค้านการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน โดยต่อสู้ว่า ข้อกล่าวอ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นความเท็จ และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
22 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติไม่เพิกถอนโฉนดที่ดิน โดยให้เหตุผลว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันเป็นที่ยุติว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเป็นของการรถไฟ และให้ไปพิสูจน์สิทธิ์ในศาลฯเอง