สังคม
ผู้นำโลกตบเท้าขึ้นเวที COP29 ถกปัญหาภูมิอากาศ ชาติเจ้าภาพอัดตะวันตก ไม่พยายามลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดย panwilai_c
13 พ.ย. 2567
39 views
ผู้นำและตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ตบเท้าขึ้นเวทีกล่าวแถลงต่อที่ประชุมด้านสภาพอากาศ ขององค์การสหประชาติครั้งที่ 29 หรือ COP29 ให้คำมั่นสัญญาและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ผู้นำประเทศเจ้าภาพตำหนิชาติตะวันตก กรณีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของประเทศ
ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจานกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุม COP29 ที่กรุงบากูว่า อาเซอร์ไบจานตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายและแบล็กเมล์ ตั้งแต่ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น และว่าทรัพยากรน้ำมันและก๊าซเปรียบเสมือนกับ "ของขวัญจากพระเจ้า" และพวกเขาไม่ควรที่จะตำหนิประเทศต่าง ๆ ที่มีทรัพยากรเหล่านี้ พวกเขาไม่ควรถูกโจมตี ที่นำน้ำมันเข้าสู่ตลาด เพราะมันยังคงเป็นทรัพยากรที่ตลาด และผู้คนต้องการ
นายอาลีเยฟยังวิจารณ์สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปว่า 2 มาตรฐาน เพราะในขณะที่พยายามเรียกร้องให้ทั่วโลกลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่สหรัฐฯ กลับเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก เช่นเดียวกับยุโรป ที่แม้จะมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มงวดที่สุด แต่ก็ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติ และพยายามหาแหล่งก๊าซใหม่อยู่ดี
ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังชาติตะวันตกหลายชาติวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็น 35% ของเศรษฐกิจในปี 2566 ลดลงจาก 50% ใน 2 ปีก่อน อย่างไรก็ดี รัฐบาลอาเซอร์ไบจานให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการขายน้ำมันและก๊าซลงเหลือ 22% ภายในปี 2571
อย่างที่ทราบกันดีว่า การประชุม COP29 ถูกจัดขึ้นเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ มาหารือกันเพื่อกำหนดเป้าหมายและหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ แต่ผู้สังเกตการณ์การประชุมหลายคนบอกว่าผลลัพธ์ของการประชุมอาจไม่เป็นที่แน่ชัด และว่าอาเซอร์ไบจานจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการผลิตและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของตัวเอง
ส่วนผู้นำคนอื่น ๆ เช่น นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของสหราชอาณาจักร ก็ได้ขึ้นเวทีแถลงเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ให้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหมือนกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อวานนี้ นายสตาร์เมอร์ประกาศว่าสหราชอาณาจักร จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 81% ภายในปี พ.ศ. 2578
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส ของสเปน ก็ขึ้นเวทีแถลงว่ารัฐบาลทั่วโลก จำเป็นต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในแคว้นบาเลนเซียเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้คร่าชีวิตของประชาชนไปอย่างน้อย 220 คน
นายกฯ สเปนย้ำว่าตอนนี้ โลกกำลังส่งสัญญาณเตือนที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ประเทศต่าง ๆ จะต้องประสบภัยพิบัติที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง, คลื่นความร้อน, พายุฝน, ไฟป่า, และโรคภัยไข้เจ็บ
ส่วนทางด้านนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนีของอิตาลีเรียกร้องให้ที่ประชุม "รักษาสมดุล" การใช้งานพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้ง ก๊าซธรรมชาติ, เชื้อเพลิงชีวภาพ, และอื่น ๆ ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด และว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ "เป็นมโนคติเกินไปและไม่สามารถปฏิบัติได้จริง" อาจทำให้กระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลุดออกจากแนวทางเดิม
ขณะที่รัฐบาลจีนได้ส่งนายติง เสวี่ยเซียง (Ding Xuexiang) รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งเขากล่าวในที่ประชุมเรียกร้อง ให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพิ่มการสนับสนุนทางการเงินแก้ประเทศที่กำลังพัฒนา รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และว่าจีนอาจประกาศเพิ่มเงินทุนมากขึ้นในการประชุมสุดยอดครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เช่นเดียวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ยังได้มีการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา
ซึ่งระบุว่าปีนี้ โลกมีแนวโน้มปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเป็นประวัติการณ์จาก 4 หมื่น 600 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว เป็น 4 หมื่น 1 พัน 600 ล้านตัน ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซสูงถึง 3 หมื่น 7 พัน 400 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2566 0.8%
ส่วนที่เหลือมาจากการใช้ที่ดิน รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่า 4 พัน 200 ล้านตัน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ของสหราชอาณาจักร ที่เป็นผู้นำในการจัดทำรายงานฉบับนี้ บอกว่าแม้ตอนนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกจะยังไม่แตะระดับสูงสุดก็จริง แต่หากทั่วโลกยังไม่มีความพยายามที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โลกอาจมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นเส้นตายที่กำหนดเอาไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2015 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ