สังคม
โรงพิมพ์เอกชน ฟ้อง ‘องค์การค้าของ สกสค.’ เพิ่มอีกคดี บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เรียกค่าเสียหาย 172 ล้าน
โดย chawalwit_m
8 พ.ย. 2567
16 views
โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ฟ้อง ศาลปกครองกลาง เอาเรื่อง “องค์การค้าของ สกสค.” เหตุบอกเลิกสัญญาพิมพ์แบบเรียนปี 67 ไม่เป็นธรรม มั่นใจหลักฐานแน่น พึ่งศาลฯ เรียกค่าเสียหาย 172 ล้านพร้อมดอกเบี้ย
วันนี้ (8 พ.ย.) นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (โรงพิมพ์รุ่งศิลป์) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.67 ที่ผ่านมา โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ได้ยื่นฟ้อง องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.), สำนักงาน สกสค. และเลขาธิการ สกสค. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลางเพิ่มอีก 1 คดี ฐานบอกเลิกสัญญาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 11 รายการ จากทั้งหมด 30 รายการ ที่ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เป็นผู้รับจ้างโดยไม่เป็นธรรม และยังกล่าวหา โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เป็นผู้ทิ้งงาน ตลอดจนเรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 92.6 ล้านบาท
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ก็ได้เคยฟ้อง องค์การค้าของ สกสค., สำนักงาน สกสค. และเลขาธิการ สกสค. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลางมาแล้วเป็นคดีดำหมายเลข 2601/2565 กรณีการออกร่างประกาศประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 ที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ) ซึ่งถือว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ฟ้องล่าสุด เนื่องจากมีลักษณะกีดกันขัดขวางไม่ให้เกิดการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
ซึ่งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ทุเลาเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ สามารถเข้าร่วมประกวดราคา และเป็นผู้ชนะในหลายรายการในปีนั้น ซึ่งในคำสั่งศาลฯก็ได้ชี้ให้เห็นพฤติการณ์ของ องค์การค้าของ สกสค.และพวก ว่ามีลักษณะไม่เป็นธรรมกีดกันผู้ฟ้องคดี (โรงพิมพ์รุ่งศิลป์) ให้ที่สุดต้องขาดคุณสมบัติ และไม่มีทางเข้าประกวดราคางานจ้างกับภาครัฐได้
“ในส่วนคำฟ้องล่าสุดนั้นเป็นกรณีการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 ที่ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ได้เป็นผู้รับจ้างจำนวน 30 รายการ มูลค่าราว 172.3 ล้านบาท และได้ส่งมอบงานเสร็จแล้วจำนวน 20 รายการ มูลค่าราว 105.7 ล้านบาท ส่วนงานที่เหลือมีข้อขัดข้อง เนื่องจาก องค์การค้าของ สกสค.และพวก มีความประสงค์ให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ พิมพ์หนังสือแบบเรียนผิด หรือไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในข้อกำหนดขอบเขตงาน (ทีโออาร์) อันเป็นการกระทำไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
ทำให้การดำเนินงานตามสัญญาจ้างล่าช้า และ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ก็ได้แจ้งให้ทางองค์การค้าของ สกสค.ทราบถึงปัญหาโดยตลอด แต่กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ จำนวน 11 รายการ รวมทั้งพยายามกล่าวหาว่า เป็นผู้ทิ้งงาน และมีหนังสือแจ้งให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 92.6 ล้านบาท โดยจะริบจากเงินหลักประกัน และหักจากค่าจ้างที่ทำงานเสร็จแล้วของโรงพิมพ์รุ่งศิลป์” นายนัทธพลพงศ์ ระบุ
นายนัทธพลพงศ์ ยกตัวอย่างข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้ องค์การค้าของ สกสค.หยิบยกมาบอกเลิกสัญญาจ้างว่า มีทั้งการส่งไฟล์งานที่ไม่ครบ ต้องทวงถามก่อนจะได้มาภายหลัง และยังมีไฟล์ในส่วนของการเคลือบปกที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ตำแหน่งการเคลือบไม่เหมือนตัวอย่างที่แนบมา
ซึ่งเมื่อแจ้งปัญหาให้ องค์การค้าของ สกสค.ทราบ ก็ได้แจ้งกละบมาให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ทำการแก้ไขไฟล์เอง และต้องทำแม่พิมพ์สำหรับเคลือบใหม่ทั้งหมดทุกรายการ และสำหรับปกรายการที่เคลือบไปแล้ว ต้องทำการเคลือบใหม่เพิ่มอีกรอบ อีกทั้งยังพบว่า ข้อกำหนดทีโออาร์ และสัญญาจ้างพิมพ์ในส่วนของคุณสมบัติกระดาษ และการเคลือบปกหนังสือ ไม่ตรงกับตัวอย่างหนังสือที่ องค์การค้าของ สกสค. มอบให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์
จึงต้องหยุดการผลิตไว้ชั่วคราว เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหายหากต้องผลิตต่อไปโดยไม่ได้รับความชัดเจน และการยืนยันจากองค์การค้าของ สกสค. เสียก่อน ซึ่งทุกขั้นตอน โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ก็มีหนังสือแจ้ง และสอบถามถึงปัญหาโดยตลอด ซึ่งองค์การค้าของ สกสค. ก็มีหนังสือตอบยอมรับว่า เกิดข้อผิดพลาดในการออกทีโออาร์ และแจ้งให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ทำการพิมพ์ตามหนังสือตัวอย่าง โดยขอให้นำสัญญาไปแก้ไข ตรงนี้เป็นเหตุครั้งแรกที่ต้องเสียเวลาในการพิมพ์ถึง 7 วัน แต่องค์การค้าของ สกสค. ก็ไม่พิจารณาขยายระยะเวลาให้แต่อย่างใด ซึ่ง โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เองก็ได้มีหนังสือโต้แย้งไว้ให้เป็นหลักฐานทั้งหมด
นายนัทธพลพงศ์ เล่าต่อว่า เมื่อกลับมาเริ่มดำเนินการพิมพ์อีกครั้งก็พบว่า ปกหนังสือที่องค์การค้าของ สกสค.ส่งมาให้ไม่ครบตามจำนวน ก็ต้องหยุดการพิมพ์เพื่อรอปกอีก นอกจากนี้ปกหนังสือบางรายวิชาที่ องค์การค้าของ สกสค.ส่งมาก็มีขนาดความกว้างสันปกไม่พอดีกับความหนาของเนื้อในหนังสือ ส่งผลให้ต้องลดความเร็วในการเข้าเล่มลงเหลือเพียง 25% เพื่อคอยปรับให้สันปกอยู่กึ่งกลาง ทำให้ระยะเวลาเข้าเล่มช้าลงไปอีก
รวมทั้งยังพบว่าปกบางรายการที่องค์การค้าของ สกสค.ส่งมาไม่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะปัญหาปกหนังสือนี้ก็ทำให้เสียเวลาการพิมพ์อีกไม่น้อยกว่า 10 วัน โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ได้แจ้งปัญหาให้ องค์การค้าของ สกสค.รับทราบ และเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่เพียงเพิกเฉย แต่กลับมีหนังสือเร่งรัดให้พิมพ์และส่งหนังสือตามกำหนดถึง 11 ครั้ง ทุกครั้ง โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ก็มีหนังสือโต้แย้ง และขอให้พิจารณาขยายระยะเวลากลับไป
แต่ก็ยังมีหนังสือเร่งรัดกลับมาโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงหนังสือโต้แย้งของ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ว่าข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นเกิดจาก องค์การค้าของ สกสค.เองทั้งสิ้น กระทั่งมากล่าวหาว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เพิกเฉยต่อหนังสือเร่งรัดทั้ง 11 ครั้ง ก่อนจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาบางรายการ ทั้งที่เครื่องพิมพ์ยังคงพิมพ์หนังสือตามสัญญา และใกล้จะแล้วเสร็จ
“การที่ องค์การค้าของ สกสค.กล่าวหาว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ มีพฤติกรรมไม่ปฏิบัติตามสัญญา และเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงาน จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่ องค์การค้าของ สกสค. กล่าวหาว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เพิกเฉย ต่อหนังสือเร่งรัดถึง 11 ครั้งนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น โดยที่มีหลักฐานหนังสือทักท้วงและโต้แย้ง พร้อมชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดขององค์การค้า สกสค.ทุกฉบับ ที่เป็นสาเหตุให้การผลิตหนังสือเรียนปี 2567 ไม่เป็นไปตามแผน” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวอีกว่า องค์การค้าของ สกสค.ยังให้ร้ายว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เป็นโรงพิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความสามารถในการพิมพ์หนังสือ ทั้งที่ องค์การค้าของ สกสค. ทราบดีว่า โรงพิพม์รุ่งศิลป์ เป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ที่มีเครื่องทันสมัยที่สุดในประเทศไทย มีศักยภาพสูงสุดในการพิมพ์หนังสือเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในประเทศ และสามารถพิมพ์หนังสือให้เสร็จตามกรอบเวลาได้ หากไม่มีปัญหาอันมีใช่เป็นความผิดของ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์
ซึ่งในการใช้สิทธิตามสัญญาและตามกฎหมาย เพื่ออุทธรณ์ และให้องค์การค้าของ สกสค.ชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ก็ถูกเพิกเฉย โดยไม่แม้กระทั่งตอบกลับหนังสือหรือชี้แจง โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เห็นว่าการบอกเลิกสัญญานี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึงฟ้องต่อ ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ องค์การค้าของ สกสค., สำนักงาน สกสค. และเลขาธิการ สกสค. ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ในส่วนของค่าผลิตงานที่ได้ทำไปแล้วเสร็จ และ องค์การค้าของ สกสค. ได้ตรวจรับงานเสร็จแล้ว, ค่าความเสียหาย อันเกิดจากงานส่วนที่อยู่ในระหว่างการผลิตเเล้วถูกยกเลิกสัญญา, ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการผลิต, ความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องเตรียมวัสดุเพื่อการพิมพ์หนังสือเรียนตามสัญญา, ความเสียหายอันเกิดจากการที่ต้องจะต้องจ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาของพนักงาน และความเสียหายที่ต้องบอกเลิกการรับจ้างพิมพ์หนังสือเรียนให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเตรียมรองรับการผลิตหนังสือให้ องค์การค้าของ สกสค.
“รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 172,315,250 บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดสิบสองล้านสามแสนหนึ่งหมื่นห้าพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน) และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันที่ 15 พ.ค.67 อันเป็นวันที่บอกเลิกสัญญาจนถึงวันที่ฟ้องคดี รวมระยะเวลา 150 วัน เป็นเงิน 5.3 ล้านบาทเศษ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ” นายนัทธพลพงศ์ ระบุ