เศรษฐกิจ

ประชุมไตรภาคีเคาะค่าแรงล่ม รอลุ้นใหม่ 20 ก.ย.

โดย paranee_s

16 ก.ย. 2567

136 views

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 8 / 2567 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายราชการ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภทกิจการทั่วประเทศ ซึ่งจะให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้


อย่างไรก็ตามการประชุมวันนี้ ยังไม่มีข้อสรุปเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ขาดในส่วนของผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ทำให้ต้องมีการนัดประชุมครั้งที่ 2 ภายใน 15 วันนับจากวันที่ประชุมครั้งแรก เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 (วรรค2) โดยได้มีการแจ้งนัดหมายประชุมนัดที่ 2 ในวันที่ 20 กันยายนนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปซึ่งอาจจะเป็นการขึ้นค่าจ้างในระดับ 400 บาทหรือ ไม่ถึง 400 บาทก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม ขณะที่มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ก็จะมีการหารือและแจ้งมาตรการเพื่อสรุปเช่นกัน ทั้งมาตรการยกเว้นเงินประกันสังคม และ การลดหย่อนภาษี


นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อยากให้คณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง เข้ามาใช้สิทธิ์ในการประชุม เพราะหากไม่ใช้สิทธิ์ ที่ประชุมจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย เชื่อว่า จะสามารถเดินหน้าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้ภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้แน่นอน


โดยยอมรับว่า กระทรวงแรงงานในฐานะคนกลาง เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และ เข้าใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แต่ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำจะรับได้แล้ว จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณา โดยรัฐบาลจะพยายามทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้น


นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายผู้แทนลูกจ้าง เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมไม่ยังไม่สามารถพิจารณาอะไรได้เนื่องจากกรรมการไม่ครบองค์ประชุม จึงทำได้เพียงพูดคุยสถานการณ์เศรษฐกิจ ในภาพรวมเท่านั้น ซึ่งประธานในที่ประชุมได้นัดประชุมครั้งที่ 2 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 (วรรค 2) เพื่อพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 20 กันยายนนี้


อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุว่า “การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยมีกรรมการฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคน จึงจะเป็นองค์ประชุม


ในการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานหรืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรา 79 จะต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยมีกรรมการฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละสองคนจึงจะเป็นองค์ประชุม และต้องได้มติอย่างน้อยสองในสามของกรรมการที่เข้าประชุม ถ้าไม่ได้องค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ในวรรคสอง ให้จัดให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้แม้จะไม่มีกรรมการซึ่งมาจากฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างเข้าร่วมประชุม ถ้ามีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด ก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม และต้องได้มติอย่างน้อยสองในสามของกรรมการที่เข้าประชุม”

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ