เลือกตั้งและการเมือง

‘พรรคประชาชน’ ไม่เห็นด้วย ‘เศรษฐา’ ถูกฟันพ้นนายกฯ - ‘ปิยบุตร’ ปลุกนักการเมือง จับมือสู้ศาลรัฐธรรมนูญ

โดย petchpawee_k

15 ส.ค. 2567

26 views

พรรคประชาชน ไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญฟัน “เศรษฐา” พ้นนายกฯ ย้ำเรื่องจริยธรรมควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง-ประชาชนผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้ศาล-องค์กรอิสระผูกขาดตีความ


เมื่อวานนี้ (14 ส.ค.67)  ที่อาคารรัฐสภา พรรคประชาชนแถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน  แถลงว่า  พรรคประชาชนขอแสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่นายเศรษฐาถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญ  แม้พรรคประชาชน ยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต แต่จริยธรรมเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน


ดังนั้น ตราบใดที่การกระทำนั้นไม่ได้เป็นการทุจริตอย่างโจ่งแจ้งตามที่มีบทลงโทษตามกฎหมายครอบคลุมไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องของจริยธรรมจึงควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระผูกขาดการตีความมาตรฐานจริยธรรมตามดุลพินิจของตนเอง จนเสี่ยงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังเช่นกรณีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน  

นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนมีความเชื่อว่า เหตุการณ์วานนี้จะทำให้สังคมทุกฝ่ายเห็นชัดขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงการกำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง โดย สส. พรรคประชาชนจะเดินหน้าทำงานต่อในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป


เมื่อถามถึงกรณีคำวินิจฉัยวานนี้ เทียบกับคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม  นายพริษฐ์ ระบุว่า เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์แม้จะเป็นคนละกรณี แต่ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้นถึงความจำเป็นที่จะต้องทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะทำอย่างไรให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม ให้มีกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระที่มีความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงการมีกติกาในการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป โดยหวังว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมาจากการร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


เมื่อถามว่า ทางพรรคมีการพูดคุยในการโหวตนายกฯ ในครั้งถัดไปหรือไม่ เนื่องจากพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกฯ   นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในขั้นตอนถัดไปเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะเสนอบุคคลใดมาดำรงตำแหน่งนายกฯ และในส่วนของพรรคประชาชนเราทำหน้าที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน   ในเชิงนิตินัย ทางพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกฯ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง   แต่พรรคประชาชน ก็จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงผลักดันวาระที่คิดว่ามีความสำคัญกับประชาชน

เมื่อถามว่า มีการประเมินหรือไม่ว่าจะมีการยุบสภาฯ เนื่องจาก นายกฯ รักษาการมีอำนาจในการยุบสภาฯ และพรรคประชาชนจะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้  เนื่องจากสังกัดพรรคไม่ถึง 30 วัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรามีการวิเคราะห์ทุกฉากทัศน์  ซึ่งคำถามนี้เป็นแค่ 1 ในฉากทัศน์ และไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้น

ส่วนนายกฯ คนต่อไปควรจะมาจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า ต้องเป็นบทสนทนาที่พรรคร่วมรัฐบาลคุยกัน แต่ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครก็ตาม ทางพรรคประชาชนก็ทำหน้าที่ต่อไปในพรรคแกนนำฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลต่อไป

----------------------------------------

“ปิยบุตร” ขอนักการเมืองเลิกเอาใจชนชั้นนำ ผนึกกำลังกำจัด “ปรสิต” พิษร้ายการเมืองไทย หลังศาล รธน. วินิจฉัยให้ “เศรษฐา” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หวั่น “ลุงตู่” คัมแบค บอกยังมีชื่อแคนดิเดต มองจะไม่ต่างจาก “รัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ”


เมื่อวานนี้ (14 ส.ค.67) นายปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า ทวิตข้อความผ่าน X ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งว่า จาก “ตุลาการภิวัตน์” - Judicial Activism มา “รัฐประหารทางตุลาการ” - Judicial Coup ผ่าน “ศาลเงียบ” - Silent Court สู่ “นิติสงคราม” - Lawfare มาถึง "ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต”

ประเทศนี้ ต้องมีใบอนุญาตจากประชาชน เพื่อเปิดโอกาสตั้งรัฐบาล แต่ใบอนุญาตใบแรก ไม่เพียงพอ ต้องมีใบอนุญาตจาก “ชนชั้นนำ” ด้วย ทำให้นักการเมืองละทิ้ง ใบอนุญาตใบแรก หันไปหาใบอนุญาตใบที่สอง นักการเมืองต้องเลิกเพียรพยายามค้นหาใบอนุญาตใบที่สอง ด้วยการเอาอกเอาใจ “ชนชั้นนำ”

วันนี้ นักการเมืองต้องกลับมาผนึกกำลังกัน “ยึด” ใบอนุญาตใบที่สอง ให้เหลือใบอนุญาตจากประชาชนเพียงใบเดียว  ได้เวลา.... หลอมรวมพลัง “ประชาชน” ให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของแผ่นดิน ได้เป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นรัฐบาล ได้เวลา... หลอมรวมพลัง “ประชาชน” กำจัดปรสิตพิษร้ายของการเมืองไทย”

ต่อมานายปิยบุตร ทวิตข้อความอีกว่า “ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่

หากพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร “รวมหัว” กันตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติปราศจาก (พรรค)ประชาชน” เสนอและลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องลาออกจากองคมนตรี แล้วล่ะก็... นี่ไม่ต่างอะไรกับ.... Constitutional Coup รัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ”

นายปิยบุตร ทวิตอีกรอบว่า “ณ เวลานี้ ประเทศไทย ไม่มีทั้งนายกรัฐมนตรี ไม่มีทั้งผู้นำฝ่ายค้าน สถานการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นได้ในสภาวะปกติ คือ ช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรียุบสภา รอเวลาเลือกตั้งใหม่ ส่วนสภาวะไม่ปกติที่ทำให้เกิดแบบนี้ได้ ก็คือ รัฐประหาร”

เกือบ 2 ทศวรรษที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจนส่งผลกระทบกับการเมือง ปลดนายกรัฐมนตรี 3 คน ยุบพรรคใหญ่ 5 ครั้ง ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง ล้มเลือกตั้งทั่วประเทศ 2 ครั้ง ปลด ส.ส.อีกหลายครั้ง แต่กลับเงียบสงัดชนิดเข็มตกลงพื้นยังได้ยินเสียง สมัยรัฐประหารปกครองประเทศ ดังนั้นการต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นภารกิจอันจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน

ประชาชนแต่ละคนทำไม่ได้ เพราะ ไม่มีอำนาจรัฐในมือ ทำได้แต่เพียงส่งเสียง และกดดัน พวกที่ทำได้ คือ นักการเมืองในสภา ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองต้องจัดการสู้/โต้กับศาลรัฐธรรมนูญ อย่ามัวแต่สวมวิญญาณ “นักร้อง” ร้องศาล รธน. เพื่อจัดการนักการเมืองด้วยกัน พอกันทีกับการทำตนเป็น “ไก่ในเล้า” จิกตีกันเอง รอให้พวกเขาเลือกไก่ไปเชือดทีละตัว

หยุดเสียทีกับการออกมายืนกุมเป้า เปล่งวาจา “น้อมรับคำวินิจฉัย” แล้วก็กลับบ้านไปพักผ่อน ส่งคนอื่นๆเข้ามารับบทต่อ แต่นักการเมืองต้องรวมพลังกันจัดการศาลรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจที่ตนมี ยกเลิกการยุบพรรค ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบและที่มาเสียใหม่ ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ของ ส.ส./รมต. ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นักการเมืองต้องแบกรับภารกิจเหล่านี้ ถ้านักการเมืองในสภารอบนี้ ไม่คิดทำ แต่เลือกกลับไปสมคบสุงสิงกับพวกชนชั้นนำ เลือกหนทาง “อยู่เป็น” หรือร้องขอความเมตตาจากพวกเขา เพื่อขอใบอนุญาตใบที่สองให้ตนได้เป็นรัฐมนตรี กันแบบเดิมๆแล้วล่ะก็ หนทางเดียวที่ “ประชาชน” มี คือ “ประชาชน” เลือก “ประชาชน” เข้าไปจัดการ และถ้า “ประชาชน” โดนจัดการ เอาคืน ทุบ ยุบปราบ อีก “ประชาชน” ก็จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ “ประชาชน” สุกงอมเพียงพอที่จะเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ไม่เคยเห็นในประเทศไทยมาก่อน

คุณอาจสนใจ

Related News