เลือกตั้งและการเมือง

“อนุทิน-พิพัฒน์” ยืนยันเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เท่าเทียมทั่วประเทศ เริ่ม 1 ต.ค.

โดย paranee_s

1 พ.ค. 2567

249 views

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ จากกลุ่มแรงงาน


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายทวี ดียิ่ง ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายพันคน ร่วมกิจกรรม ที่จัดขึ้น ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร


ซึ่งในช่วงเช้าตั้งแต่ เวลา 07.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เป็นประธานในพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเช้าเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยมี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ณ ลานคนเมือง


จากนั้นในเวลา 08.00 น. มีการตั้งริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ ขบวนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และ ขบวนของผู้ใช้แรงงาน ที่เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณแยก จปร.ถนนราชดำเนินนอก มายังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร


ในเวลา 11 .00 น. นายอนุทินได้เป็นประธานเปิดงาน วันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 อย่างเป็นทางการ


โดย นายอนุทิน กล่าว ในวันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้มาเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติในนามของรัฐบาล เพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของวันแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับพี่น้องแรงงานทุกคน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมา


ทั้งนี้รัฐบาล ได้ดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานทุกคนมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงแรงงาน ทั้งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โดยมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้


นอกการเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ, จัดหลักสูตร up skill เพื่อแรงงานไทยในยุคดิจิทัล, โครงการฟรี Safety Service เพื่อแรงงานปลอดภัย, การเร่งออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองคนทำงานบ้าน หรือการส่งเสริมการพัฒนาระบบรักษาพยาบาล SSO Healthy เพื่อความปลลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ในสถานที่ปฏิบัติงาน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง


นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานไทย ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานการให้สัตยาบันต่อ “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ” หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การปรึกษาหารือไตรภาคี และอนุสัญญาที่ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 ที่เป็นเรื่องการปรึกษาหารือไตรภาคีนั้น จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคมนี้ และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน ณ นครเจนนีวา ต่อไป ถือเป็นข่าวดีสำหรับวันแรงงานแห่งชาติของเราในปีนี้


และแน่นอน ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ท่านได้นำมาเสนอในวันนี้ รัฐบาลจะรับฟัง และให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป พร้อมกันนี้บนเวที นายอนุทินได้ขอให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาการปรับเพิ่มสิทธิการรักษาต่างๆ ของกลุ่มประกันสังคมให้มีความเท่าเทียมกับสิทธิของกลุ่มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตร 30 บาท เพื่อให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น


ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ วันนี้จึงเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพี่น้องแรงงานทุกท่าน ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญ ในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศในทุกภาคส่วนให้เติบโต และขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้สภาองค์การลูกจ้างรวม 16 แห่ง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ เห็นชอบให้นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567 โดยรัฐบาล ให้การสนับสนุนงบประมาณ


ทั้งนี้ การประกาศแจ้งปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่าเทียมทั่วประเทศซึ่งมีมติให้เริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะ เป็นการปรับในทุกกิจกรรมทุกอาชีพและทุกจังหวัดอย่างเท่าเทียมโดยจุดที่มีความความกังวลห่วงใยคือกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่จะมีการศึกษาและสำรวจ ผลกระทบในลักษณะต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นเพื่อนำมาพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยแรงงานจังหวัดทำหน้าที่ สำรวจความต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อได้ ขณะที่แรงงานก็ต้องมีการปรับเพิ่มทักษะเพื่อให้คุมทุนกับการปรับค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ ด้วยเช่นกัน


นอกจากนั่นที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการ แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการให้สัตยาบัน ต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วม ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี และฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 นั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคม 2567 และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน 2567 ณ นครเจนนีวา ต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว


ขณะ นาย ทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงาน ได้ เป็นตัวแทน ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เล็งเห็นความสำคัญของแรงงานและให้การสนับสนุนการจัดงาน ทั้งนี้ในฐานะตัวแทนของแรงงานขอยื่นข้อเรียกร้องจากแรงงานในจำนวน 10 ข้อ


สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงาน ปี 2567 จำนวน 10 ข้อ ได้แก่

1) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98

2) ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3) ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับเงินบำนาญแล้วสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตราสามเก้าต่อได้ รวมถึงผู้ประกันตนที่รับเงินชราภาพแล้วยังใช้สิทธิ์การรักษาสุขภาพได้ตลอดชีวิต /ขยายอายุผู้ประกันตนจากเดิม 15 ปีถึง 60 ปีเป็น 15 ปีถึง 70 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับเป็นสังคมผู้สูงอายุ

4) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1

6) ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง รวมไปถึงให้ปรับเพิ่มค่าจ้างของลูกจ้างมากกว่าหรือเทียบเท่าข้าราชการ

7) ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8) ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9) ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง และ

10) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ