สังคม

ประชุมเดือด! ผู้ว่าฯสมุทรปราการ ปะทะ สส.ก้าวไกล โต้ปัญหาของประชาชน น้ำเค็มเจือปนน้ำจืด

โดย jeeraphat_d

17 เม.ย. 2567

925 views

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 17 เม.ย. ที่ศาลาวัดบ้านระกาศ ต.บางบ่อ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชาการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงบ่อปลา นาข้าว อ.บางบ่อ ร่วมถึงนายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สส.สมุทรปราการ เขต 8 พรรคก้าวไกล ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทะเลไหลทะลักเข้าเจือปนกับน้ำจืดในคลองต่าง ๆ


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 เวลาประมาณ 19.30 น.เกิดเหตุงานก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เกิดทรุดตัวพังลง เป็นเหตุให้น้ำทะเลจากแม่น้ำบางปะกง ทะลักเข้ามาในคลองประเวศน์บุรีรมย์ไหลเจือปนกับน้ำจืดตามคลองสาขาต่าง ๆ ยาวเลยเข้ามาถึงในพื้นที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็นเหตุให้ปลาที่อยู่ในคลองธรรมชาติตายลอยเกลื่อน เกษตรกร ผู้เลี้ยงบ่อปลา นาข้าว และประชาชนผู้ใช้น้ำจากคลองสูบมาทำประปาหมู่บ้าน ได้รับผลกระทบกว่าหมื่นคน


ต่อมานายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ สั่งการเร่งแก้ไขและสามารถปิดกั้นน้ำทะเลได้แล้วใช้เวลาประมาณ 5 วัน ขณะนี้อยู่ในช่วงผลักดันน้ำเค็มที่ไหลเข้าเจือปนกับน้ำจืดในคลองต่าง ๆ นำออกคืนสู่ทะเล สรุปจะใช้วิธีนำเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ ทั้งขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ ระดมเข้ามาช่วยกันเร่งระบายน้ำเค็มออกไปให้เร็วเพื่อลดปัญหาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรให้เหลือน้อยที่สุด


จากนั้นผู้ว่าฯ เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน ผู้ร่วมประชุมซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น โดยนายตรัยวรรธน์ อิ่มใจ สส.สมุทรปราการ เขต 8 พรรคก้าวไกล ได้ยืนขึ้นแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต โดยอิงการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเร่งด่วนเป็นหลัก แต่ผู้ว่าฯ ได้ตอบกลับชี้แจงว่าการที่หน่วยงานราชการจะช่วยชาวบ้านได้นั้น ต้องตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องเดือดร้อนจริง มีพยานหลักฐานอ้างอิง และต้องดูระเบียบข้อกฎหมายเป็นหลัก มิฉะนั้นอาจทำให้ข้าราชการผู้ปฏิบัติ ต้องรับโทษ ทางคดีอาญา ถึงขั้นติดคุกได้ ซึ่งบรรยากาศช่วงดังกล่าว เป็นไปอย่างดุเดือด ชั่วขณะ


หลังจากที่ได้ข้อสรุปและปิดการประชุม นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว กล่าวว่า สำหรับการประชุมวันนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เรื่องของการตรวจสอบความเสียหาย เบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรประมง และมีกลุ่มเกษตรกรพืชสวนบางส่วน ซึ่งจะต้องใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1-2 วัน หลังจากทราบข้อมูลชัดเจน ก็จะสามารถประกาศตามระเบียบราชการได้


ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การเร่งระบายน้ำเค็มออกไปให้เร็วที่สุด ซึ่งได้ประสานไปที่ น.ส.นันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ.สมุทรปราการ ได้ตอบรับให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ มาใช้งานร่วมกับกรมชลประทาน รวมถึงสนับสนุนเรื่องน้ำมันที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย โดยจะใช้ร่วมกับงบประมาณภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนเรื่องการนำน้ำจืดไปบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรบ่อเลี้ยงปลาที่เป็นเอกชน ระเบียบราชการระบุไว้ ไม่สามารถทำได้ แต่ได้สั่งการให้อำเภอบางบ่อ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปดูระเบียบเรื่องของศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ว่ามีกฎหมายระบุให้สามารถทำได้ไหม


หากไม่มีอาจต้องประสานไปยังภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยกัน พร้อมยืนยัน ต้องหาวิธีการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือกระทั่งงบประมาณส่วนตัว นายกท้องถิ่นทุกคนพร้อมให้การช่วยเหลือเต็มที่


แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ