สังคม

หวังจบภารกิจโดยเร็ว ชาวบ้านโอดล่า 'เสี่ยแป้ง' ทำถนนพัง กรีดยางไม่ได้ ตื่นกลัว ไม่รู้ใครโจร ใครตร.

โดย nut_p

20 พ.ย. 2566

324 views

ชาวบ้านถือป้าไวนิลโอดเดือดร้อนจากการล่า 'เสี่ยแป้ง' ถนนพัง และการทำมาหากิน รองผู้ว่าฯ รับปาก ประสานป่าไม้และพยายามหางบประมาณให้ ขณะที่ชาวบ้านระบายความในใจ ถูกสั่ง ออกกรีดยาง หาสัตว์ไม่ได้ กระทบวิถีชีวิตไม่กล้าออกจากบ้านไม่รู้ใครเป็นโจร เป็นตำรวจ อยากให้จบภารกิจเร็ววัน



วันนี้ 20 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่น้ำตกโตนตก หมู่ 2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการ จ.ตรัง เดินทางมาเป็นประธานในพิธีมอบเครื่องอุปโภค-บริโภค ให้แก่ชาวบ้านชุมชนบ้านตระ และกลุ่มเปาะบาง จำนวน 27 ราย เช่นผู้สูงวัย เด็กนักเรียน และผู้พิการ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในการปฎิบัติภารกิจติดตามไล่ล่าตัว “เสี่ยแป้ง” หรือนายเชาวลิต ทองด้วง นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ หลบหนีออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีถุงยังชีพจากจังหวัดตรัง สำนักงานเหล่ากาชาด จ.ตรัง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ตรัง โดยมี นายณัฐวุฒิ สังข์สุข นายอำเภอปะเหลียน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น คอยอำนวยความสะดวก



ซึ่งเครื่องอุปโภค-บริโภค ที่ได้มอบให้กับชาวบ้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าวสารอาหารแห้ง ปลากระป๋อง และของใช้ยังชีพ โดยชาวบ้านได้ขับรถจักรยานยนต์ลงมาจากชุมชนบ้านตระระยะทางประมาณ 7-8 กิโลเมตร เพื่อมารับที่บริเวณสำนักงานน้ำตกโตนตกด้านล่างนี้ ท่ามกลางเส้นทางถนนที่ยากลำบาก และฝนที่ตกลงมาตลอดเวลา



ภายหลังจากเสร็จสิ้นในพิธีมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคนั้น ได้มีชาวบ้านในชุมชนบ้านตระ นำโดยนายล่อง เพชรสุด ตัวแทนองค์กรชุมชนบ้านตระ พร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ 30 ราย มาถือป้ายไวนิลเรียกร้องว่า “ บ้านตระ ได้รับผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่ไล่ล่า เสี่ยแป้ง นาโหนด (เชาวลิต ทองด้วง) ” พร้อมกับมีหนังสือจำนวน 5 ฉบับบรรจุใส่ซอง มอบให้กับนายอำเภอปะเหลียน , หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด , ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 , ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปะเหลียน



แต่ในวันนี้ได้ยื่นหนังสือให้กับ นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการ จ.ตรัง โดยมีนายล่อง เพชรสุด ตัวแทนองค์กรชุมชนบ้านตระ เล่าปัญหาให้ฟังตามหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการดำรงวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านในชุมชนบ้านตระ



1.เส้นทางสัญจร เข้า-ออกบางจุดได้รับความเสียหายหนักทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง เช่น จุดรับส่งนักเรียน รับส่งคนป่วยไปรักษาตามสถานพยาบาล การทำมาหากินของชาวบ้าน และการเดินทางเข้าออกชุมชน มีชาวบ้านได้รับอุบัติเหตุจากการใช้เส้นทางดังกล่าว



2.เจ้าหน้าที่สั่งการให้ชาวบ้านประกอบอาชีพเฉพาะตอนกลางวัน โดยปกติชุมชนประกอบอาชีพกรีดยางพาราตอนกลางคืน ซึ่งผิดปกติตามวิถีของชุมชน



3.สร้างความหวาดกลัวตื่นตระหนก ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมันนิ ที่อาศัย ร่วมกับชุมชน ต้องย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว



โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา



1.ขอให้สามารถทำกินตามวิถีชีวิตชุมชนกลับสู่ปกติสุข



2.ขอให้มีหน่วยงานรับผิดชอบ ปรับปรุงเส้นทางเข้า-ออก ที่ได้รับความเสียหายให้เป็นปกติเหมือนเดิม เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวได้มาจากการร่วมทุนและลงแรงของชาวบ้านมิได้รับงบประมาณจากหน่วยงานใด



3.ขอให้ติดตั้งสัญญาณ เครื่องมือสื่อสารในพื้นที่บ้านตระ หากมีผู้กระทำผิดหลบหนีเข้าไป คนในพื้นที่สามารถรู้และติดต่อสื่อสารเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ได้



พร้อมกับนำรูปความเสียหายของเส้นทางขึ้นหมู่บ้านมาให้ทีมข่าวที่เผยให้เห็นความเสียหาย ทั้งสภาพถนนที่เป็นคอนกรีตที่แตกร้าว รวมถึงเส้นทางดินที่ เป็นดินโคลน กลายสภาพเหมือนท้องนาไปแล้ว หลังถูกฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่เขาบรรทัด รวมถึงในแต่ละวันเจ้าหน้าที่จะขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นลงเขาวันละหลายรอบ โดยชาวบ้านตระมีประมาณ 300 หลังคาเรือน ตอนนี้รถจักรยานยนต์เริ่มที่จะขี่ผ่านไม่ได้แล้วทำให้กระทบกับชีวิตของชาวบ้านที่ต้องใช้เส้นทางในการสัญจรเข้าออกและออกไป บางครั้งรถก็เสียหลักล้ม



โดยทาง นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการ จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ทางชาวบ้านยื่นหนังสือมาก็น้อมรับไว้ และพร้อมจะดูแล แต่โครงสร้างถนนสายนี้ต้องยื่นกับทางป่าไม้เพียงหน่วยงานเดียวโดยตรงจะง่ายกว่า เพราะหากยื่นผ่านตนจะต้องผ่านหลายขั้นตอน แต่ถนนที่ชำรุดก็เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เห็นใจในความยากลำบาก และในส่วนการจะทำโครงการใดจะต้องขออนุญาตจากอุทยานฯ หรือหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตใช้พื้นที่ ในการจะซ่อมแซมถนน กฏหมายมีบังคับไว้ว่าห้ามสร้างทางสัญจรแต่ทางจังหวัดจะพยายามแสวงหางบประมาณมาให้ แต่หน่วยงานที่จะต้องดำเนินการคืออุทยานฯ เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย อาจจะใช้เป็นเส้นทางในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ก็ได้



ด้านนายสมเจตน์ นาดำ อายุ 57 ปี ชาวบ้านชุมชนบ้านตระ อาชีพกรีดยางพารา กล่าวว่า ชาวบ้านในตระออกกรีดยางไม่ได้ เพราะโดนสั่งห้าม และปัจจัยในการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ และประกอบกับฝนตก อีกทั้งหากออกไปกรีดยางพาราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นโจรใครเป็นตำรวจ เจ้าหน้าที่ก็แนะนำให้กรีดกลางวัน แต่น้ำยางจะไม่ค่อยออกหากกรีดกลางวัน ส่วนการออกไปหาของป่า หรือออกไปหาสัตว์ เช่นหากบ หาปลานั้น ก็ออกไปไม่ได้ ตั้งแต่วันที่มีการปะทะเกิดขึ้น เมื่อ 8 พ.ย.66 ที่ผ่านมา ยอมรับว่ากลัวมาต้องขับรถส่งหลานซึ่งเป็นเด็กนักเรียนลงไปโรงเรียน ส่วนการที่จะเห็นเสี่ยแป้งไม่นั้น ยอมรับเลยว่าไม่รู้จักและไม่เคยเห็น เพิ่งจะเห็นจากในข่าว หากสามารถจับเสี่ยแป้งหรือมีการปิดภารกิจได้โดยเร็วนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เชื่อว่าคงไม่จบในเร็ววันนี้

คุณอาจสนใจ